ป่าแม่วงก์ผืนนี้มีเนื้อที่กว่า 558,000 ไร่ ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดนครสวรรค์ ในฝั่งของจังหวัดนครสวรรค์นั้นมีความสำคัญในแง่ของการมีพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ราบริมน้ำ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแบบธารน้ำไหล ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย และการมี “ลำน้ำแม่เรวา” ไหลผ่าน ทำให้ระบบนิเวศมีความซับซ้อนและความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั้งด้านพืชและสัตว์ จึงเป็นแหล่งอาหารให้กับบรรดาสัตว์กินพืช (ผู้ถูกล่า) เข้ามาหากินจำนวนมาก เช่น หมูป่า เก้ง กวาง และขณะเดียวกันสัตว์กินพืชเหล่านี้ยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่ดึงดูดผู้ล่าที่สำคัญเข้ามาหากินได้แก่ เสือโคร่ง จากข้อมูลการลาดตะเวนเชิงคุณภาพ และการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ พบเสือโคร่งเข้ามาหากินในบริเวณที่ราบริมน้ำแห่งนี้ จึงนับว่าป่าแม่วงก์เป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่าและคงเหลือไม่กี่แห่งที่ยังสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน และสืบต่อสายพันธุ์ รวมถึงการเป็นแหล่งรักษาพันธุกรรมของสัตว์ป่า
นอกจากนั้นแล้ว “ลำน้ำแม่เรวา” ยังคอยล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน เพื่อใช้อุปโภคบริโภค รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายเหล่านี้ทำให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นดั่งความหวังของผู้พึ่งพิง ทั้งผู้คนและสัตว์ป่า
หลังจากแม่วงก์ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติมากกว่าสามทศวรรษ ป่าที่เคยถูกสัมปทาน มีการล่าสัตว์ ตัดไม้ ฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง อันเกิดจากความทุ่มเททั้งงบประมาณและสรรพกำลังของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรอนุรักษ์หลากหลายองค์กรและความร่วมมือจากภาคประชาชน ในการช่วยดูแลฟื้นฟูป่าผืนนี้ไม่ให้ถูกทำลายลง อีกทั้งในอนาคตเราหวังว่า “แม่วงก์” จะกลายเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย “แม่วงก์…ผืนป่าแห่งความหวัง”