ย้อนกลับไปกลางทศวรรษที่ 2510 ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาก่อชมรมอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเมื่อถึงช่วงปี 2515 ได้เกิดแนวคิด 2 กระแส นั่นคือ แนวคิดสีเขียว ที่เกี่ยวข้องกับชีวาลัย และแนวคิดเขียวซ้าย ซึ่งผูกโยงกับการเมือง
ดังนั้น การอนุรักษ์กับการเมืองเป็นสิ่งที่แทบจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จนปรากฏขบวนการนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวในบางกรณี ยกตัวอย่างกรณีดังๆ ได้แก่
เหตุการณ์ทุ่งเซซาโว่ ที่ทุ่งเซซาโว่ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ทหารได้ตั้งค่ายเพื่อฉลองวันเกิดและใช้อาวุธล่าสัตว์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่โชคร้ายที่เฮลิคอปเตอร์เกิดอุบัติเหตุตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ทำให้มีคนเสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่า เช่น เขากระทิงจำนวนมาก ด้านจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าวอ้างว่ามีภารกิจไปปฏิบัติหน้าที่ราชการคุ้มครองผู้นำประเทศพม่า ทำให้นักศึกษาเกิดความไม่พอใจ นำไปสู่เกิดการประท้วงของนักศึกษา 9 คน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากนั้นนักศึกษาเหล่านี้ถูกลบชื่อจากการเป็นนักศึกษา รวมถึงเกิดกระแสอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่องถึง 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์มหาวิปโยค
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมนี้ ได้ก้าวเข้าสู่ยุคของการฟื้นฟู นักศึกษาสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง การต่อต้านสหรัฐอเมริกา การต่อต้านการพัฒนาที่กระทบสิ่งแวดล้อมจากปัญหาอุตสาหกรรม เช่น การต่อต้านสถานีเรดาร์อินทนนท์, เขื่อนมาบประชัน, เท็มโก้ การขุดแร่ในทะเลอันดามัน, น้ำเสีย แม่น้ำแม่กลองเน่า และสถานีเรดาร์เขาสอยดาว
ปลายปี 2519 ระบอบเผด็จการเริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดการต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม นำไปสู่การปะทะ นักศึกษาจำนวนมากตัดสินใจเข้าป่าจับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้าน หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สถานการณ์เดินเข้าสู่ยุคมืด มีการเคลื่อนไหวของปัญญาชน สร้าง ‘หนังต้องห้าม’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อคัดค้านเขื่อนผาทอง จังหวัดเลย หากสร้างเขื่อนผาทองเสร็จจะกลายเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกามีความต้องการที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หลังจากนั้นไม่นานชมรมอนุรักษ์ถูกฟื้นฟูกลับมาเป็นชมรมแรกๆ ของขบวนการนิสิตนักศึกษา ซึ่ง สนั่น ชูสกุล นักสิ่งแวดล้อมเป็นคนยุคฟื้นฟูนั่นเอง
ต่อมาปี 2521 ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม (คอทส.) และปี 2525 มีการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนน้ำโจนครั้งแรก บทเรียนจากเขื่อนศรีนครินทร์/เขาแหลม น้ำทะเลหนุนที่ปากแม่น้ำแม่กลอง เมื่อปี 2528 มีการจัดตั้งและพยายามให้ชมรมอนุรักษ์ร่วมประชุมพูดคุยและตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย
มีกรณีสำคัญหลายอย่าง เช่น ในปี 2529 มีการก่อสร้างโรงงานแทนทาลั่มที่จังหวัดภูเก็ต เกิดการชุมชนประท้วง รณรงค์ เกิดการปะทะจากคนภูเก็ต, คอสท. 15 สถาบัน 23 มิถุนายน เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ที่สุดนอกเมืองหลวงเกิดเหตุการณ์เผาโรงงาน
นายกรัฐมนตรีในยุคนั้นต้องการเขื่อนน้ำโจน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งที่ใหญ่ที่สุดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีกลุ่มคนจาก คอทส. ศนท. ค่ายราม ชมรมอื่นๆ คนเมืองกาญจน์ สื่อมวลชน สาธารณชน และ NGOs ได้ร่วมเคลื่อนไหว ซึ่งขณะนั้นเองต้องระวังศัตรูรอบตัว ทั้งรัฐบาล สันติบาล แต่เชื่อว่ามวลชนเป็นเหมือนผนังทองแดง ต่อสู้กันจน 25 มีนาคม 2531 รัฐบาลได้ประกาศชะลอโครงการ และมีมติ ครม. ออกมา จนทุกวันนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก ซึ่งหนึ่งในเหตุผลของการเป็นมรดกโลกเพราะยูเนสโก้เห็นว่าประชาชนร่วมใจกันอนุรักษ์พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งไว้
ในช่วงเดียวกันนั้นเองได้เกิดปัญหาขึ้นจำนวนมาก นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2528 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการปลูกป่าทุ่งกุลาร้องไห้ 2.1 ล้านไร่ เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านภาคอีสานกับรัฐบาล ขบวนการนักศึกษาได้เคลื่อนไหวออกค่ายชุมชน เพื่อลงไปเก็บข้อมูลเรื่องป่าชุมชนได้ 7 กรณี และนำข้อมูลเหล่านี้ให้นักวิชาการนำไปเสนอแก่รัฐสภา เกิดเป็นป่าชุมชนขึ้นมาในประเทศไทย
ต่อมาประเทศไทยเริ่มมีความต้องการพัฒนาไปสู่การเป็น NICS (Newly industrialized Countries) เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย นักศึกษาลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านการสร้างเขื่อน แก่งกรุง เหวนรก ปากมูล แก่งเสือเต้น แม่วงก์ เขื่อนและการผันน้ำโขง-ชี-มูล โขงและสาละวิน แต่สิ่งสำคัญคือสังคมเกิดความคิดที่จะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สัตว์ พื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันกับทรัพยากรอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ยกระดับความคิดทางสังคมให้การมองสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว
และปี 2538 สมัชชาคนจนได้ถูกก่อตั้งขึ้น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาได้อ่อนแอลงและสุดท้ายมาถึงการล่มสลายของขบวนการนิสิตนักศึกษาอนุรักษ์ แม้ว่าชมรมจะยังคงอยู่ แต่กลับไม่เกิดกระบวนการความเคลื่อนไหว ความเข้มแข็งได้ถูกลดทอนลงไป อีกทั้ง NGOs เพิ่มมากขึ้นและมีกำลังมากกว่า อาจส่งผลให้บทบาทการทำงานของขบวนการนักศึกษาลดลงไป
เมื่อมาถึงกระแสการเดินหน้าต่อต้านเรื่องเขื่อนแม่วงก์ นักศึกษาเริ่มกลับมามีบทบาทและตัวตนอีกครั้ง เกิดกลุ่มเล็กๆ มาให้กำลังใจขณะเดินหน้าเรื่องเขื่อนแม่วงก์ และงานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษากับงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 นี้ที่เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์เป็นก้าวแรกที่สำคัญ
“ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์ในปัจจุบันกำลังเผชิญวิกฤตเต็มไปหมด แต่ทำไมบทบาทขบวนการนักศึกษายังไม่เติบโตตามปัญหาที่ใหญ่ขึ้น คำตอบนั้นมาจากความคิดของพวกเรานักศึกษาเอง ที่ต้องมาจับมือคุยกันว่าเราจะมีบทบาทต่อเรื่องราวปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้อย่างไร”
บทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
บทความข้างต้นถอดความจาก งานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษากับงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ช่วงของ อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม ได้บอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของนิสิตนักศึกษา ถึงบทบาททางประวัติศาสตร์ทางการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และนับเป็นครั้งแรกจากเวลายี่สิบกว่าปีแล้วที่ไม่ได้พูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม