ทำไมปากของนกถึงมีลักษณะแตกต่างกัน ?

ทำไมปากของนกถึงมีลักษณะแตกต่างกัน ?

เป็นเพราะปากนกนั้นมีความสัมพันธ์กับอุปนิสัยและความเหมาะสมกับอาหารในแต่ละประเภท

หากเปรียบดูแล้ว…ปากของนกนั้นก็มีหน้าที่เหมือนกับช้อน ส้อม หรือมีด ที่มนุษย์ใช้หยิบจับอาหาร นั่นเอง

 

กลุ่มที่กินพืชเป็นอาหารหลัก

เช่น เมล็ดพืชต่างๆ และน้ำหวานดอกไม้ เป็นต้น ประกอบด้วย ปากโค้ง (decurved) เป็นปากที่มีความยาวและส่วนปลายของปากมีลักษณะโค้งลง โดยนกแต่ละชนิดจะมีความโค้งของปากมากน้อยแตกต่างกันไป นกที่มีปากลักษณะนี้กินอาหารจำพวกแมลง หรือกินน้ำหวานจากดอกไม้ เช่น พวกนกจาบคา นกกินปลีและนกปลีกล้วย นกกระรางหัวขวาน เป็นต้น

ปากหลอด (Terrate) เป็นปากที่พบได้ในนกฮัมมิ่งเบิร์ด โคนและปลายปากคว่ำ ความยาวของปากจะเสมอกันหรือใกล้เคียงกัน หากดูจากด้านข้างจะมีลักษณะคล้ายหลอดดูด ใช้สำหรับกินน้ำหวานดอกไม้

ปากกรวย (conical) จะพบในปากของพวกนกกระจอก นกกระจาบ นกกระติ๊ด และนกจาบปีกอ่อน เป็นต้น มีลักษณะเป็นปากที่สั้น โคนปากมักจะใหญ่และแหลมไปทางปลายทันทีทันใด ใช้สำหรับกินเมล็ดพืชหรือธัญพืชต่างๆ รวมไปถึงพวกแมลง และหนอน เป็นต้น

ปากไขว้ (Crossed) นกที่มีปากลักษณะนี้ คือ กลุ่มนกปากไขว้ โดยมีลักษณะปากที่สั้น ปลายปากบนและปลายปากล่างจะไขว้ซึ่งกันและกัน ใช้ในการหากินอาหารจำพวกเมล็ดพืชและผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะ ปากลักษณะนี้ทำให้นกสามารถเด็ดผลไม้ออกจะขั้วได้ดีขึ้น

กลุ่มนกที่กินสัตว์เป็นอาหารหลัก

กลุ่มที่กินสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก จำพวกแมลง ไปจนถึงปลา…โดยเริ่มที่นกที่กินพวกแมลงหรือหนอนเป็นหลัก มีลักษณะปาก 3 แบบด้วยกัน คือ ปากซี่ฟัน ปากแหลมคม และปากเจาะ

กลุ่มที่ 2 คือนกที่กินพวกสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหรือเป็นเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา เช่น ปลา กุ้ง หอย เป็นต้น กลุ่มนี้มีลักษณะปาก 5 แบบด้วยกัน คือ ปากแอ่น ปากแบนข้าง ปากส้อมหรือปากปลายโป่ง ปากช้อน และปากฟันเลื่อย

กลุ่มนกที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหารหลัก

ปากตรง (straight) จะมีลักษณะปากที่ยาวเมื่อเทียบกับส่วนหัว แนวสบปากตรงกัน เป็นปากสำหรับการหากินตามชายน้ำ หรือพืชลอยน้ำ และกินอาหารได้หลากหลายเช่น ปากของนกกระเรียน นกอ้ายงั่ว นกยาง เป็นต้น

ปากแบนหรือปากเป็ด (depressed) จากชื่อก็น่าจะทราบว่าเป็นปากของนกจำพวกเป็ดต่างๆ ยกเว้นพวกนกเป็ดผี (ปากไม่แบนเหมือนเป็ด จัดอยู่คนละวงศ์กับพวกเป็ด) โดยนกกลุ่มเป็ดน้ำจะมีลักษณะปากที่ค่อนข้างสั้น ไม่มีสันขากรรไกรบนหรือสันไม่ชัดเจน จะกินอาหารจำพวกพืชหรือสัตว์น้ำต่างๆ

ปากทู่ (obtuse) จะพบปากลักษณะในพวกไก่ โดยมีลักษณะปากที่อาจจะยาวหรือสั้น ค่อนข้างเรียว ปลายปากแหลมแต่ไม่คม ใช้ในการหากินตามหน้าดิน กินพวกแมลงหรือเมล็ดพืชต่างๆ

ปากกรอง (lamella or sieve-billed) พบในปากของหงส์ หรือห่าน ลักษณะปากที่ค่อนข้างยาว บริเวณขอบปากจะมีลักษณะคล้ายฟันกลับ เป็นร่องมีรูพรุน ใช้สำหรับการกินสัตว์น้ำ โดยจะกินอาหารเข้าไปพร้อมกับน้ำ แล้วกรองเอาเฉพาะอาหารกลืนลงไป ส่วนน้ำจะถูกขีบออกมาผ่านรูพรุงดังกล่าว

ปากปม (gibbous) พบในนกเป็ดน้ำบางชนิด พวก Scoter, Eider โดยอาจเป็นปากที่สั้นหรือยาว บริเวณปลายปากบนมีปุ่มหรือปมขึ้นมา ไม่ทราบหน้าที่แน่ชัด

ปากงอ (bent) เป็นปากที่พบได้ในนกฟลามิงโก มีลักษณะเป็นปากที่ค่อนข้างยาว โดยทั้งปากบนและปากล่างหักงอเป็นมุมลงมาข้างล่างบริเวณของแต่ละปาก ใช้ในการหากินพวกสัตว์น้ำ

ปากขอหรือปากเหยี่ยว (hooked) ปากลักษณะนี้สามารถพบได้ในนกที่มีลักษณะการกิน 2 ประเภท คือ กินสัตว์เป็นหลัก พบในกลุ่มนกนักล่า เช่น นกเค้า นกอินทรี อีแร้ง เหยี่ยวต่างๆ และนกที่กินเมล็ดพืชเป็นหลัก เช่น นกแก้ว นกหก นกแสก เป็นต้น โดยจะมีลักษณะปากที่สั้น ปากบนจะยาวกว่าปากล่าง และปลายปากบนจะโค้งงอลงมายังปลายของปากล่าง

ปากแบบโครงสร้างพิเศษ

นอกเหนือจากปากลักษณะต่างๆ ที่ได้ทราบกันไปแล้ว ยังมีปากที่เป็นโครงสร้างพิเศษ ซึ่งมีผลต่อการสืบพันธุ์ หรือใช้ในการจำแนกเพศของนกได้อีกด้วย โดยลักษณะปากที่เป็นโครงสร้างพิเศษ ดังเช่น

โหนกแข็ง (casque) เป็นโครงสร้างลักษณะคล้ายกระดูกบวมโตขึ้นมาบริเวณขากรรไกรบน ปกติจะกลวง แต่ก็มีนกบางชนิดที่มีโครงสร้างนี้ตัน นกที่มีโหนกแข็ง เช่น นกกาฮัง นกแก๊ก นกชนหิน และนกเงือกต่างๆ

หงอน (comb) เป็นโครงสร้างลักษณะคล้ายแผ่นหนังบวมโตขึ้นไปบริเวณขากรรไกรบน ปกติเป็นรูปครึ่งวงกลม เช่น เป็ดหงส์ และห่าน เป็นต้น หงอนของไก่ (cock’s comb) บนส่วนหัวไก่ก็จัดเป็นโครงสร้างแบบเดียวกันนี้

หนังจมูก (cere) เป็นโครงสร้างลักษณะคล้ายแผ่นหนัง มักจะแผ่อยู่ตอนกลางของขากรรไกรบน และบางครั้งก็ปิดทับรูจมูก เช่น ปากของเหยี่ยว นกแก้ว และนกเค้าต่างๆ เป็นต้น

แผ่นปิดจมูก (operculum) เป็นโครงสร้างคล้ายกระดูกผสมเนื้อ อยู่บริเวณตอนกลางของขากรรไกรบน อาจจะปิดทับรูจมูกเอาไว้ นกที่มีฝาจมูกมีพวกเดียวคือ นกพิราบ

กะบัง (shield) เป็นโครงสร้างลักษณะคล้ายกระดูกแผ่ขึ้นไป จากโคนขากรรไกรบน จนถึงหน้าผาก บางครั้งจึงเรียกว่ากะบังหน้า (frontal shield) ปกติจะมีเฉพาะในตัวผู้ และเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น แต่บางชนิดก็มีทั้ง 2 เพศ และมีตลอดปี ตัวอย่างนกที่มีกะบัง เช่น นกอีโก้ง นกอีล้ำ นกอีลุ้ม และนกคูต เป็นต้น

 


ที่มา : เอกสารประกอบการสอนวิชาปักษีวิทยาป่าไม้ (Ornithology) โดย รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค
ภาพประกอบ กชกร พันธุ์แสงอร่าม เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร