เสือโคร่ง (Tiger) เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เสือโคร่งคือสัตว์ผู้ล่าที่องอาจและน่าเกรงขาม ลายพาดกลอนที่พาดบนลำตัว นอกจากจะสร้างความกลมกลืนกับธรรมชาติได้อย่างน่าแปลกใจ ก็ยังเปรียบเหมือนดีเอ็นเอที่ทำให้เราสามารถแยกแยะได้เสือโคร่งตัวไหนเป็นตัวไหน เพราะลายบนตัวเสือโคร่งแต่ละตัวนั้นไม่เหมือนกัน
เดิมทีเราสามารถพบเจอเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน (Indochinese tiger) ได้ไม่ยาก โดยสายพันธุ์นี้มีงานวิจัยออกมาว่าอาจเป็นบรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งเสือโคร่งทั้งมวล พวกเขากระจายตัวอยู่ทั่วป่าประเทศพม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา จีน และประเทศไทย กระทั่งจำนวนเสือโคร่งได้ลดลง โดยอ้างอิงรายงานของ IUCN ชี้ว่าเสือโคร่งอินโดจีนอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (endangered status) คาดว่าเหลืออยู่ตามธรรมชาติเพียง 300 ตัวเท่านั้น
ซึ่งคุณสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ยืนยันว่าประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไม่มีการพบร่องรอยเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว
สำหรับประเทศไทยมีป่าตะวันตกเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนจำนวนมากที่สุดในโลก
เมื่อดวงตาคล้ายลูกปัดขนาดใหญ่สะท้อนแสงแวววาวจับจ้องเหยื่อ นั่นหมายถึงการทำหน้าที่ของเสือโคร่งให้แก่ป่า การที่ป่าธรรมชาติมีเสือโคร่งอาศัยอยู่นั่นจึงหมายถึงป่าแห่งนั้นมีการควบคุมประชากรเหยื่อชนิดต่างๆ ของเสือโคร่ง กลายเป็นตามกลไกธรรมชาติช่วยคงสมดุลอันดี
เหยื่อเสือโคร่ง ได้แก่ วัวแดง กระทิง กวางป่า หมูป่า เก้ง แม้กระทั่งลูกช้าง หากขาดซึ่งสัตว์ผู้ทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กีบ ธรรมชาติก็จะขาดสมดุลส่งผลกระทบไปถึงระบบนิเวศ
อีกทั้งด้วยลักษณะพฤติกรรมการล่าเหยื่อของเสือโคร่งนั้น สัตว์ตัวใดที่อ่อนแอก็มักจะกลายเป็นเหยื่อให้แก่เสือโคร่ง ดังนั้น บทบาทที่สำคัญอีกประการของเสือโคร่งในผืนป่าคือการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แข็งแรงให้กับผืนป่า