“ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือ ทำได้” นับเป็นต้นกำเนิดแห่งพระราชดำริ ฝนหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองอย่างแท้จริง
ฝนหลวงเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่า และที่สำคัญช่วงหน้าแล้งมักเกิดไฟป่าได้ง่าย โครงการฝนหลวงจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการลดความเสียหายให้กับผืนป่าได้
ขั้นตอนในการผลิตฝนหลวง
ก่อกวน: ทำให้เมฆเกิดการลอยตัวรวมกลุ่มกันเป็นเมฆฝน โดยใช้สารเคมีผงเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่ระดับความสูง 7,000 ฟุต เข้าไปกระตุ้นมวลอากาศ การก่อกวนเมฆจะต้องทำเมื่อ ความชื้นในอากาศอยู่ในระดับ > 60% จึงจะได้ผลจริง
เลี้ยงให้อ้วน: เติมแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) เพื่อให้เมฆเกิดการขยายตัว ที่ระดับความสูง 8,000 ฟุต เมื่อเมฆลอยตัวสูงขึ้นถึง 15,000 ฟุต (ระดับของเมฆอุ่น) จะรวมตัวกันเริ่มกลั่นตัวเป็นไอน้ำ+เม็ดน้ำ ซึ่งบางครั้งเมฆอาจลอยตัวสูงขึ้นตั้งแต่ระดับ 18,000 -20,000 ฟุต
โจมตี: (เมฆอุ่น) เติมแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) บนยอดเมฆ และเติมยูเรีย (Urea) ที่ฐานเมฆ หลังจากนั้นเมฆจะตัวรวมกันเป็นเม็ดน้ำขนาดใหญ่ เริ่มกลั่นตัวลงมาเป็นฝน (แต่ยังไม่ตก) การทำให้ฝนตกได้จะต้องเพิ่มน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ซึ่งจะช่วยทำให้ฝนตกลงมาบนพื้นดินในปริมาณที่มากยิ่งขึ้น
โจมตี: (เมฆเย็น) เติมซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) บนยอดเมฆซึ่งจะทำให้เกิดผลึกน้ำแข็ง เมื่อผลึกน้ำแข็งจากด้านบนปะทะกับเม็ดน้ำในเมฆอุ่นจะทำให้เกิดการรวมตัวกันกลายเป็นฝน
โจมตี: (เมฆอุ่น + เมฆเย็น) เป็นการโจมตีเมฆทำกระบวนการทั้งสองพร้อมกันจะทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น