ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ผิดปกติเช่นนี้ คือผลพวงมาจากภาวะโลกร้อน หรือที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นกลายเป็นภาวะโลกเดือด (Global Boiling) และมีตัวการที่สำคัญอย่างเราทุกคน
ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่รับรู้ถึงความร้อนนี้ได้ สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ทั้งบนบกและในน้ำ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนนี้เช่นกัน สัตว์ป่ามีการอพยพออกนอกพื้นที่มากขึ้น ทำลายพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) การเจริญเติบโตได้ดีขึ้นของแบคทีเรีย การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงผลกระทบทางทะเลอย่าง ‘ปะการังฟอกขาว’ ที่ถือเป็นสัญญาณเตือนความหายนะของความหลากหลายทางชีวภาพ
‘ปะการังฟอกขาว’ คืออะไร ?
ปะการังฟอกขาว หรือ Coral bleaching คือ ปรากฏการณ์ที่ปะการังมีสีซีดจางลงจนมองเห็นเป็นสีขาว เกิดจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) สาหร่ายขนาดจิ๋วที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง
โดยปกติปะการังจะมีสีสันสวยงามจากรงควัตถุ (Pigment) ที่ผลิตโดยสาหร่ายซูแซนเทลลีที่ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงและให้พลังงานและสารอาหารแก่ปะการัง แต่เมื่อปะการังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่าง อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น มลพิษ หรือ การเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเล สาหร่ายซูแซนเทลลีจะถูกขับออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง ส่งผลให้ปะการังสูญเสียสีสัน ขาดอาหาร และตายในที่สุด
‘ปะการังฟอกขาว’ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
สาเหตุที่ปะการังจะฟอกขาวเกิดได้หลายปัจจัย ทั้งมลพิษทางทะเลจากสารเคมีจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น น้ำเสียจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม สารเคมีจากครีมกันแดดที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเล และอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นผิดปกติ เนื่องจากปะการังมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็จะส่งผลต่อการมีอยู่ของสาหร่ายซูแซนเทลลี
และจากสำรวจของนักวิจัยพบว่า ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้น โอกาสที่ปะการังจะฟอกขาวยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบริเวณน้ำตื้นและแนวชายฝั่งจึงสามารถพบปะการังฟอกขาวได้มากกว่า เนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับแสงแดดและความร้อนโดยตรง
ปัจจุบันทั่วทั้งโลกเกิดปะการังฟอกขาวอยู่ที่ร้อยละ 54 ของทั้งโลก โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 ต่อสัปดาห์ และหากโลกยังร้อนขึ้นไปต่อเนื่องแบบนี้ที่ 2 องศาเซลเซียส คาดว่าในปี 2050 ปะการังจะฟอกขาวและตายถึงร้อยละ 99 ของทั้งโลก!
ไม่เพียงแต่ปะการังเท่านั้น ดอกไม้ทะเลก็สามารถฟอกขาวได้ ทว่าดอกไม้ทะเลมีความอดทนมากกว่าปะการัง เนื่องจากดอกไม้ทะเลหาอาหารจากการจับเหยื่อด้วยเข็มพิษได้ด้วย แต่ปะการังได้พลังงานเกือบทั้งหมดจากสาหร่ายซูแซนเทลลี เมื่อไม่มีสาหร่ายปะการังฟอกขาวจึงตายง่ายกว่าดอกไม้ทะเลฟอกขาว
เมื่อ ‘ปะการังฟอกขาว’ จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างไร ?
ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของโลกใต้ท้องทะเล เนื่องจากเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด แนวปะการังช่วยลดความรุนแรงของคลื่นลม ปกป้องชายฝั่งจากการกัดเซาะและช่วยป้องกันความเสียหายจากพายุและคลื่นสึนามิ เมื่อปะการังเกิดการฟอกขาว จึงไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามเดิม ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเล ทำลายห่วงโซ่อาหาร และส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพใต้ท้องทะเลในที่สุด
พวกเราจะหยุดยั้ง ‘ปะการังฟอกขาว’ นี้ได้อย่างไร ?
สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์และมีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด เพื่อลดภาวะโลกเดือดและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น และทำตามนโยบายที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2065 ให้ได้
เราทุกคนควรตระหนักและเห็นความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ มีจิตสำนึกที่ดีต่อระบบนิเวศทางทะเล และร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเลให้คงความสมบูรณ์ต่อไป
และด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่พวกเราทั้งหมดกำลังเผชิญอยู่ ล้วนเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกเดือดทั้งสิ้น ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปและควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
อ้างอิง
- ทะเลเดือดกำลังฆ่าปลาการ์ตูน | Thon Thamrongnawasawat
- ค่าของแนวปะการัง | ความยืดหยุ่นของแนวปะการัง
- ปะการังฟอกขาว | คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- สัญญาณเตือนหายนะโลก! ” ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ครั้งที่ 4″
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว