เคล็ดไม่ลับ ฉบับคนอยากรัก(ษ์) : 5 วิธี สาดน้ำวันสงกรานต์ยังไงให้รักษ์โลก 

เคล็ดไม่ลับ ฉบับคนอยากรัก(ษ์) : 5 วิธี สาดน้ำวันสงกรานต์ยังไงให้รักษ์โลก 

วันหยุดยาวสงกรานต์กำลังมาถึงแล้ว…เชื่อว่าหลายคนคงตั้งหน้าตั้งตารอวันสงกรานต์กันอยู่แน่ ๆ ทั้งได้หยุดยาว ได้พักผ่อน และที่สำคัญได้สนุกกับการเล่นน้ำ  

พูดถึงเทศกาลสงกรานต์ทุกคนนึกถึงอะไรกันบ้าง แน่นอนว่าทุกคนย่อมนึกถึงการเล่นน้ำในวันที่อากาศร้อนอบอ้าวกลางเดือนเมษายนแน่ ๆ เพราะสัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์ก็คือ การเล่นน้ำ นั่นเอง  

การเล่นน้ำ กลายเป็นจุดขายที่สำคัญของเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศทั่วโลกเดินทางมาเยือนไทยช่วงหน้าร้อนนี้ก็เพื่อมาสนุกกับเทศกาลสงกรานต์ แต่รู้หรือไม่ จากสถิติการใช้น้ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ใน 1 วัน คนเราใช้น้ำประมาณ 200 ลิตรต่อวัน ทว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นเราใช้น้ำมากกว่าปกติถึง 3 เท่าเลยทีเดียว  

ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับสภาวะโลกร้อน ทุกประเทศทั่วโลกต้องพบเจอกับวิกฤติต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภัยแล้ง” ที่เป็นปัญหาหลักของหลายพื้นที่ในโลกที่ไม่มีน้ำในการอุปโภคบริโภค 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เทศกาลสงกรานต์นั้น ทำให้เราต้องสูญเสียน้ำมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า จากการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น หลายฝ่ายเริ่มออกมามองว่าเทศกาลสงกรานต์กำลังทำให้เราสูญเสียทรัพยากรน้ำอย่างไม่จำเป็นหรือเปล่า 

อย่างไรก็ดีการเล่นน้ำ คือ สัญลักษณ์ที่สำคัญของเทศกาลสงกรานต์ ถ้าหากจะให้ยกเลิกการเล่นน้ำไปเลยก็คงเป็นเรื่องที่ยาก วันนี้เราจึงมาแนะนำ 5 วิธี เล่นน้ำวันสงกรานต์อย่างไรให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกัน   

1. เปลี่ยนจากปืนฉีดน้ำกระบอกใหญ่ ๆ ฉีดได้จุใจ เป็นขันใบเล็ก ๆ แทน  

การเปลี่ยนจากปืนฉีดน้ำกระบอกใหญ่ มาเป็นขันเล็ก ๆ สาดน้ำกันเบา ๆ พอสนุก ก็ชุ่มฉ่ำได้เหมือนกัน ที่สำคัญหลังจากหมดช่วงเทศกาล เรายังเอาขันไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากมายเลย  

2. คนเล่นสนุก ธรรมชาติก็ได้รับ 

ปีนี้เราอาจเปลี่ยนสถานที่เล่นน้ำจากบนถนน เป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ใบหญ้าเยอะ ๆ แทน จากเดิมที่น้ำถูกสาดบนถนนเฉย ๆ ก็เปลี่ยนเป็นช่วยแบ่งปันน้ำให้ต้นไม้ ใบหญ้าได้ชื่นฉ่ำกันด้วย เรียกได้ว่าคุ้มค่าทุกหยดแน่นอน  

3. คลายร้อนด้วยสระน้ำ แทนการสาดน้ำก็ดีเหมือนกัน  

ถ้าใครอยากเล่นน้ำ แต่ไม่อยากสาดน้ำให้สิ้นเปลืองก็ลองซื้อบ่อน้ำพับเก็บได้มาเล่นก็ดีเหมือนกัน เติมน้ำในบ่อให้เต็ม แช่น้ำให้หนำใจ พอเล่นเสร็จก็สามารถเอาน้ำไปรดน้ำต้นไม้ต่อได้ด้วย  

4. เล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกหนึ่งทางเลือกประหยัดน้ำ  

ใครคิดว่าเล่นน้ำในสระยังไม่จุใจ ก็ลองเปลี่ยนสถานที่เล่นน้ำเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่อนุญาตให้ลงเล่นดูก็เข้าท่าเหมือนกัน ทั้ง คลอง ลำธาร น้ำตก ทะเล เราสาดน้ำกันเท่าไหร่ ก็ไหลวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ต้องกลัวว่าจะสิ้นเปลืองทรัพยากรด้วย 

5. เล่นน้ำได้ ลดขยะด้วย  

ว่ากันด้วยเรื่องอุปกรณ์ต่ออีกหน่อย ใครที่ไม่อยากสิ้นเปลืองทั้งทรัพยากรและทรัพย์สินที่ต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์เล่นน้ำทุกปี เราขอแนะนำแปลงร่างขวดน้ำให้กลายเป็นอุปกรณ์เล่นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะฝาขวดให้กลายเป็นฝักบัว หรือตัดขวดให้กลายเป็นขันก็เก๋ไปอีกแบบ หรือใครมีวัสดุ D.I.Y. อื่น ๆ ที่สามารถใช้เล่นน้ำได้ สามารถแชร์กันได้เลย  

5 วิธีที่เรารวบรวมมานี้เป็นวิธีการสนุกกับเทศกาลสงกรานต์แบบรักษ์โลก บางครั้งเราอาจไม่ต้องถึงกับยกเลิกประเพณีอันดีงามของเราไป แต่เราควรจะเรียนรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรที่เราสูญเสียไปว่ามันมีความสำคัญมากแค่ไหน เมื่อเราตระหนักถึงความสำคัญได้นั้น เราก็จะรู้วิธีใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุดนั่นเอง  

ภาพประกอบ นางสาวจารุวรรณ  กุณาเลย  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ