เรื่องของ “หมีขอ”​ ที่เราควรรู้

เรื่องของ “หมีขอ”​ ที่เราควรรู้

ความจริงข้อหนึ่งที่หลายคนอาจเพิ่งทราบเกี่ยวกับ “หมีขอ” คือพวกเขาไม่ใช่หมี แต่เป็นสัตว์ตระกูลชะมด ในวงศ์ Viverridae ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ในประเทศไทยมีสัตว์ในวงศ์ชะมดและอีเห็น อยู่ด้วยกัน 11 ชนิด ประกอบไปด้วย ชะมดแผงหางปล้อง (Viverra zibetha) ชะมดแผงสันหางดำ (V. megaspila) ชะมดเช็ด (Viverricula indica) ชะมดแปลงลายจุด (Prionodon pardicolor) ชะมดแปลงลายแถบ (P. linsang) อีเห็นหน้าขาว (Arctogalidia trivirgata) อีเห็นเครือ (Paguma larvata) อีเห็นข้างลาย (Paradoxurus hermaphroditus) อีเห็นน้ำ (Cynogale bennettii) อีเห็นลายเสือโคร่ง (Hemigalus derbyanus) และหมีขอ (Arctictis binturong)

ส่วนหมีนั้น ในประเทศไทยพบอยู่ 2 ชนิด คือ หมีหมา (Ursus malayanus) และหมีควาย (Ursus thibetanus)

ที่หมีขอถูกเรียกว่าหมี มาจากลักษณะขนที่ดำหยาบยาวคล้ายหมี (หน้าตาก็ละม้ายคล้าย) และยังถูกเรียกอีกหลายชื่อ เช่น บินตรุง หรือ หมีกระรอก (มาจากลักษณะหาง) ในภาษาอังกฤษ บางครั้งเรียกหมีขอว่า cat bear (ส่วนคำว่า bearcat ไม่ได้หมายถึงหมีขอ แต่หมายถึงแพนดาแดง)

นอกจากนี้ เรื่องชื่อยังมีการอ้างอิงว่ามาจากพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็น ไม่ค่อยกลัวคน มักจะยื่นตีนหน้าไปเหมือนกับสุนัขที่ฝึกมาแล้ว เมื่อมีใครยื่นอะไรสักอย่างให้ก็จะคว้าแล้ววิ่งหายไป เคยเป็นนิยมเลี้ยงในต่างประเทศเพราะสามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย

หมีขอในประเทศไทยพบมีเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ Arctictis binturong binturong จากทั้งหมด 3 ชนิดย่อย (อีก 2 ชนิดย่อย คือ Arctictis binturong kerkhoveni และ Arctictis binturong menglaensis) พบการกระจายประชากรอยู่ในประเทศอินเดีย พม่า แหลมอินโดจีน สุมาตรา ชวา เบอร์เนียว และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไปจะมีรูปร่างคล้ายสัตว์จำพวกหมีตัวอ้วน มีขนยาวและหยาบสีดำ หูมีลักษณะกลมเป็นขนปลายหูสีขาว หางยาวและมีขนเป็นพวงคล้ายหางกระรอก และสามารถใช้หางเกาะเกี่ยวกิ่งไม้ได้ ความยาวลำตัวและหัว 61-69 ซม. ความยาวหาง 50-84 ซม. น้ำหนักประมาณ 9-20 กก. ตั้งท้องนานประมาณ 92 วัน ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว อายุยืนประมาณ 23 ปี

ปกติหมีขอจะไม่อาศัยอยู่ใกล้บ้านคน ไม่อยู่ในป่าที่เสื่อมโทรม หรือป่าที่ถูกบุกรุก พวกเขามักอาศัยอยู่ตามเรือนยอดของต้นไม้ในป่าดงดิบ และลงมาหากินบนพื้นดินบ้างเป็นบางครั้ง ออกหากินตามลำพังหรือเป็นครอบครัวเล็กๆ มักพบออกหากินเวลากลางคืน พักผ่อนหลับนอนตอนกลางวัน อาหาร ได้แก่ ผลไม้ หนู ลูกนก เป็นต้น

จากพฤติกรรมการกินอาหารทำให้หมีขอมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ควบคุมประชากรสัตว์ฟันแทะ และยังเป็นผู้กระจายเมล็ดพืช เพราะหมีขอเป็นสัตว์ในกลุ่มอีเห็นที่กินผลไม้มากที่สุด

หมีขอ มีสถานะอยู่ในกลุ่ม สัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม หรือ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable species) โดย สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)

ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งการห้ามการครอบครองและห้ามค้า ยังรวมไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ที่ป่าไม้เมืองไทยมีอยู่ราวร้อยละ 31 และสถานการณ์การล่า และการคุกคามผืนป่ายังคงมีอยู่ คงไม่ใช่แต่หมีขอเท่านั้นที่มีสถานภาพน่าเป็นห่วง สัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด ว่าที่อีก 4 ชนิด หรือสัตว์ป่าคุ้มครองอีกกว่า 100 ชนิด ก็ล้วนอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยกันทั้งนั้น

หากค่านิยมการล่า ไม่ว่าจะเพื่อกิน หรือเพื่อเป็นเกมกีฬา (ที่ผิดกฎหมาย) ยังคงมีอยู่ ก็คงไม่แคล้วว่าอนาคตเมืองไทยคงไม่เหลือสัตว์ป่าไว้คอยทำหน้าที่ทางระบบนิเวศ ซึ่งนำไปซึ่งการเกิดผลกระทบไม่รู้จบ และแน่นอนว่ามนุษย์เราก็เป็นผู้ที่ต้องรอรับผลกระทบตรงนั้นด้วย

 

 


อ้างอิง
พันธุศาสตร์เซลล์ของหมีขอในประเทศไทย
แฟ้มสัตว์โลก หมีขอ, บินตุรง
หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่าห่วง “หมีขอ” เสี่ยงสูญพันธุ์
ภาพประกอบ Bank Thanawut
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร