Vulture Awareness Day เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกโดย Hawk Conservancy Trust และโครงการ Birds of Prey ของ Endangered Wildlife Trust International Vulture Awareness Day หรือ IVAD ซึ่งมีการเฉลิมฉลองไปทั่วโลกในปี 2009 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติของนกแร้ง ความสำคัญในระบบนิเวศที่หลากหลายในฐานะ “สายพันธุ์หลัก” และเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องปกป้องพวกมันในระดับโลก ซึ่งตรงกับ ”วันเสาร์แรกของเดือนกันยายน” ทุกปี และในวันให้ความรู้แร้งครั้งมาพบกับ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแร้ง
1. สารพิษในซากศพคือ ภัยคุกคามหลักที่ทำให้ประชากรแร้งทั่วโลกใกล้สูญพันธุ์
2. หากไม่มีแร้ง ประชากร Scavenger อื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของสัตว์กินของเน่าเหล่านี้สามารถนำแบคทีเรียและไวรัสจากซากสัตว์เข้าสู่เมืองของมนุษย์ได้(เกิดโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น) กลับกันแร้งนั้นมีกระเพาะพิเศษที่ทนทานต่อแบคทีเรียและไวรัส จึงได้ฉายาว่า “เทศบาลประจำผืนป่า”
3. ในปัจจุบันแร้งทั่วโลกมีทั้งหมด 23 สายพันธุ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ แร้งโลกใหม่ (พบในอเมริกาเหนือ ใต้ และอเมริกากลาง) และแร้งโลกเก่า (พบในแอฟริกา เอเชีย และยุโรป)
4. แร้งกริฟฟอนของ Rüppell ตามความหมาย griffon แปลว่า แร้ง และ Rüppell คือตั้งตามชื่อของ Eduard Rüppell ซึ่งชื่อของมันคือ Rüppell’s vulture หรือที่เรียกกันอีกชื่อคือ Rüppell’s griffon vulture เชื่อกันว่าแร้ง Rüppell’s vulture เป็นนกที่บินได้สูงที่สุดในโลก โดยได้รับการยืนยันแล้วว่าพบเห็นได้สูงกว่า 35,000 ฟุต (10,668 เมตร)
5. ในอดีตไทยเคยพบแร้ง 5 ชนิดเป็นแร้งอพยพ 2 ชนิด ได้แก่ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย แร้งดำหิมาลัย และเป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิดประเทศไทย ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาล
6. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่แร้งสูญพันธ์ไปจากประเทศไทย จากเหตุการณ์พรานวางยาเนื้อเก้งเพื่อหวังให้เสือโคร่งมากิน แต่กลับกลายเป็น “พญาแร้ง” ที่ลงมากินซากและตายยกฝูงในคราวเดียว
7. กรงธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูง 40 เมตร กว้าง 20 เมตร ยาว 20 เมตร ตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สร้างขึ้นเพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ
8. ในประเทศไทยเหลือพญาแร้งอยู่เพียง 6 ตัวเท่านั้น โดย 4 ตัวอยู่ที่สวนสัตว์นครราชสีมา และอีก 2 ตัวอยู่ในกรงฟื้นฟูที่ห้วยขาแข้ง
9. ในธรรมชาติพญาแร้งจะวางไข่ 2 ปี เพียง 1 ฟองเท่านั้นแต่ในการเพาะพันธุ์ อาจวางไข่ได้ทุกปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ไม่ว่าเป็น อาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย วัย
10. แร้งคอนดอร์แอนดีส เป็นนกบินร่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีความยาวระหว่างปีกถึง 3 เมตร มีน้ำหนักมากถึง 15 กิโลกรัม และระยะการบินกว่า 160 กิโลเมตรโดยไม่จำเป็นต้องกระพือปีกสักครั้งเดียว
ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีโครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ จึงถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อฟื้นฟูและขยายพันธุ์พญาแร้งคืนสู่ผืนป่าห้วยขาแข้ง
ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติในการช่วยฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนมา ผ่านการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา วิจัย และการฟื้นฟูประชากรได้ที่
โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5