เนื่องในวันที่ 3 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เผยแพร่สื่อรณรงค์บนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ้คภายใต้แนวคิด “ร่วมปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน” พร้อมเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันทำหน้าที่สายตรวจโซเชียล เป็นหูเป็นตา และแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
กรณีการฆ่าเสือดำทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจ และเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องปกป้องสัตว์ป่าที่เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศ
ผู้ลักลอบล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองกำลังใช้โซเชี่ยลมีเดียเช่นเดียวกับคุณ เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย
ในบทความนี้จะขอแนะนำสัตว์ที่พบเจอบ่อยในขบวนการล่า ค้า และครอบครอง สัตว์ป่าคุ้มครองบนโซเชี่ยลมีเดีย
เสือดาวคือสัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลก
เสือดำที่เพิ่งถูกล่า ถลกหนัง ชำแหละเนื้อในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นชนิดเดียวกับเสือดาวอินโดจีน หรือ Indo-chinese leopard (Panthera pardus delacouri) ซึ่งเป็นเสือดาวชนิดย่อย delacouri ที่เคยกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก ทั้งโลกเหลือแค่ราว 2 พันตัว ส่วนในประเทศไทยคาดว่าเหลืออยู่ไม่กี่ร้อยตัว
ปัจจุบัน บัญชีแดงของ IUCN จัดให้ เสือดาวอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable) ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกล่าอย่างหนัก และการบุกรุกพื้นที่ป่า
เสือดาวชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้วจากสิงคโปร์ และคาดว่าน่าจะหมดไปแล้วจากลาวและเวียดนาม ส่วนในจีน และกัมพูชา ก็ถูกล่าจนแทบจะสูญพันธุ์แล้วเช่นกัน เหลือแค่ประเทศไทย มาเลเซียและพม่าที่น่าจะยังมีประชากรเสือดาวชนิดนี้อยู่เพียงพอในการขยายพันธ์ุ
ปัจจุบันเรายังมีกลุ่มคนที่มีค่านิยมล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงและเพื่อการค้าอีกมาก
โดยเฉพาะระยะหลังที่กลุ่มเหล่านี้หันมาใช้โซเชียลมีเดียในการแลกเปลี่ยน สื่อสาร ทำให้ภาพการล่าสัตว์เพื่ออวดกันในกลุ่มปรากฎอยู่ในกลุ่มลับบ้าง ไม่ลับบ้างตามโซเชียลอยู่เสมอๆ
สัตว์ป่าซึ่งตกเป็นเป้าหมายในการล่าเหล่านี้ มักมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ การสูญเสียประชากรของสัตว์ป่าดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบลูกโซ่มากมาย เช่นทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงอันเนื่องมาจากการขาดสัตว์ที่ทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์อย่างลิง ค้างคาวกินผลไม้ นกเงือก เก้ง กวาง หรืออาจทำให้ธรรมชาติทั้งหมดสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ เพราะการลดจำนวนลงของสัตว์ผู้ล่าจนระบบนิเวศเสียสมดุล และในทางกลับกันหากสัตว์ที่เป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าลดจำนวนลงมากๆ ย่อมส่งผลโดยตรงถึงความอยู่รอดของสัตว์ผู้ล่าใกล้สูญพันธุ์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการฆ่าจะศักดิ์สิทธิ์อย่างไร
การซื้อ-ขายชิ้นส่วนของเสือโคร่งทุกชนิดผิดกฎหมาย ภายในศตวรรษที่ผ่านมาจากเสือโคร่งจำนวนนับแสนเหลือแค่ 3,200 ตัวในปัจจุบันเสือโคร่งกำลังใกล้สูญพันธุ์ และประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติลดลงถึง 97%
ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยคือบ้านหลังสุดท้ายของเสือโคร่งกว่า 200 ตัว และเป็นความหวังของการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งโลก เสือโคร่งถือเป็นสัตว์ป่าที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และทรัพยากรธรรมชาติ
การลักลอบค้าสัตว์ป่ายังคงเป็นภัยคุกคามต่อการสูญพันธุ์ของประชากรเสือโคร่งทั่วโลก แต่คุณสามารถช่วยเสือโคร่งได้ เพียงแค่บอกเพื่อน บอกครอบครัว และคนใกล้ตัวให้รับรู้ข้อเท็จจริงว่าเสือโคร่งถูกลักลอบค้า และฆ่าอย่างโหดร้ายเพื่อเอาอวัยวะมาทำเป็นยา เครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง
จับนางอายถ่ายเซลฟี่ น่ารักหรือน่าอาย
นางอายหรือลิงลม (Nycticebus coucang) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลลิง ที่หากินกลางคืน คือสัตว์ที่ไม่ควรนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านเช่นหมาแมว นางอายหรือลิงลม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ห้ามมีไว้ในครอบครองโดยเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืน ทั้งเลี้ยง ทั้งขาย อาจโดนติดคุก 4 ปี หรือปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นางอายที่ถูกนำมาขาย หรือบังคับถ่ายรูปับนักท่องเที่ยว ถูกจับมาจากป่าทั้งสิ้น ไม่มีการเพาะเลี้ยงหรือทำฟาร์มได้เลย จึงมีโอกาสที่มันจะสูญพันธุ์จากธรรมชาติหากยังลักลอบจับมาเลี้ยงกันมากมายเช่นนี้ นางอายสามารถเป็นรังโรคและพาหะนำโรคไวรัสอีกหลากหลายชนิดที่มีในสัตว์ตระกูลลิงทั้งที่รู้จักและยังไม่รู้จักเข้าสู่มนุษย์ได้ง่าย
ปล่อยเต่านาหวังอายุยืน แต่เขาอายุสั้น
เต่านาถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดชนิดหนึ่ง เพื่อนำมาขายผู้ที่ต้องการทำบุญด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองอายุยืนเหมือนกับเต่า แต่ความจริงเต่านาส่วนใหญ่ที่ถูกปล่อยมักจะเสียชีวิตเพราะปล่อยในถิ่นที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม
เต่านาจัดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน และเป็นเต่าน้ำจืดในสกุล Malayemys ซึ่งปัจจุบันถูกจำแนกออกเป็น 3 ชนิดได้แก่ เต่านา (M. macrocephala) เต่านาแม่โขง (M. subtrijuga) และเต่านาอีสาน (M. isan) เต่านาแม่โขงยังจัดเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามระดับโลกและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ในบัญชีแดงของ IUCN
เต่านาทั้งสามชนิดอาศัยในแหล่งน้ำที่ไม่ลึกมากตามธรรมชาติที่มีพืชพรรณริมตลิ่ง อาศัยกินหอยฝาเดียวเป็นอาหาร เต่าที่ได้รับการปล่อยหน้าวัด หรือปล่อยลงแม่น้ำขนาดใหญ่จึงมีโอกาสรอดน้อยมาก นั่นเท่ากับว่าเป็นการฆ่าเต่าโดยไม่รู้ตัว การทำบุญด้วยการปล่อยเต่านาจึงเป็นการทำบาปมากกว่าได้บุญ และยังเป็นการทำผิดกฎหมายห้ามซื้อขายและครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง
นากจะน่ารักแค่ไหนก็ผิดกฎหมาย เพราะนากทุกชนิดคือสัตว์ป่าคุ้มครอง ภายใต้พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535
นากอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำที่หลากหลาย สามารถพบได้ในพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่ แม่น้ำ ลำธาร บึงน้ำ ป่าชายเลน นากเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบนิเวศลำน้ำที่ดีที่สุด เพราะเป็นสัตว์ผู้ล่าสำคัญในพื้นที่ชุ่มน้ำ ถ้ายังพบนากย่อมแสดงว่าสัตว์น้ำยังอุดมสมบูรณ์ คุณภาพน้ำยังดีพอ
สัตว์ป่าจะน่ารักที่สุด ก็เมื่อเขาได้อยู่ในธรรมชาติ และแสดงบทบาทที่สำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้เรา
นกแก๊กหรือนกแกง (Oriental Pied Hornbill) ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และเป็นครอบครัวเดียวกับนกเงือก
นกเงือก (Hornbill) ทุกชนิด หรือ (13 ชนิด ที่พบในไทย) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ห้ามมีไว้ในครอบครองโดยเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืน ทั้งเลี้ยง ทั้งขาย อาจโดนติดคุก 4 ปี หรือปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ลูกนกเงือกที่ถูกลักลอบมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง ถูกล้วงออกมาจากโพรงรังในป่า พ่อและแม่นกเงือกที่รีบนำอาหารมาป้อนลูก แต่กลับมาพบโพรงรังที่ว่างเปล่า
นกเงือกเป็นดัชนีแทนป่าดิบที่สมบูรณ์ เพราะนกเงือกทำรังวางไข่ในโพรงไม้ขนาดใหญ่ ป่าไหนที่ยังมีนกเงือก แสดงว่า ยังมีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่มาก และนกเงือก เป็นนักปลูกป่า (Seed disperser) ผลไม้ป่าขนาดใหญ่ที่นกเงือกกิน ถูกนำไปปลูกไกลจากต้นแม่ไม้
ร่วมกันปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดินไม่ให้สูญพันธุ์ เลิกเลี้ยง เลิกล่า เลิกค้า และช่วยกันเป็นสายตรวจโซเชียล ช่วยกันรายงานการล่า การค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือการตัดไม้ทำลายป่า ได้ทางช่องทางดังต่อไปนี้
- FACEBOOK สายด่วน 1362
- FACEBOOK บก.ปทส. Greencop – Thailand
- FACEBOOK ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง