ด้วยปีกแห่งพงไพร นกเงือกไทย

ด้วยปีกแห่งพงไพร นกเงือกไทย

คนไทยมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปคงจะคุ้นเคยกับชื่อ “นกเงือก” เพราะเคยได้เห็นหรือได้ยินมาบ้าง หากมีอายุน้อยกว่านี้จะต้องลูกทุ่งอยู่สักหน่อย จึงจะรู้จัก “นกเงือก”

นกเงือก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Hornbill” มีอยู่ด้วยกันถึง 54 ชนิดในโลก พบได้ในป่าเขตร้อนของทวีปอาฟริกาและเอเซียเท่านั้น ในประเทศไทยมีอยู่ถึง 13 ชนิด* นกเงือกมีหน้าตาออกจะโบราณสักหน่อย ไม่มีสีสันสวยงามนัก สีขนมักมีสีดำ-ขาวที่แปลกออกไปบ้างคงสีน้ำตาล เทา มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บางชนิดอาจมีขนาดตัวถึง 1.5 เมตร ความกว้างของปีกที่กางออกอาจถึง 2 เมตร เช่น นกกก แต่มีลักษณะที่น่าขันคือ มันมีปากใหญ่ผิดสัดส่วนกับหัวแถมมี “โหนก” เหนือปากทำให้ดูเกะกะลูกตา และทำให้ดูเหมือนว่าเจ้านกเงือกต้อนคอนโหนกที่ดูหนักอึ้งเกินความจำเป็น ลักษณะของโหนกหรือ casque ที่ว่านี้ ลวงตาว่าดูหนัก ที่จริงโหนกเป็นโพรง ยกเว้นโหนกของนกชนหิน (Helmeted Hornbill) ที่ตันดุจเดียวกับงาช้าง เจ้าโหนกของนกเงือกนี้จะช่วยเราจำแนกชนิดของนกเงือกได้โดยง่าย เพราะจะมีความแตกต่างกันออกไป บ้างก็มีขนาดใหญ่ แบนกว้างเช่นโหนกของนกกก บ้างก็มีรูปทรงกระบอกทอดนอนตามความยาวของจะงอยปากดูคล้ายกล้วยหอม แต่มีปลายงอนขึ้น เช่น โหนกของนกเงือกหัวแรด บ้างก็มีโหนกขนาดเล็กเล็กเป็นหยักเป็นลอนดูคล้ายกรามช้าง เช่น นกเงือกกรามช้าง ที่ไม่มีโหนกก็มีเช่น นกเงือกคอแดง

นกเงือกมีส่วนหนังเปลือยเป็นสีฉูดฉาดอยู่บ้าง เช่น หนังบริเวณคอ ขอบตา เป็นต้น มีขนตายาวงาม ขาสั้น ชอบกระโดด ลิ้นสั้นจึงกินอาหารโดยจัดอาหารอยู่ที่ส่วนปลายปากแล้วโยนกลับลงคอไป

ปกตินกเงือกจัดได้ว่ากินอาหารทั้งผลไม้และสัตว์เล็กๆ แต่ผลไม้พวก “ไทร” ดูจะเป็นอาหารหลักของนกเงือกเอเซีย

นอกจากเสียงร้องดังแล้ว นกเงือกเป็นนกที่บินเสียงดังมากโดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ เสียงดังนี้เกิดจากที่อากาศผ่านช่องว่างระหว่างโคนขนปีก เนื่องจากนกเงือกไม่มีขนคลุมใต้ปีก เมือกกระพือปีกแต่ละครั้งจึงเกิดเสียงดังราวกับรถจักรไอน้ำและหากนกเงือกขนาดใหญ่บินมาเป็นฝูงทำให้เกิดเสียงดังราวพายุ

อุปนิสัยในการทำรังของนกเงือกเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัวของนกในวงศ์นี้ (Bucerotidae) คือ ทำรังโพรงไม้ แต่มันไม่สามารถเจาะรังได้เองอย่างนกหัวขวาน แต่จะเสาะหาโพรงที่มีอยู่โดยธรรมชาติหรือที่มีสัตว์อื่นทำให้เกิดขึ้น ที่แปลกคือไม่เพียงแต่เข้าไปอยู่ในโพรงนกเงือกตัวเมียยังปิดปากโพรงเสียด้วยวัสดุต่างๆ อันได้แก่ มูลของมันเอง เศษไม้ ดิน เป็นต้น ผสมกันพอกปากโพรงให้เล็กลงจนเหลือเพียงช่องแคบๆ เพียงพอที่พ่อนกจะส่งอาหารผ่านด้วยจะงอยปาก นกเงือกตัวเมียจะออกไข่ ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้ จึงจะกะเทาะปากโพรงออกมา ซึ่งกินเวลาประมาณ 3-4 เดือน

 

ในป่าทางตะวันตกของประเทศไทย เช่น ป่าแก่งกระจาน หรือป่าห้วยขาแข้ง และในประเทศพม่า จะพบชนิดย่อยของนกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) วึ่งจะมีส่วนล่างของลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงตลอด นักปักษีบางท่านจัดนกเงือกสีน้ำตาลนี้เป็นนกเงือกอีกชนิดหนึ่ง / PHOTO สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

 

ชีวิตรักของนกเงือกเริ่มต้นราวกลางเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เราจึงจะเห็นนกเงือกอยู่ด้วยกันเป็นคู่ ส่วนใหญ่แล้วตัวผู้จะเสาะหารัง ตัวเมียจะคอยติดตามไปดูด้วยและตัดสินใจว่าพอใจโพรงนี้รึเปล่า เพราะตนจะต้องอยู่ในโพรงนี้อีกหลายเดือน

โพรงรังของนกเงือกซึ่งศึกษาที่เขาใหญ่จะพบในต้นไม้ตระกูลยางมากที่สุด โดยขนาดของต้นไม้ที่มีโพรงใหญ่พอ หากวัดที่ระดับความสูงของหน้าอกคนวัดเส้นผ่าศูนย์กลางตกราวๆ 1 เมตร ปากโพรงจะต้องไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไปขนาดพอดีๆ ก็ตกราว 20 x 12 ซม. ความสูงของเพดานรังกว่า 1 เมตร ขึ้นไป พื้นโพรงรังต้องไม่ลึกต่ำกว่าขอบประตูล่างมากนัก ความกว้างภายในโพรงใหญ่พอประมาณ 50 x 40 ซม. โดยปกตินกเงือกจะใช้โพรงปีแล้วปีเล่า หากโพรงนั้นยังเหมาะสมอยู่ ตัวผู้จะเชิญชวนตัวเมียให้เข้าไปดูรังด้วยการโผบินไปเกาะปากโพรง แล้วยื่นหัวเข้าไปสำรวจภายใน บินเข้าออกหลายครั้ง ในขณะเดียวกันก็เกี้ยวพาราสีกันด้วย ตัวผู้จะกระแซะเข้าใกล้ตัวเมียและพยายามป้อนอาหารซึ่งได้แก่ ผลไม้ให้ตัวเมีย บางคู่อาจใช้เวลานานหลายวันกว่าตัวเมียจะสนใจและยอมบินมาดูรัง

เมื่อคิดว่าโพรงที่เหมาะเป็นที่ถูกใจแล้วตัวเมียจะเริ่มงานทันที ถ้าปากโพรงแคบไปเนื่องจากการเจริญเติบโตของต้นไม้นกจะเจาะปากโพรงให้กว้างอีกเล็กน้อย กะเทาะวัสดุปิดรังเก่าๆ ออก แล้วจะมุดเข้าไปในโพรง จากนั้นตัวเมียจะทำความสะอาดภายในโพรงโดยการคาบเศษเมล็ดผลไม้เก่าๆ เศษขนของปีก่อนโยนทิ้ง แล้วเริ่มปิดปากโพรงเสียใหม่ วัสดุที่หาได้จะถูกผสมกับมูลของตัวเมียรวมทั้งอาหารที่สำรอกออกมาแล้วพอกลงบนปากโพรงที่เปรียบเหมือนประตู โดยใช้จะงอยปากด้านข้างตีให้ติดกัน เมื่อวัสดุนี้แห้งจะแข็งและเหนียวมาก ตัวผู้อาจช่วยหาวัสดุเช่นดิน หรือเปลือกไม้มาให้ แล้วแต่ชนิดของนกเงือกว่าชอบประตูที่ทำด้วยวัสดุอะไร เช่น นกกกใช้เปลือกไม้ เศษไม้ผุๆ เศษอาหารแต่ไม่ใช้ดินเลย ตรงข้ามกับนกแก๊กจะใช้ดินเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ตัวผู้จะคอยเฝ้าเป็นเพื่อนอยู่ข้างนอกเกือบตลอดเวลา และคอยป้อนอาหารหลังจากตัวเมียเสร็จงานปิดโพรงในแต่ละวัน บางคู่จะส่งเสียงเบาๆ ราวกับปลอบประโลมให้ตัวเมียอุ่นใจ และเมื่อหากตัวผู้แวบหายไปชั่วครู่ชั่วยาม ตัวเมียจะละงานปิดโพรงตามไปทันที ตัวผู้จะต้องพากลับมาที่โพรงอีกจะใช้เวลาปิดปากโพรงอยู่ราว 3-7 วัน

เมื่อตัวเมียขังตัวเองอยู่ภายในโพรงเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลอย่างเคร่งครัดน่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี ในระยะแรกๆ ในการทำรังคือช่วงตัวเมียฝักไข่ การป้อนอาหารจะไม่บ่อยนัก ราววันละ 2-3 ครั้ง อาหารส่วนมากจะเป็นพวกผลไม้ ระยะนี้ตัวผู้พอมีเวลาให้กับตัวเองบ้างก็จะแต่งตัวให้หล่ออยู่เสมอ ส่วนตัวเมียก็จะถือโอกาสนี้ผลัดขนเสียใหม่

เมื่อเวลาผ่านไปราว 5-7 สัปดาห์ ลูกนกจะฝักออกเป็นตัว ตัวผู้ต้องรับภาระหนักมาก พ่อนกจะเริ่มหน้าที่ของตนตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนหลังพระอาทิตย์ตก การป้อนอาหารจะถี่ขึ้นเรื่อยๆ วันละ 10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ชนิดอาหารที่นำมาป้อนจะมีความหลากหลายมากขึ้น มีผลไม้ป่าอื่นๆ นอกจากไทร เช่น ส้มโมง สุรามะริด กำลังเลือดม้า ตาเสือเล็ก ตาเสือใหญ่ หว้า มะหาด ขี้ตุ่น ยางโดน มะเกิ้ม พิพวนป่า มะขามแป พญาไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องหาอาหารเสริมโปรตีนมาเลี้ยงลูก เช่น แมลงนานาชนิด สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู กิ้งก่า ปลา ปู กบ เขียด กิ้งกือ ไส้เดือน นก ไข่และลูกนก หนู กระรอก ค้างคาว เป็นต้น การหาอาหารต้องเป็นไปตามแหล่งผลไม้สุก สำรวจตามโพรงไม้เพื่อหาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง เช่น กระรอกบิน หากจับได้ก็จะนำมาเป็นอาหารให้ลูกนก อาจจะกะเทาะเปลือกไม้เพื่อหาตัวหนอน โบยบินเพื่อจับแมลงในอากาศ ลงพื้นดินและริมน้ำเพื่อจับปลาปู หาไส้เดือน งูดิน เป็นต้น ต้องใช้กำลังงานไปมากช่วงนี้จะดูพ่อนกโทรมมาก

 

นกก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังเช่น นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) พ่อนกจะมีผู้ช่วยอีก 2-3 ตัว ช่วยนำอาหารมาป้อนให้นกที่อยู่ในรัง / PHOTO : Atsuo Tsuji

 

นกเงือกเป็นนกที่สะอาดสะอ้าน ทั้งแม่และลูกนกจะถ่ายมูลผ่านช่องแคบๆ นี้ ลูกนกจะไม่สามารถถ่ายมูลให้พุ่งพ้นปากโพรง จึงตกอยู่แค่ปากโพรง เมื่อพ่อนกป้อนอาหารเสร็จในแต่ละครั้งจะคาบเอามูลของลูกมันไปทิ้ง จากพฤติกรรมนี้เราสามารถจะทำนายได้ว่ารังใดมีลูกนกฟักเป็นตัวแล้ว อาหารพวกที่เป็นผลไม้ที่มีเมล็ดในแข็ง นกเงือกจะสำรอกทิ้งออกมาภายนอกโพรง เราจึงพบว่าที่โคนต้นไม้ที่เป็นรังนกจะเต็มไปด้วยมูลนกและเมล็ดผลไม้นานาชนิด ซึ่งจะงอกเป็นต้นกล้าเต็มไปหมด

การเลี้ยงลูกนกเงือก พ่อนกจะส่งอาหารผ่านแม่นก แม่นกจะมีส่วนในการกำหนดเมนูสำหรับลูกนก บางคราวพ่อนกนำผลไม้บางชนิดมาป้อนซ้ำๆ แม่นกปฏิเสธไม่ยอมรับ ถ้าพ่อนกยังตื้อที่จะป้อนต่อไปแม่นกจะรับมาแล้วโยนทิ้งไปต่อหน้าต่อตา ก็เป็นสัญญาณเตือนพ่อนกว่าจะต้องเปลี่ยนอาหารได้แล้ว มิฉะนั้นจะเหนื่อยเปล่า เพราะแม่เจ้าประคุณโยนทิ้งอย่างไร้เยื่อใย ทั้งๆ ที่พ่อนกนั้นเวลาป้อนอาหารแต่ละทีก็แสนจะอ่อนโยน พ่อนกจะสำรอกอาหารออกมาคราวละหนึ่ง แล้วบรรจงป้อนให้กับแม่นกชนิดปากต่อปากจกว่าแม่นกจะรับไป จะไม่มีการสำรอกไว้ในโพรงแล้วปล่อยให้เก็บกินเอง และไม่มีการผิดพลาดโดยป้อนผลไม้ที่ตัวเองกินเนื้อแล้วเป็นอันขาด หากเป็นอาหารประเภทสัตว์ก็จะฆ่าให้ตายก่อน โดยฟาดกับกิ่งไม้หรือกัดย้ำด้วยจะงอยปากแล้วจึงป้อน

เมื่อเวลาล่วงเข้าประมาณสัปดาห์ที่ 10 ถึง 15 พ่อนกจะเริ่มลดหาอาหารลง ก็แสดงว่าใกล้เวลาอันสมควรที่ลูกนกและแม่นกจะออกจากโพรงเสียที เมื่อออกจากโพรงแล้ว ลูกนกจะบินได้เกือบทันที เพราะซ้อมกระพือปีกไว้บ้างแล้วขณะอยู่ในโพรง พ่อแม่นกจะคอยดูแลโดยป้อนอาหารและสอนร่อนไปในหมู่ไม้ให้ลูกนก อีกราว 5-6 เดือน หรือจนกว่าฤดูทำรังใหม่จะใกล้เข้ามา ก็เป็นอันว่าลูกนกบรรลุนิติภาวะที่จะหากินดูแลตัวเองได้

นกเงือกจัดว่ามีศัตรูน้อย แต่ที่สำคัญเห็นจะเป็น “หมาไม้” ซึ่งไต่ไปถึงรัง หากพบว่าปากโพรงเปิดอยู่เนื่องจากแม่นกออกมาก่อน ลูกนกจะตกเป็นเหยื่อของหมาไม้ได้ง่าย “อีกา” ก็เป็นศัตรูที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่มักจะคอยจิกตีลูกนกที่เพิ่งออกจากโพรง

เมื่อเข้าฤดูฝนก็หมดช่วงทำรัง นกเงือกมักจะรวมกันเป็นฝูงใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ชนิดนกเงือก นกเงือกกรามช้างดูจะรวมฝูงกันมากที่สุด บางคราวอาจรวมกันมาถึง 1,000 ตัว ไปหากินและนอนตามหุบเขาลึก

ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตดังกล่าวมาแล้ว นกเงือกจึงมีบทบาทที่สำคัญในระบบนิเวศของป่าดงดิบ นั่นคือช่วงกระจายพันธุ์พืช โดยการสำรอกเมล็ดผลไม้ทิ้งหรือถ่ายเมล็ดออกมา ชีวิตของนกเงือกต้องขึ้นอยู่กับป่าที่สมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงให้ทำรัง มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ จึงอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้

เนื่องจากสถานการณ์ของป่าไม้บ้านเราลดน้อยลงไปทุกที ประกอบกับการที่นกถูกล่า เพื่อนำมาเลี้ยงหรือนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ ทำให้โอกาสที่นกเงือกจะสืบทอดพันธุ์ให้คนรุ่นหลังๆ ได้ชื่นชมเห็นทีจะเลือนราง ถ้าทุกฝ่ายรวมทั้งพวกเรา ยังหลงฟุ้งเฟ้อกับการพัฒนาประเทศโดยปราศจากการวางแผนที่รอบคอบ จริงจัง จริงใจ และโปร่งใส มรดกไทยที่ธรรมชาติๆ ได้สั่งสมมาช้านาน ไม่จำเพาะแต่นกเงือกเท่านั้นคงถึงกาลอวสานเป็นแน่แท้

 


บทความ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ / ณรงค์ จีระวัฒน์ / พงษ์สรร สุวรรณ
ตีพิมพ์ หนังสือ Wings of the wild บันทึกธรรมชาติ ด้วยปีกแห่งพงไพร, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 2542
บรรณาธิการ ดวงดาว สุวรรณรังสี
บันทึกภาพ สาทิพย์ ทองนาคโคกกรวด / เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา / ดวงดาว สุวรรณรังษี / สุรจิต จามรมาน / ไพโรจน์ ลีนะวัต / นัท สุมนเตมีย์ / มนตรี ศรีโอภาศ / อดิศักดิ์ วิธีธรรม / Atsuo Tsuji / Morten Strange / มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก

* ต้นฉบับเดิมเขียน นกเงือก 12 ชนิด