‘เสือปลา’ แรกได้ยิน เราคงนึกสงสัยในชื่อเรียกว่าหมายถึงสัตว์ชนิดใด
มันหมายถึง เสือโคร่งกินปลาหรือ ตามแต่จินตนาการจะคิดนึกไปนานา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘เสือปลา’ เป็นสรรพนามที่ใช้เรียกสัตว์ชนิดหนึ่ง อ้างอิงตามราชบัณฑิตไทยให้ความหมายของ ‘เสือปลา’ ว่า เป็นชื่อเสือชนิด Felis viverrina ในวงศ์ Felidae พื้นลําตัวสีเทา มีลายสีดําเป็นจุดกระจายอยู่ทั่วตัว กินปลาและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร
ทางภาคตะวันออกเรียกเสือปลาที่มีขนาดใหญ่ว่า ‘เสือแพ้ว’ ในระดับนานาประเทศเรียกชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า ‘Fishing cat’ ซึ่งเมื่อแปลเป็นไทยด้วยความหมายตามตัว ให้ความหมายว่า ‘แมวนักตกปลา’ นั่นเอง
นอกจากชื่อที่กล่าวมาแล้ว ชุมชนบางแห่ง เรียกเสือปลาตามภาษาปากท้องถิ่นว่า ‘เสือโทงเทง’ คาดว่าอาจนำมาจากพฤติกรรมของเสือปลา ที่มีการเคลื่อนที่เคลื่อนไหว กวัดแกว่ง หรือ ส่ายไปมา
โดยทั่วไปการเรียกชื่อสัตว์เกือบทุกกลุ่ม ในชื่อสามัญภาษาอังกฤษ มักตั้งตาม พฤติกรรม ลักษณะร่างกายที่เด่นชัดของสัตว์นั้น ๆ หรือ สภาพถิ่นที่อยู่
ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างชนิดสัตว์ที่เห็นได้ชัด เช่น Water monitor lizard หรือที่คนไทย เรียกว่า ‘เหี้ย’ เมื่อแปลภาษาชื่อสามัญจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย จะหมายถึง ‘กิ้งก่าที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ’ เป็นทำนองเดียวกับการตั้งชื่อเสือปลาว่า Fishing Cat ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะของ ‘แมวที่ชอบจับปลา’ และอาจจะบ่งบอกเป็นนัยเชื่อมโยงถึงพื้นที่อาศัยได้ว่า เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่กับแหล่งน้ำเป็นหลัก
ลักษณะทั่วไปของ เสือปลา
รูปร่างลักษณะร่างกาย
เสือปลา (Prionailurus viverrinus) เป็นสัตว์ขนาดกลาง ซึ่งได้ชื่อมาจาก ‘viverridae’ หรือลักษณะคล้ายชะมด ตัวผู้ที่โตเต็มจะมีน้ำหนักประมาณ 8-14 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักประมาณ 5-9 กิโลกรัม และมีขนาดเล็กกว่าหน่อย ยาวลำตัว 65-85 ซม. สูง 40 ซม. และมีหางยาวประมาณ 25-30 ซม. ถูกจัดให้เป็นแมวขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Prionailurus
โครงสร้างร่างกายของเสือปลาจะมีกล้ามเนื้อที่มีน้ำหนักมาก ขาสั้น และหางสั้นผิดปกติ จึงสามารถช่วยแยกความแตกต่างจาก แมวดาว (Leopard Cat) ได้
ส่วนหัวของเสือปลากลมและยาว แก้มมีไฮไลต์สีขาว รอยดำดวงตาของมันมีขนสีขาวล้อมรอบ หูสั้นและกลม บริเวณหลังหูมีสีดำ จมูกมีสีชมพู หรือสีอิฐเข้ม ริมฝีปากคางท้องและลำคอเป็นสีขาวปนเทา ขนด้านล่างยาวกว่าและมีสีด่าง ส่วนหางมีกล้ามเนื้อตั้งต่ำและสั้นกว่าแมวบ้าน มีแถบสีเข้มหกหรือเจ็ดแถบล้อมรอบ ซึ่งแตกต่างจากแมวเสือดาว
จุดเด่นสำคัญของเสือปลา คือ ตีนมีเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างนิ้วตีนเล็กน้อย (Webbed feet) อันเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการที่จะต้องอยู่กับแหล่งน้ำ เนื้อเยื้อที่เกิดขึ้นช่วยเพิ่มความสามารถด้านการว่ายน้ำ อีกทั้งยังมีกรงเล็บที่ยื่นออกเล็กน้อย (หดกลับได้) ใช้ในการจับเหยื่อจำพวกปลาขณะอยู่ใต้น้ำโดยเฉพาะ หรือใช้ตะหวัด เพื่อตกปลาขึ้นบนฝั่งดังในหนังสือ Mammal of Thailand ที่คุณหมอบุญส่ง เลขะกุลและคุณเจฟเฟอร์รี่ แม๊คเนลลี ได้เขียนบรรยายไว้
การปรับตัวอีกอย่างที่เป็นลักษณะเด่นของเสือปลา คือ ขน โดยขนของเสือปลาจะช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกาย ขณะลงไปในน้ำที่มีอุณภูมิต่ำ เส้นขนของเสือปลาจะมีขนาดเล็ก และมัดอัดกันแน่น ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าถึงผิวหนัง
โดยข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า มีลักษณะคล้ายกันกับในกลุ่มของนกน้ำ ที่หาปลากินหลายชนิดที่ขนอัดแน่น และปกคลุมผิวหนัง
ลวดลายบนลำตัว
เสือปลา มีลวดลายเด่นชัด มีลายจุดบนศีรษะใบหน้าและลำตัว โดยทั่วไปจะเห็นเส้นสีดำหกถึงแปดเส้นจากหน้าผากถึงคอ โดยแบ่งเป็นเส้นที่สั้น ๆ และมีจุดตามยาวบนไหล่ เมื่อมองจากด้านหน้าจะมีจุดสีขาวเด่นอยู่ตรงกลาง เป็นสีน้ำตาลปนดำบนขนพื้นขนสีเทามะกอก ในส่วนของลวดลายนี้สามารถใช้แยกความแตกต่างจากดาวแมวได้เช่นกัน ซึ่งกรณีของแมวดาวมักมีขนสีเทาทราย
โครงสร้างสังคม
ข้อมูลการศึกษาโครงสร้างทางสังคมของเสือปลาในปัจจุบันยังมีอยู่น้อยมาก จึงยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนของสัตว์ชนิดนี้ในธรรมชาติ แต่สันนิษฐานว่า (เช่นเดียวกับแมวอื่น ๆ ส่วนใหญ่) พวกมันอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นหลัก เว้นช่วงผสมพันธุ์และเลี้ยงลูก
การสืบพันธุ์และการพัฒนา
เสือปลาสามารถมีลูกได้คราวละ 1 – 4 ตัว ใช้เวลาตั้งครรภ์ประมาณ 65 วัน มักคลอดในช่วงอากาศอบอุ่นที่สุดของปี
ลูกแมวที่เกิดใหม่ตายังไม่สามารถมองเห็น ในช่วง 6 เดือนแรกจะมีแม่คอยเลี้ยงดู จนเมื่อมีขนาดโตเต็มที่อายุประมาณ 8 เดือนครึ่ง และมักจะแยกตัวออกจากแม่เมื่ออายุประมาณ 10 เดือน
เสือปลาจะเจริญพันธุ์โตเต็มที่ประมาณ 18 เดือน (เสือปลามีความสมบูรณ์ทางเพศเมื่ออายุ 1.5 – 2 ปี)
ในกรณีเสือปลาที่ได้รับการดูแลจากมนุษย์ เช่น ตามสวนสัตว์ต่าง ๆ อาจมีปัจจัยแวดล้อมแตกต่างออกไป ตามธรรมชาติจะมีการสืบพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และมีแนวโน้มที่จะผสมพันธุ์ทุกเดือน มีการสังเกตเห็นพบว่า ตัวผู้จะช่วยตัวเมียดูแลลูก แต่ไม่แน่ชัดว่า เมื่อเป็นตัวที่อยู่ในธรรมชาติจะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่
อายุขัย
เสือปลา สามารถมีชีวิตอยู่ในความดูแลของมนุษย์ จากข้อมูลที่ได้ในสวนสัตว์ 10 – 12 ปี ส่วนช่วงชีวิตของเสือปลาในธรรมชาตินั้น ยังไม่แต่ชัดเจน เนื่องจากมีการศึกษาน้อย แต่คาดการว่าน่าจะสั้นกว่ากลุ่มที่ได้รับการเลี้ยงดู
อาหาร
เสือปลา สามารถที่จะกินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่ ปลา หนู นก สัตว์เลื่อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กุ้ง ปู และหอยน้ำจืดเปลือกแข็ง
ในการศึกษาที่ผ่านมา มักยืนยันในทางเดียวกันว่า อาหารหลักของเสือปลาคือ ปลา เนื่องจากเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่กับแหล่งน้ำเป็นหลัก รองลงมาคือกลุ่มสัตว์ฟันแทะ นกน้ำ และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องอาหารการกิน อาจขึ้นอยู่กับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ที่เสืออาศัยในแต่ละแห่ง ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
ร่วมสนับสนุนการทำงานและรักษาป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ้างอิง
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (orst.go.th)IUCN Red List of Threatened Species
Felidae Species List by Genus – Wild Cat List by Genus (wildcatfamily.com)
Fishing cat | Smithsonian’s National Zoo (si.edu)
Mammals of Thailand (บุญส่ง เลขะกุล, Jefferey A. McNeely, 1977)
บทความ รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่า กลุ่ม Save Wildlife Thailand