กูปรี หรือโคไพร สัตว์ป่าที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย ตามรายงานขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN
เดิมเราสามารถพบฝูงกูปรีได้ในพื้นที่แถบอีสานใต้ ตามบันทึกของ นพ. บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย พบรอยกูปรีในแถบ เทือกเขาพนมดงรักชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2488 และรายงานการพบที่ป่าดงอีจาน อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2492
ประมาณปี 2517 พบฝูงกูปรีย้ายเข้ามาหากิน บริเวณป่า ชายแดน จ.สุรินทร์ ในช่วงฤดูฝน และในปี 2518 กรมป่าไม้ ทราบข่าวที่ไม่มีการยืนยัน กล่าวถึงการพบกูปรีในป่าบริเวณชายแดน จ.ศรีสะเกษเป็นฝูงกูปรีจํานวน 20 ตัว ในปี 2525 มีข่าวการพบฝูงกูปรีอีกครั้ง จํานวน 5 ตัว โดยการยืนยันของพรานท้องถิ่น บรรยายลักษณะรูปร่างได้ถูกต้อง ตรงกับลักษณะกูปรี โดยพบเห็นในบริเวณป่า “นาจราง” อ.ขุขันธ์ ชายแดน จ.ศรีสะเกษ
หลังจากนั้นไม่มีการบันทึกใดใดที่เกี่ยวกับการพบกูปรีในประเทศไทยอีกเลย จนกระทั่งมีข่าวการพบฝูงกูปรี ในปี 2549 ขณะที่เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ออกลาดตะเวนบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้รอยต่อประเทศกัมพูชา และ ส.ป.ป.ลาว ได้บังเอิญพบกับสัตว์ขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายกับกระทิง จำนวน 3 ตัว หากินอยู่ในทุ่งหญ้าโล่ง ลักษณะเขาแปลกกว่าเขาของกระทิง และมีตัวสูงใหญ่กว่า
แต่การรายงานดังกล่าวไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นกูปรีจริงหรือไม่ เนื่องจากลักษณะของกูปรีมีความคล้ายคลึงกับกระทิงและวัวแดง ซึ่งจากการสำรวจของ นพ.บุญส่ง พบว่าสัตว์ชนิดนี้มักอยู่ปนกับฝูงวัวแดง
ทั้งนี้ นอกจากกูปรีจะเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากป่าของไทยแล้ว ในรายงานของ IUCN ระบุอีกด้วยว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้วในเวียดนาม ส่วนในกัมพูชาและลาวคาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว (Possibly Extinct) เช่นกัน
ซึ่งในปี 2491 เคยประมาณกันว่ามีกูปรีหลงเหลืออยู่ในโลกประมาณ 2,000 กว่าตัว และมากกว่า 800 ตัว อยู่ในกัมพูชา แต่ในช่วงสงครามเวียดนามที่ลุกลามไปทั่วอินโดจีน จนทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา (ช่วงปี 2518-2522) กรูปรีและสัตว์ป่าอีกหลายชนิดถูกล่าอย่างหนัก เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหารและขายเขาเป็นสินค้า รวมทั้งกับระเบิดยังได้สังหารกูปรีลงเป็นจำนวนมาก
กูปรีถือเป็นสัตว์ป่าที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศกัมพูชา เพราะถูกยกให้เป็นสัตว์ประจำชาติ และหากใครที่เป็นแฟนบอลศรีสะเกษ เอฟซี ก็พอจะคุ้นชื่อ “กูปรีอันตราย” ที่ใช้เรียกแทนทีมฟุตบอลของจังหวัดศรีสะเกษ
แม้ในช่วง 50 ปีที่ผ่าน จะมีข้อถกเถียงในวงการวิชาการถึงการมีอยู่ของกูปรี แต่จากการรายงานของ IUCN เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวได้สูญพันธุ์ไปจากป่าไทย และคาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปแล้ว