รู้รักษ์ป่า – การเลี้ยงดูลูก

รู้รักษ์ป่า – การเลี้ยงดูลูก

สิ่งมีชีวิตมีแต่ละชนิดมีความสามารถในการเลือกคู่เพื่อสืบทอดพันธุกรรมที่แตกต่างกันไป ความแตกต่างในการเลือกคู่ผสมพันธุ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดวิวัฒนาการและความหลากหลายของชนิดพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เพศเมียเป็นฝ่ายเลือกเพศผู้

บางชนิดใช้พลังงานส่วนใหญ่เพื่อเลี้ยงดูลูกของตัวเอง เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางชีววิทยาเรียกพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ว่า parental care

 

รู้หรือไหม? คน และไพรเมต (Primates) การเลี้ยงลูกก็คือ Parental care ที่เป็นพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกอย่างดี นอกจากคนและลิงแล้ว ยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็มีวิธีการเลี้ยงลูกแตกต่างกันไป เราจึงอยากจะขอนำเสนอการเลี้ยงดูลูกของนกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อป่า นั้นคือ นกเงือก หรือนักปลูกป่านั่นเอง

หลังจากพ่อและแม่นกเงือกตัดสินใจที่ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน นับต่อไปนี้อีก 3 เดือน แม่นกเงือกจะทำหน้าที่กกไข่ เมื่อลูกเจริญเติบโตขึ้นก็จะสอนให้ลูกนกปิดปากโพรง ในขณะเดียวกันพ่อนกที่อยู่ด้านนอกโพรงต้องคอยหาอาหารเพิ่มอีกเท่าตัวเพื่อให้แม่และลูกอยู่รอดในโพรง

เมื่อลูกนกเติบโตขึ้นแม่นกจะออกจากโพรงรังเพื่อเพิ่มพื้นที่ในโพรงให้มากขึ้น จนกระทั่งลูกนกพร้อมโบยบินออกจากโพรงรัง พ่อและแม่นกจะสอนให้ลูกบิน สอนหาอาหารกินเอง และวิธีการหลบหลีกศัตรู

ชวนชมสารคดี พินัยกรรมธรรมชาติ “แรกบิน”

 

 

“นักล่าแม่ลูกอ่อน” เป็นฉายาของ แมงมุมหมาป่า (Wolf Spider) แมงมุมกลุ่มนักล่าที่อยู่ในตระกูล Lycosidae ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนสลับสีดำ จะออกหากินในเวลากลางคืน ซึ่งอาหารของพวกมันได้แก่ แมลงที่มีขนาดเล็ก เพลี้ยกระโดด ฯลฯ

ความพิเศษของแมงมุมหมาป่า เพศเมียจะมีลูกเกาะอยู่บนหลังเป็นจำนวนมาก โดยที่ใต้ท้องของเพศเมียจะถุงเพื่ออุ้มไข่ไว้ เมื่อตัวอ่อนฟักออกมาก็จะเกาะติดอยู่บนหลังแม่ของมันหรือจนกว่าลูกของมันจะสามารถหากินได้เอง

มันยังสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและว่องไว สายตาของมันมองเห็นได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้มันสามารถจับเหยื่อได้อย่างแม่นยำ และไม่ต้องสร้างใยดักเหยื่อเหมือนแมงมุมทั่วๆ ไป

 

 

ชะนี เป็นสัตว์ที่ถือได้ว่าสามารถเป็นตัวดัชนีชี้วัด (indicator) ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และยังเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกอย่างดี หลายๆ คนที่ไปเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติคงจะได้เห็นลูกน้อยเกาะที่อ้อมอกของแม่ชะนี (infant carrying)

แม่ชะนีจะมีพฤติกรรมในการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยที่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง โดยในขณะที่แม่ชะนีเลี้ยงลูกจะมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่เด่นชัด 3 พฤติกรรม ได้แก่ พฤติกรรมให้ลูกเกาะอก พฤติกรรมให้นมลูก การทำความสะอาดขน และนอกจากนี้ยังสามารถป้องกันอันตรายจากผู้ล่า เช่น เหยี่ยว งูหลามหรืองูเหลือม

การที่ลูกชะนีเกาะอยู่ที่อกของแม่ชะนีแล้ว ยังได้เรียนรู้วิธีการดำรงชีวิตต่างๆ เช่น วิธีการหาอาหาร อาทิ แมลง และผลไม้ต่างๆ ฝึกสังเกตลักษณะต้นไม้ที่ใช้หลับนอน วิธีการหลบหลีกผู้ล่า ตลอดจนพฤติกรรมทางสังคม

แหล่งข้อมูล : พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของแม่ชะนีมือขาว

 

 

ม้าน้ำ (Seahorses) จัดเป็นปลากระดูกแข็งชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างไปจากปลาทั่วไปๆ ม้าน้ำไม่มีเกล็ด แต่มีเกราะแข็งเป็นข้อ ๆ ปกคลุมลำตัวแทน มันไม่มีครีบหาง แต่มีหางยาวใช้สำหรับยึดเกาะกับปะการังที่อยู่ใต้น้ำ

นอกจากหน้าตาและรูปร่างโดดเด่นของมันแล้ว วงจรชีวิตของมันก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

ม้าน้ำตัวเมียวางไข่หลายพันใบลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ ตัวผู้จะผสมน้ำเชื้อเข้าไปแล้วปกป้องตัวอ่อนไว้จนฟักเป็นตัว เยื่อบุถุงจะปล่อยอาหารเหลวออกมาเลี้ยงตัวอ่อนที่กำลังเติบโต ประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกม้าน้ำตัวน้อยก็จะออกมาเผชิญกับโลกภายนอก

ข้อมูลในประเทศไทยพบว่า สามารถพบม้าน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ (1) ม้าน้ำหนาม (2) ม้าน้ำ 3 จุด (3) ม้าน้ำแคระ และ (4) ม้าน้ำดำ

ม้าน้ำเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ได้รับสมญานาม “ความรักซื่อสัตย์” ต่อคู่ครอง เพราะเมื่อม้าน้ำตัวผู้และตัวเมียตกลงปลงใจที่จะอยู่ด้วยกันแล้ว ก็จะอยู่คู่กันแบบที่เรียกว่า “ผัวเดียว เมียเดียว” ไปจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะตายจากกันจึงจะหาคู่ใหม่

อ้างอิงข้อมูลจาก สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา

 

 

คางคก กบ ปาด และเขียด โดยทั่วไปจะออกไข่ไว้ ในน้ำเป็นสายๆ มีวุ้นหุ้ม หรือพวกปาดจะมีการก่อวอดไว้ห่อหุ้มไข่เอาไว้

เมื่อตัวอ่อนฟักจะเรียกว่า “ลูกอ๊อด” คล้ายปลามีหาง ระยะนี้มีการพัฒนาของเหงือกไว้ช่วยหายใจ ก่อนจะเจริญเติบโตมีขางอก หางลดรูปลง และหายใจด้วยปอด กลายเป็นกบแบบที่เห็นกัน

คางคกบางชนิดที่มีการเลี้ยงดูลูกพิเศษกว่ากบหรือคางคกทั่วๆ ไป คือ “เจ้าคางคกสุรินัม (Surinam toad)” พบอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มันเลี้ยงลูกด้วยวิธีประหลาดมาก คางคกตัวเมียจะเก็บไข่ไว้บนหลังของมัน

ผิวหนังบนหลังของมันมีช่องสำหรับใส่ไข่มากถึง 200 ฟอง คางคกตัวผู้จะช่วยดันท่อวางไข่ขึ้นไปไว้บนหลังตัวเมีย แล้วจึงค่อยวางไข่บนหลังนั้น แม้จะมีไข่เต็มหลังนางคางคกก็ใช้ชีวิตตามปกติ

ราว 80 วัน ลูกของมันจะออกจากไข่เหมือนเปิดประตูออกจากห้องนอน นอกจากจะมีชีวิตการสืบพันธุ์ที่ประหลาดแล้ว คางคกสุรินัมนี้ยังมีรูปร่างประหลาดอีกด้วย ตีนหน้าของมันมีนิ้วสี่นิ้วยาวเล็กเรียว แต่ตีนหลังนิ้วทั้งสี่ของมันกลับมีพังผืดติดอยู่เหมือนตีนเป็ด ไม่เหมือนคางคกในบ้านเรา

ถึงแม้ว่ากบและคางคกบ้านเราส่วนใหญ่ไม่มีการเลี้ยงดูแบบเจ้ากบสุรินัม แต่ก็มีบางชนิด เช่น กบทูด กลุ่มปาดจิ๋ว ที่มีพฤติกรรมการเฝ้าไข่ของแม่ที่เฝ้าดูลูกไม่ห่าง

วีดีโอการดูแลลูกของคางคกสุริยัน

 


เรื่อง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร