ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 เป็นอย่างมากและมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ซับซ้อนโดยมีปัจจัยและผลกระทบหลายประการ สาเหตุของปัญหานั้นมีที่มาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น ไฟป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลพิษจากการขนส่งและอุตสาหกรรม
ไฟป่าต่อ PM 2.5
ไฟป่ามีส่วนสำคัญต่อระดับ PM 2.5 ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โดยมีจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม แม้ว่าไฟป่าอาจเกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า หรือ การเสียดสีจากธรรมชาติ แต่ในความจริงแล้วโอกาสเกิดนั้นน้อยมาก กิจกรรมมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรมแบบถางแล้วเผา และการแผ้วถางป่าเพื่อการพาณิชย์ การเก็บหาของป่า กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดไฟป่าในประเทศไทย จากรายงานของสถาบันทรัพยากรโลก(WRI) พบว่าในปี 2562 เพียงปีเดียวมีไฟป่ามากกว่า 7,000 จุดในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3,000 จุดในปี 2551
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และผู้วิจัยผลกระทบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม และอาหาร” ว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงทำให้เกิดการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพื่อเพาะปลูก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติหมอกควัน จึงมีการเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์มีมาตรฐานในการรับซื้อวัตถุดิบเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ยังควรพิจารณาหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดใหม่ที่เหมาะสม
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและรูปแบบปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งแล้งขึ้นซึ่งทำให้เกิดไฟป่ามากขึ้น ส่งผลให้ระดับ PM 2.5 ในอากาศสูงขึ้น
การขนส่งและอุตสาหกรรม
นอกจากไฟป่าแล้วมลพิษจากการขนส่งและอุตสาหกรรมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อระดับ PM 2.5 ในประเทศไทย จากรายงานของสผ. ในปี 63 ภาคการขนส่งคิดเป็น 25% การผลิตไฟฟ้า 40% อุตสาหกรรม 29% และอื่น 6%
ผลกระทบ
ผลกระทบของ PM 2.5 ต่อสุขภาพของมนุษย์อาจรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีภาวะระบบทางเดินหายใจและหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว การได้รับในระยะสั้นอาจทำให้ตาและคอระคายเคือง ไอ และหายใจลำบาก ผื่นคัน ในขณะที่การได้รับในระยะยาวสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ มะเร็งปอด และปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว PM 2.5 ยังเป็นอันตรายต่อพืชผลและระบบนิเวศ และทำให้ทัศนวิสัยลดลงอีกด้วย ผลกระทบทางเศรษฐกิจของ PM 2.5 ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอาจรวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น
จากข้อมูลของ Air Quality index : AQI ความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ยของประเทศไทยในปี 2563 อยู่ที่ 29.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ที่ 10 µg/m3 ในปี 2562 PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14,000 คนในประเทศไทย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น และระยอง
มาตรการแก้ไข
เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 และไฟป่าในประเทศไทย ต้องมีการดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการเผา เพิ่มการเฝ้าระวังและติดตามการเกิดไฟป่า และการส่งเสริมแนวทางเกษตรกรรมทางเลือก อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้ยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา และจำเป็นต้องมีการดำเนินการมากกว่านี้เพื่อระบุถึงต้นตอของปัญหา เช่น การลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่งและภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน กฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการเผารวมถึงการเฝ้าระวังและติดตามไฟที่เพิ่มขึ้น จึงจะสามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงของไฟป่าได้
ปัจจุบันเครือข่ายอากาศสะอาดได้ทำการยื่น พ.ร.บ อากาศสะอาด หลักคิดสำคัญของ พ.ร.บ นี้คือ “อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน “และกำหนดให้มีกลไกสำคัญคือ “คณะกรรมการอากาศสะอาด” จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งคณะกรรมการนี้จะต้องมีตัวแทนจากประชาชนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง พูดง่าย ๆ คือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วย เพื่อส่งเรื่องเข้าสู่รัฐสภา ทั้งนี้แค่ลงชื่อก็อาจจะไม่พอ เพราะกฎหมายไม่ว่าจะสำคัญแค่ไหนก็เป็นเพียงเครื่องมือ ดังนั้นจึงได้มีการ ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. นี้ถูกปัดตกไปแล้วถึง 3 จาก 5 ฉบับ ไม่เคยได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเลยแม้แต่ฉบับเดียว
ติดตามเพิ่มเติมเครือข่ายอากาศสะอาดได้ที่ THAI CLEAN AIR NETWORK เครือข่ายอากาศสะอาด
ร่วมลงชื่อผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดให้เกิดขึ้นจริงในไทย #อย่าปัดตก #พรบอากาศสะอาด
อ้างอิง
- วงเสวนาชี้ บริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ ต้นเหตุ “เผาป่า-ทำลายทะเล”
- โควิด-19 สาเหตุที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของไทยลดลง?
ผู้เขียน
เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน