รู้รักษ์ป่า – แหล่งกำเนิดป่าต้นน้ำ

รู้รักษ์ป่า – แหล่งกำเนิดป่าต้นน้ำ

ป่าต้นน้ำ หรือป่าธรรมชาติที่ปรากฎอยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป หรือเป็นพื้นที่ลาดชันมากกว่า 35% ชนิดของป่าไม้ที่มักจะปรากฎให้เห็นในพื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ต้นน้ำที่สำคัญของไทย ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน และจะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดย 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำน่าน

 

หลักการทำงานของป่าต้นน้ำ

เมื่อฝนตกลงมาบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ป่าไม้จะทำหน้าที่แบ่งน้ำฝนออกเป็น น้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน บริเวณพื้นที่ใดมีต้นไม้ปกคลุมอย่างหนาแน่นชั้นเรือนจะช่วยลดแรงปะทะหน้าดินกับเม็ดฝนได้ ทำให้ดินดูดซึมน้ำได้ทันและน้ำในแม่น้ำมีน้ำตลอดทั้งปี รวมทั้งการช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

สถานการณ์ป่าไม้ประเทศไทย 2559-2560

จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม โดยกรมป่าไม้ ระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ หรือเท่ากับ 102,174,805.09 ไร่ (163,479.69 ตารางกิโลเมตร) ลดลงจาก ปี พ.ศ. 2558 ร้อยละ 0.02 หรือ 65,000 ไร่ โดยประมาณ

สาเหตุหลักของการสูญเสียพื้นที่ป่าในประเทศส่วนใหญ่มากจากการทำไร่เลื่อนรอย เช่น การปลูกข้าวโพด จากสถิติการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถึง 2,572,499 ไร่

 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพื้นที่ต้นน้ำลดลง

เมื่อป่าไม้ถูกทำลายลงไปเป็นบริเวณกว้างจะส่งผลความสามารถในการดูดซับน้ำฝนน้อยลง เมื่อดินดูดซับน้ำฝนได้น้อย น้ำฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่จึงเอ่อนองตามผิวดิน และไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เกิดน้ำป่าไหลหลาก และการไหลอย่างรวดเร็วที่ผิวดินนี้ ทำให้เกิดการกัดชะและพัดพาเอาผิวหน้าดินที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารไปด้วย นอกจากนี้อุณหภูมิของอากาศก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยดูดซับความร้อนในชั้นบรรยากาศไว้

 


เรียบเรียง ชฎาภรณ์ ศรีใส เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร