ฟาสต์แฟชั่น อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ตอบโจทย์คนทั้งโลก แต่ไม่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม

ฟาสต์แฟชั่น อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ตอบโจทย์คนทั้งโลก แต่ไม่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สามารถสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมแฟชั่น”  

เสื้อผ้า คือ ปัจจัยสี่ของมนุษย์เรา ทุกคนจำเป็นต้องใช้เสื้อผ้าในการดำรงชีวิต เสื้อผ้าจึงถูกผลิตออกมาเพื่อตอบรับกับความต้องการของมนุษย์ 

เมื่อโลกพัฒนาขึ้น เสื้อผ้าก็เป็นมากกว่าแค่ปัจจัยสี่ มันได้กลายเป็นเครื่องแสดงความสวยงามของผู้สวมใส่ จนทำให้ความต้องการซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้น จนเกิดอุตสาหกรรมผลิตสินค้าสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินความพอดี และนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ฟาสต์แฟชั่น” (Fast Fashion) ซึ่งถือเป็นตัวการอันดับต้น ๆ ในการทำลายสิ่งแวดล้อม  

ฟาสต์แฟชั่น กับการทำลายสิ่งแวดล้อม 

Fast Fashion คือ เสื้อผ้าหรือสินค้าที่เน้นความรวดเร็วและต้นทุนในการผลิตต่ำ ทำให้เสื้อผ้าเหล่านี้มีราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย มักเป็นแฟชั่นกระแสสั้น ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยตามความนิยม ทำให้ผู้บริโภคใส่และเปลี่ยนใหม่บ่อยมากยิ่งขึ้น ด้วยกระแสเสื้อผ้า Fast Fashion ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป กล่าวคือ ผู้บริโภคจะตามกระแสมากขึ้น เปลี่ยนความนิยมง่าย และเบื่อเร็ว  

ถึงแม้ว่าเสื้อผ้าเหล่านี้จะเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในระยะสั้น มาไว ไปไว แต่พวกมันกลับทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้นานอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งผลกระทบของเสื้อผ้า Fast Fashion เกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงหลังการใช้งาน 

วัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นส่วนใหญ่มักเป็นวัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างแรก คือ ฝ้าย วัสดุยอดนิยมที่หลายแบรนด์เลือกใช้ในการทำเสื้อผ้า ถึงแม้ว่าฝ้ายจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่ำ แต่การผลิตฝ้ายนั้นต้องใช้พื้นที่และน้ำมาก ซึ่งน้ำที่ถูกใช้ในการผลิตฝ้ายนั้นมากถึง 93 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี หรือกล่าวง่าย ๆ เราใช้น้ำ 10,000-20,000 ลิตร ต่อการผลิตเสื้อผ้าเพียง 1 กิโลกรัม  

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียกลาง จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศหลักในการผลิตฝ้ายด้วย กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตฝ้ายเพื่อส่งออกให้กับทั่วโลก 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการผลิตฝ้ายได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้ว อย่าง ทะเลแอรอล (Aral) ทะเลปิดในพื้นที่เอเชียกลางที่ระดับน้ำลดลง มีสาเหตุมาจากความต้องการฝ้ายจากทั่วโลก จึงจำเป็นต้องดึงน้ำจากทะเลแอรอลมาใช้ในการผลิตฝ้ายจนน้ำในทะเลแห้งเหือดเหลือเพียงแต่ทะเลทราย  

อีกทั้งการปลูกฝ้ายยังทำให้ดินและแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงปนเปื้อนปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ แมลง นก และสัตว์ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบเป็นทอด ๆ ตามห่วงโซ่อาหาร ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย  

การเปรียบเทียบทะเลแอรอลในปี 1989 (ซ้าย) และ 2014 (ขวา) ภาพ NAZA

นอกจากฝ้ายแล้วยังมีโพลีเอสเตอร์หรือเส้นใยสังเคราะห์ อีกหนึ่งวัสดุใส่สบายแต่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมหลายแห่งเลือกใช้โพลีเอสเตอร์เป็นส่วนประกอบในเสื้อผ้า อย่างที่ทราบกันดีว่าเส้นใยโพลีเสเตอร์เหล่านี้ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณมหาศาล ด้วยเหตุนี้ทำให้เสื้อโพลีเอสเตอร์ 1 ตัว มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ถึง 5.5 กิโลกรัม เลยทีเดียว 

ถ้าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ยังมีความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายในปี 2593 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นมากเป็น 3,978 ล้านตัน  

โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมเสื้อผ้านั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากถึง 1.2 พันล้านตันในแต่ละปี หรือราว ๆ 8-10% ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก 

Circular Economy ทางออกของ Fast Fashion  

แนวทางในการบรรเทาปัญหาแฟชั่นคือ การใช้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy” มาใช้ในกลุ่มบริโภคมากขึ้น โดยเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ แนวคิดการจำกัดหรือลดการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัสดุที่ผ่านการบริโภคแล้วมาผลิตใหม่หรือนำมาใช้ซ้ำ  

เดิมทีการผลิตเสื้อผ้าจะใช้แนวคิดแบบเส้นตรง หรือ Linear Economy คือ ใช้ทรัพยากร ผลิตสินค้า และย่อยสลาย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการลดลงของทรัพยากรในโลก ดังตัวอย่างทรัพยากรน้ำที่ลดลงของทะเลแอรอล อีกทั้งยังสร้างขยะขึ้นมาในปริมาณมากมายจนยากจะกำจัดให้หมดไป  

Martin Bernetti/AFP

การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้นั้น มีหลักการสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ  1) ออกแบบสินค้าและบริการที่เน้นการรักษาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ 2) เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและสินค้า และ 3) ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ถ้าหลายอุตสาหกรรมสามารถปฏิบัติตามหลักการทั้ง 3 นี้ได้ ระบบการผลิตจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากระบบการผลิตแบบเส้นตรงไปสู่การหมุนเวียนได้  

ท้ายที่สุดแล้ว นอกจากปัญหาของระบบการผลิตแล้ว อุปสงค์ความต้องการของผู้บริโภคเองก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ระบบ Fast Fashion ยังคงดำรงอยู่ได้

กระแสแฟชั่นที่ปรับเปลี่ยนไปอยู่ตลอดทำให้ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามกระแสดังกล่าวด้วย ดังนั้น การจะทำให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น เราในฐานะผู้บริโภคต้องเพิ่มการใช้ซ้ำหรือใช้เสื้อผ้าที่ผลิตด้วยกระบวนการหมุนเวียนมากขึ้น 

ในปัจจุบันกระแสการใช้เสื้อผ้ามือสองเริ่มเป็นที่นิยมอีกครั้ง หากเราสามารถร่วมมือกันได้ในผู้บริโภค ย่อมส่งผลต่อภาคการผลิตให้ผลิตออกมาลดลงตามอุปสงค์ของผู้บริโภคแน่นอน  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ