กักขังฉันเถิด กักขังไป…
หากสัตว์ป่าเรียนรู้ที่จะสื่อสารด้วยบทเพลง ถ้อยคำ ฉันคงนึกคำร้องเพลง “จำเลยรัก” ไว้ให้พวกเขากู่ร้องแทนใจเมื่อสัตว์ป่าเหล่านั้นจำต้องถูกพรากออกจากป่าที่ซึ่งบ้านแสนรัก ไปจองจำด้วยคำว่า “สัตว์เลี้ยงแสนรัก” ของมนุษย์
ปัญหาการนำสัตว์ป่าไปเป็นสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นมาก่อนพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จะได้รับการประกาศเพื่อปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่าแต่ละชนิด สัตว์ป่านั้นถูกล่า ขโมยลูกจากรัง ดักจับเพื่อเอามาเป็นสัตว์เลี้ยงไว้ดูเล่น กระทั่งปัจจุบัน พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 2 ทศวรรษแต่ความต้องการนี้มิได้หมดไป
การแสดงบุญบารมี ความมั่งคั่ง เสริมความโดดเด่น ไปจนถึงคำกล่าวอ้างว่าซื้อมาเลี้ยงดูด้วยความรักความเมตตาโปรดสัตว์(ป่า)ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้น ล้วนส่งผลให้เกิดหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการล่าสัตว์ป่า และปรากฎพฤติกรรมการค้าสัตว์ป่าท้าทายกฎหมายผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน
มากไปกว่านั้น ส่วนหนึ่งของการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง มักมีเหตุผลที่ตามมาเรื่องหนึ่งคือ “ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย” ในบทความนี้ จึงขอรวบรวมเรื่องราวของสัตว์ป่า ที่ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของความไม่รู้ เพื่อที่ว่าอนาคต จะไม่เกิดเหตุการณ์กับพวกเขาเหล่านี้ซ้ำขึ้นมาอีก
นาก
คลิปนากแสดงพฤติกรรมออดอ้อนด้วยดวงตากลมโต ติดตาตรึงใจมนุษย์จนเกิดกระแสหานากมาเป็นสัตว์เลี้ยง นากจึงตกเป็นจำเลยถูกกักขั้งในฐานะสัตว์เลี้ยง
ร้อยละ 70 ของการซื้อขายนากโลดแล่นอยู่บนโลกออนไลน์ องค์กรเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) เผยข้อมูลตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ผ่านการศึกษา TRAFFIC – IUCN Otter Specialist Group
ไทยกลายเป็นประเทศต้นทางการค้าขายตัวนากทั้งการค้าขายภายในและนอกประเทศ อาทิ ส่งออกไปสู่ประเทศญี่ปุ่นและเวียดนาม โดยระหว่างปี 2559-2560 มีการจับกุมการลักลอบค้านากได้ 5 ครั้ง และยึดนากที่มีชีวิตได้ 35 ตัว นี่ยังไม่นับรวมนากที่ต้องตายระหว่างการขนส่งอีก
การศึกษาดังกล่าวระบุว่า พบการโพสต์ซื้อขายนาก 560 ชิ้น และมีนากถูกขายไปประมาณกว่า 960 ตัว และจากการเก็บข้อมูล 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย พบว่าไทยมีโพสต์เสนอขายนากสูงถึง 80 โพสต์ และนากถูกขายไปแล้ว 204 ตัว นับเป็นสถิติสูงเป็นอันดับที่สองรองจากประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น
ขณะที่ยังมีค้าขายอยู่ในโซเชียลมีเดีย รู้หรือไม่ว่านากเป็นสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยนากทุกชนิดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น นากใหญ่ธรรมดา (Lutra lutra), นากจมูกขน (Lutra sumatrana) นากเล็กเล็บสั้น (Small-clawed otter) และนากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened), ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามลำดับในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List)
ไม่ว่าจะเป็นความน่ารักภายใต้ดวงตาของนากจะยั่วยวนใจคุณแค่ไหนแต่คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะพรากชีวิตนากออกมาจากแหล่งอาศัยรวมถึงไม่มีสิทธิ์หาซื้อนากมาไว้ในครอบครองนอกเหนือจากนั้นบ้านของมนุษย์มิใช่ที่คู่ควรกับนากเพราะแหล่งอาศัยอันเหมาะสมที่แท้จริงของนากก็คือพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสะอาดไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำธารบึงหรือป่าชายเลนล้วนแล้วแต่เป็นบ้านของนากการชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำตามระบบนิเวศในพื้นที่หลายแห่งจึงขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรนาก
นากเหล่านี้มีหน้าที่ตามระบบนิเวศไม่ต่างจากมนุษย์แต่ละคนที่มีหน้าที่อาชีพของตนเองนากกินสัตว์น้ำและชมชอบลูกเหี้ยขนาดเล็กเป็นอาหารพวกเขาคอยรักษาห่วงโซ่อาหารให้เกิดความสมดุล
ราคาเฉลี่ยหลักพันบาทแลกการที่พรานไปขโมยลูกนากอายุตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์จนถึงสามเดือนมาเลี้ยงเชื่อเถิดว่าไม่คุ้มกับการที่คุณต้องกระทำผิดกฎหมายและเลี้ยงดูพวกเขาได้ไม่ดีเท่าธรรมชาติหรอกเพราะชีวิตนากจำเป็นต้องมีปัจจัยหลายอย่างทั้งการใช้พื้นที่กว้างบ่อน้ำต้องสะอาดมีน้ำปรนเปรอเสมอที่สำคัญคือต้องให้อาหารในน้ำตามธรรมชาติในขณะที่ผู้เลี้ยงจะต้องเผชิญกับเสียงร้องที่ดังรบกวนกลิ่นตัวแรงและมีสกิลทำลายข้าวของรวมถึงกัดผู้เป็นเจ้าของคราวนี้เมื่อผู้เลี้ยงประสบปัญหาไม่สามารถเลี้ยงไหวอีกต่อไปนากที่ถูกยัดเยียดความรักให้เป็นสัตว์เลี้ยงก็ต้องกลายไปภาระให้หน่วยงานต่อไปทั้งที่หากพวกเขาได้เติบโตในธรรมชาติจะเป็นการดีกับตัวนากและระบบนิเวศมากกว่า
นอกจากการเติบโตของเมืองจะส่งผลให้นากมีประชากรลดลงแล้ว พื้นที่อันเหมาะสม แหล่งน้ำที่สะอาดตามธรรมชาติยังถดถอยลง โดยการเพิ่มประชากรต่อปีนั้นไม่อาจสู้กระแสภัยคุกคามได้ อีกทั้งเมื่อมนุษย์กระหายที่จะครอบครองชีวิตพวกเขา ยิ่งเป็นการซ้ำเติมและเป็นเหตุให้ชีวิตนากถูกคุมคามอย่างหนัก และมีสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
แหล่งอ้างอิง การศึกษา TRAFFIC – IUCN Otter Specialist Group
นางอายหรือลิงลม
คู่มือการเลี้ยงนางอายแผ่หลาอยู่หน้าการค้นหาในโซเซียลมีเดีย บ่งบอกถึงการไม่เคารพต่อกฎหมายหรือกระทั่งเคารพสิ่งมีชีวิตที่ถูกพรากจากป่า พร้อมมีบุคคลเข้ามาชี้แจงว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไม่สามารถเลี้ยงได้ แต่กระนั้นผู้มีไว้ในครอบครอบยังพยายามดิ้นรนเพื่อให้ตนสามารถเลี้ยงนายอายได้โดยหวังว่าหากดำเนินการตามขั้นตอนจะสามารถเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมาย
แต่เขาหารู้ไม่ว่า ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อเลี้ยงนางอายได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากนางอายไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์ที่สามารถขออนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง ก็ไม่สามารถเลี้ยงได้อย่างถูกต้อง
ฉะนั้นหากคุณอ่านมาถึงตรงนี้โปรดรู้ไว้ว่า การมองหานางอายมาเลี้ยงเป็นการกระทำที่นำไปสู่สิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นจงหยุดเสีย และปล่อยให้นางอายได้อาศัยในแหล่งหากินธรรมชาติที่เหมาะสมต่อไป เพราะเมื่อไม่มีคนต้องการเลี้ยง การล่าเพื่อนำมาค้าขายก็ถึงคราวยุติ
นางอายกินสัตว์เล็กๆ จำพวกแมลง กิ้งก่า นกขนาดเล็กเป็นอาหาร พวกเขาทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์ในระบบนิเวศให้เกิดความสมดุล ขณะที่มันอาศัยอยู่บนต้นไม้ หากินในเวลากลางคืน นอนพักผ่อนในเวลากลางวัน
ส่วนใหญ่ของนางอายที่นำมาขายนั้น กว่าจะได้ลูกนางอายมาขายสักตัวหนึ่ง ขบวนการล่าเกิดขึ้นตั้งแต่การฆ่าแม่แล้วพรากลูกจากอก ก่อนจะถูกทารุณด้วยการตัดเขี้ยวออก เพื่อทอนปัญหาผู้เลี้ยงถูกนางอายกัด เนื่องจากนางอายเป็นสัตว์มีพิษ ขณะที่มันจะกัดศัตรูเพื่อป้องกันตัวเองนางอายจะผสมพิษที่ซ่อนอยู่ใต้ศอกกับน้ำลายและกัด ซึ่งพิษนี้สามารถทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้
นอกจากบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) ได้จัดนางอายให้อยู่ในสถานภาพสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) แล้ว กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ (International Animal Rescue – IAR) ยังเผยข้อมูลว่า นางอายเป็นสัตว์ 1 ใน 25 ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก
ท่าทางการชูแขนขึ้นของนางอายมิได้เกิดขึ้นจากการออดอ้อนหรือต้องการให้มนุษย์กอดหรือเกาคอแต่เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกว่านางอายตัวนั้นหวาดกลัวมากจนต้องชูแขนเพื่อปกป้องตัวเองรู้เช่นนี้แล้วคุณรู้สึกว่าพวกเขาน่ารักหรือน่าสงสารมากกว่ากัน
แต่คุณต้องอย่าลืมว่านายอายเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยในป่าตามธรรมชาติและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยนางอายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และปรากฎอยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 1 ชนิดสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าท้ายบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) โดยอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II)
นอกจากนำนางอายมาเลี้ยงแล้ว การนำมาแสดงโชว์ เปิดให้บุคคลได้ถ่ายรูปเซลฟี่กับสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นนางอาย ชะนี นกฮูกหรือนกเค้าขนาดใหญ่นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากการส่งเสริมขบวนการการค้าขายสัตว์ป่า
ชมคลิปนางอายถูกถอดเขี้ยวก่อนถึงมือผู้เลี้ยง
แมวดาว
สัตว์นักล่าผู้ถูกมนุษย์ล่าไปเป็นสัตว์เลี้ยง ผ่านโฆษณาในโลกออนไลน์ด้วยถ้อยคำชวนเชื่อ “แมวหายาก” ชักจูงลูกค้าผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกให้หลงเชื่อและรับซื้อไปเลี้ยง ยิ่งทำให้คนถูกชักจูงไปในทางที่ผิดและกระทำผิดกฎหมายได้อย่างง่ายดาย
อาการทาสแมวบางรายคงส่งผลต่อการหักห้ามใจที่จะหาแมวดาวมาไว้ในครอบครอง แต่โปรดรู้ไว้เถิดว่า การเลี้ยงแมวดาวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการล่าการค้าขายก็ผิดกฎหมายเช่นกัน หากฝ่าฝืนต้องถูกจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แมวดาว (Leopard Cat) ถือเป็นเสือในสกุล Prionailurus ที่มีขนาดโดยรวมคล้ายแมวบ้าน การที่แมวดาวสามารถปรับตัวให้อาศัยในป่าได้หลากหลายชนิด เช่น ป่าดิบ เขาป่าเบญจพรรณ พื้นที่เกษตรกรรม หรือบางครั้งอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ทำให้ IUCN จัดสถานภาพอยู่ในสภานภาพกลุ่มที่มีความกังวลน้อยที่สุด (Least Concern-LC)
ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลำดับที่ 147 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 กระนั้นมนุษย์ยังคงเย้ยกฎหมายและสร้างภัยคุกคามสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง
แมวดาวไม่เชื่องอย่างที่โฆษณาสัญชาตญาณนักล่าของสัตว์ป่ายังคงอยู่การมีกรงเล็บที่แหลมคมมีไว้เพื่อล่าอาหารในเวลากลางคืนอีกทั้งยังสามารถปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่วและว่ายน้ำได้อาหารจึงค่อนข้างหลากหลายอย่างพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหนูนกสัตว์เลื้อยคลายปลาแมลงและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นอาหาร
ไม่แปลกที่สัตว์ป่าจะมีนิสัยดุร้ายทำร้ายเจ้าของหรือผู้อื่นได้ทุกเมื่อแต่นอกจากนี้เหตุผลที่ไม่ควรเลี้ยงแมวดาวยังมีเรื่องของโรคระบาดร้ายแรงที่มีสัตว์ป่าเป็นพาหนะอาทิโรคซาร์สพิษสุนัขบ้าวัณโรคพยาธิและฉี่หนูที่สามารถติดต่อมาสู่คนและอาจระบาดทำให้มีผู้เสียชีวิตได้
ทางที่ดีหากพบเห็นการซื้อขายเลี้ยงแมวดาวหรือสัตว์ป่าอื่นๆขอให้แจ้งกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบและปราบปรามผู้กระทำผิดต่อไป
แจ้งเบาะแสผ่านเพจ บก.ปทส. Greencop – Thailand, ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง ทางเว็บไซต์ www.dnp.go.th และหมายเลขโทรศัพท์ 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
นกเงือก
ราวสองปีที่ผ่านมาคงมีน้อยนักที่จะไม่เห็นข่าวนกเงือกเกาะบนไหล่คนดี ได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่องไม่ต่างกับวาระแห่งชาติ เกิดคำถามมากมายในประเด็นต่างๆ ต่อนกเงือกที่คอยต้อนรับแขกบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลจากคนดี ราวกับการจูงใจให้ผู้คนหาสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง นำมาซึ่งคำถามต่างๆ นาๆ ว่าทำไมนกเงือกสีน้ำตาลจึงไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้น? แท้จริงแล้วเราสามารถเลี้ยงนกเงือกได้อย่างถูกกฎหมายจริงหรือ? และนกเงือกหายไปไหน?
คุณทราบหรือไม่ว่าการพยายามเสาะแสวงหานกเงือกมาเลี้ยงนั้นไม่ต่างจากการสนับสนุนให้ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าขโมยลูกนกเงือกสักตัวหนึ่งพรานมักจะฆ่ายกครัว พรานจะใช้เครื่องมือขโมยลูกนกออกจากรังแล้วถ่ายภาพประกาศขายผ่านช่องทางออนไลน์และใช้วิธีการส่งของทั้งเคยใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์หรือมอเตอร์ไซต์รับจ้างส่งถึงมือผู้ซื้อหรือส่งผ่านรถทัวร์รถตู้หลายต่อเพื่อเลี่ยงการจับกุมทั้งที่การเพิ่มจำนวนนกเงือกในทุกวันนี้ต้องเผชิญอุปสรรคมากมายจนประชากรนกเงือกหลายชนิดอยู่ในขั้นวิกฤต
ประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิดหนึ่งในนี้คือนกเงือกสีน้ำตาลดังที่เป็นข่าวนกเงือกสีน้ำตาลอยู่ในสถานภาพแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยบริเวณป่าฝั่งตะวันตกของประเทศไทยดังนั้นการพบนกเงือกสีน้ำตาลที่บริเวณเขาใหญ่ทั้งที่ไม่เคยมีรายงานการค้นพบมาก่อนได้สร้างความสงสัยแก่เหล่านักอนุรักษ์นักดูนกและนักวิชาการวงการนกอย่างกว้างขวาง
นกเงือกทั้ง 13 ชนิด ล้วนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่มีการประกาศขายในสื่อออนไลน์พร้อมแนบราคาตามแต่ชนิดนกเงือก ทั้งที่หากมีไว้ในครอบครองจะมีความผิดตามมาตรา 19 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุก ไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีหากมีการล่าสัตว์ป่าดังกล่าวจะมีความผิดตามมาตรา 16 ใน พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแจ้งข้อกล่าวหาต่อคุณวิฑูรย์ กรมดิษฐ์ ซึ่งสารภาพว่าได้นำนกเงือกมาดูแล แม้จะปล่อยกลับคืนสู่ป่าเขาใหญ่ไปแล้วก็ตาม
ปัจจุบันหลายเพจแวดวงการอนุรักษ์ได้รับการแจ้งเหตุการลักลอบการค้าขายสัตว์ป่าทางโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในเหยื่อของขบวนการการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ด้วยความมักง่ายนั้นมีนกเงือกชนิดพันธุ์ต่างๆ รวมอยู่ บางตัวตัวยังแดงๆ บางตัวขนยังขึ้นไม่ทั่วทั้งตัวเสียด้วยซ้ำ
หน้าที่ของนกเงือกมิใช่การปรนเปรอความสุขหรือประดับบารมีมนุษย์ แต่เป็นการปลูกป่าและควบคุมประชากรตามห่วงโซ่อาหารในแหล่งที่พวกเขาอาศัยอยู่ต่างหาก ยิ่งนกเงือกสามารถบินได้ไกลเท่าไหร่ก็ยิ่งปลูกป่าได้บริเวณกว้างมากเท่านั้น
การกักขังนกเงือกด้วยสถานะสัตว์เลี้ยงไม่ต่างจากการเด็ดปีกไม่ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณสัตว์ป่า โบยบินหากินอย่างสัตว์ป่า เพิ่มลูกหลานตามธรรมชาติ เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์และรักษาป่าต่อไป
อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบทั่วกันแล้วว่าการเลี้ยงนกเงือกไม่ว่าชนิดใดล้วนผิดกฎหมายทั้งสิ้นส่วนนกเงือกสีน้ำตาลตัวดังกล่าวนั้นไปโผล่ที่แห่งนั้นได้อย่างไรก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่จนทุกวันนี้บางลือกันว่าเป็นนกที่ถูกเลี้ยงตั้งแต่ยังแบเบาะเพราะมีลักษณะเชื่องและเข้าหาคนซึ่งถือว่าขัดแย้งกับสัญชาตญาณของสัตว์ป่า
รู้จักนกเงือกในประเทศไทยทั้ง 13 ชนิด
ลิงแสม
ขณะเดินชมมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand – WFFT) ตำบลท่าไม้รวกอำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรีเมื่อปีที่ผ่านมามีโอกาสพบเจ้าลิงแสมที่เจ้าหน้าที่แนะนำว่าได้เข้าไปช่วยเหลือมาจากเจ้าของแสนใจร้ายพามารักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับฝูงในบริเวณที่มูลนิธิดัดแปลงพื้นที่บริเวณกว้างให้เป็นป่าคุณเอ็ดวินวีคเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าเล่าว่าปัจจุบันลิงแสมตัวเมียตัวนี้เป็นจ่าฝูง
เจ้าลิงแสมตัวนี้มีแขนเพียงข้างเดียวขาทั้งสองและแขนอีกข้างถูกมนุษย์ตัดทิ้งขณะที่กำลังเต๊ะท่าให้ถ่ายรูปอย่างสง่าก็ค่อยๆเดินเข้ามาใกล้พวกเราเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมากขึ้นนี่คือผลลัพธ์ของการเลี้ยงสัตว์ป่าเมื่อสัตว์ป่าโตขึ้นดุร้ายตามสัญชาตญาณสัตว์ป่าจึงถูกทำร้ายและทอดทิ้งและส่งต่อให้หน่วยหรือองค์กรอื่นดูแลต่อไป
ยกตัวอย่างกรณีน้องมะลิ ลิงแสม เพศเมีย อายุ 3 ปี ที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่ารับมาดูแลเมื่อวันที่ 20 มกราคม ต้นปีที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าได้แจ้งเรื่องไปยังกรมอุทยานฯ ว่ารับลิงมะลิมารักษาและปรับพฤติกรรมก่อนที่จะส่งให้ทางราชการต่อไป ดังนั้นเมื่อแจ้งหน่วยงานไปแล้วจึงไม่สามารถคืนลิงให้เจ้าของได้ เพราะเป็นสัตว์คุ้มครองที่ได้มีการลงทะเบียนไว้
แม้ลิงแสมจะเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หากดำเนินตามขั้นตอนของกรมอุทยานฯอย่างถูกต้องก็สามารถเพาะพันธุ์ได้
ตามธรรมชาติปรกติพวกเขามักอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยตามต้นไม้ อาจพบตามป่าริมน้ำ ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน และบนภูเขาหินปูน ไม่ว่าจะเป็นป่าสมบูรณ์หรือป่ารุ่น ออกหากินตอนกลางวันโดยจะกินพวกผลไม้ เมล็ดพืช และแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร เรามักจะคุ้นกับแก้มป่องๆ ที่พวกลิงแสมชอบกักตุนอาหารไว้ข้างแก้ม และค่อยดันอาหารออกมากินเหมือนเด็กขี้หวงจอมตะกละ
แต่โปรดอย่าลืมว่าเป็นธรรมดาของลิงแสมที่เมื่อเติบโตขึ้นจะยิ่งเพิ่มความดุร้ายตามสัญชาตญาณ เพราะพื้นฐานของลิงแสมเป็นสัตว์ป่า ปัญหาการทิ้งขว้างเมื่อลิงแสมดุร้ายจึงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ อีกทั้งผองของลิง อย่างชะนี ค่างแว่น ล้วนแล้วไม่พ้นวงจรตกเป็นเป้าสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันกับที่เจ้าลิงแสมเหล่านี้ต้องเจอ จะดีกว่าไหมหาปล่อยให้สัตว์ป่าได้อยู่ในป่าตามธรรมชาติ
กรณีมูลนิธิเพื่อนสัตวป่ารับลิงแสมมะลิมาดูแล
จากงานวิจัย สถานการณ์การค้าสัตว์ป่าบนสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย (Illegal Wildlife Trade on Social media in Thailand) ที่ผู้วิจัย คุณอุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารธรรมชาติและนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 มีสัตว์ป่าถูกโพสต์ขายจำนวน 711 ครั้ง แบ่งเป็น 105 ชนิด 1,396 ตัว มีสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายอีกจำนวนหลายชนิด รวมถึงกลุ่มเฟสบุ๊คในชื่อต่างๆ ยกตัวอย่างกลุ่ม “ซื้อ–ขายสัตว์แปลกๆ น่ารักๆ” ที่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 มีจำนวนสมาชิก 53,485 คนปรากฎการเย้ยกฎหมายด้วยการโพสต์บัตรประชาชนบัญชีธนาคารควบคู่กับสินค้านั่นก็คือสัตว์ป่า
แม้กลุ่มเฟสบุ๊คข้างต้นอาจปิดตัวลงไปแล้ว แต่ปัจจุบันกลุ่มเฟสบุ๊คอื่นๆ ได้แพร่หลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้นไม่ต่างกับดอกเห็ด เพียงแค่กลุ่มชื่อ “ซื้อ–ขายสัตว์แปลกๆ น่ารักๆ” ก็มีเวอร์ชั่นพ่วงท้ายชื่อด้วย “V3, v.4 และ v.5” ที่มีสมาชิกตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่นคนแล้วนี่แสดงให้เห็นว่าความต้องการเลี้ยงสัตว์ป่ายังไม่หมดและยังแพร่กระจายวงกว้างมากขึ้นนั่นหมายถึงการล่าสัตว์ป่าจากระบบนิเวศเพื่อนำมาค้าขายยังคงดำเนินต่อไป
ความสัมพันธ์ของสัตว์ป่าและป่าแต่ชนิดและประเภทนั้นเชื่อมโยงด้วยการอาศัยพึ่งพากันและกันมีสัตว์จึงมีป่ามีป่าจึงมีสัตว์หากมนุษย์เข้ามาแทรกแทรงด้วยการล่าไม่ว่าจะซากสัตว์หรือสัตว์ตัวเป็นๆย่อมส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตที่ได้ปรับตัวร่วมกันมาเป็นเวลานับร้อยนับพันปีนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพสร้างผลกระทบต่อสัตว์ป่าอื่นที่อยู่ในระบบห่วงโซ่พลอยสูญพันธุ์ไปด้วยซึ่งการที่ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงแหล่งน้ำลำธารแหล่งอาหารและความแปรปรวนของสภาพอากาศ
“สัตว์ป่าจำนวนมากต้องเสียชีวิตไปเพราะความอยากของคนที่ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของการมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติอันเป็นถิ่นกำเนิดของมัน” สืบ นาคะเสถียร หนังสือประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ปี 2533
แหล่งอ้างอิง ผลกระทบของการค้าสัตว์ป่า