รู้รักษ์ป่า – สารกำจัดวัชพืชกับสิ่งแวดล้อม

รู้รักษ์ป่า – สารกำจัดวัชพืชกับสิ่งแวดล้อม

พาราควอต (Paraquat) และไกลโฟเสท (Glyphosate) เป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมใช้มากที่สุดเนื่องจากสะดวกสบาย ใช้ได้ง่าย ประหยัดเวลา และประหยัดต้นทุนกว่าในการจ้างแรงงาน โดยปกติถ้าใช้สารทั้งสองชนิดนี้ในปริมาณน้อยมักจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไกลโฟเสทสลายตัวด้วยจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินและพาราควอตสลายตัวด้วยแสงแดดจัด

ถึงอย่างไรก็ตาม การสลายตัวของสารทั้งสองชนิดต้องใช้เวลานานมากกว่า 3 สัปดาห์ จึงจะหมดความเป็นพิษ และต้องไม่มีการเติมสารลงมาในพื้นที่นั้นเพิ่มเติมซึ่งจะขัดแย้งกับกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องคอยฉีดสารตลอดเวลาเพื่อคอยควบคุมวัชพืช ทำให้มีสารเกิดการตกค้างลงสู่ดินมากขึ้น ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลกระทบทางอ้อมสารจะทำให้ดินแน่น เสื่อมสภาพ น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ในช่วงฤดูฝน และเกิดการชะล้างดินที่ปนเปื้อนเหล่านั้นไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ในขณะที่ทางตรงจะฆ่าจุลินทรีย์ในดินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในดิน รวมถึงแมลงที่เป็นผู้ช่วยผสมเกสร แมลงตัวเบียนที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติ สัตว์หน้าดิน หรือแม้แต่ในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งลักษณะนี้ เรียกว่า การออกฤทธิ์ต่อสิ่งมีชีวิตบริเวณนั้นไม่ใช่เป้าหมาย หรือ Non-target species

จากสาเหตุข้างต้นไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเลยที่ว่า ทำไมพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรปริมาณมากๆ ดินถึงเสื่อมสภาพไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือผลผลิตของพืชเริ่มลดลง สาเหตุจริงๆ คือ บริเวณนั้นเกิดการหายไปของความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นส่วนช่วยให้ระบบนิเวศนั้นอยู่ในจุดสมดุล เมื่อระบบนิเวศเกิดการรบกวนจากสารกำจัดวัชพืชจนถึงขั้นการล่มสลาย

“พื้นที่บริเวณนั้นจึงไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นแบบเดิมได้”

 


เรื่อง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร