เป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่า ผ่านน้องทาก

เป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่า ผ่านน้องทาก

ปีนี้หน้าฝนมาเร็วกว่าทุกปี แค่ปลายเดือนเมษาฝนก็พรมลงมาจนต้นไม้ในป่ากลับแตกใบเขียวขจี เป็นสัญญานแห่งการเปลี่ยนฤดูกาลเสียแล้ว

และพร้อมๆ กับใบอ่อนของพรรณไม้บนพื้นดิน ก็มีสิ่งมีชีวิตอีกพวกหนึ่งที่สะพรั่งเต็มพื้นเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างที่เจ้าตัวนี้ไม่ได้ตัวสีเขียวแต่เป็นสีน้ำตาล ไม่มีคอโรฟิลล์สังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้เหมือนพืช พวกมันจึงมีแต่ปากสามแฉกเอาไว้ดูดเลือดพวกคนที่หลงเข้าไปในป่าแทน

ใช่แล้วครับ เรากำลังพูดถึงเจ้า “ทาก” นั่นเอง

สำหรับมือใหม่หัดเข้าป่า มีสองอย่างที่รบกวนจิตใจเสมอมานั่นก็คือ ตัวทาก และ ห้องน้ำ

เรื่องห้องน้ำนั้นแก้ไขยาก แต่ละคนต้องไปสร้างทักษะเข้าห้องน้ำกลางป่าของตัวเอง แต่เรื่องทากนี่พอจะแก้ไขได้อยู่ วันนี้เราจะมาลองทำความรู้จักกับสัตว์ประจำป่าตัวนี้กันดูซิว่าจะสามารถมองมุมกลับปรับมุมมองต่อเพื่อนนักเดินป่าตัวน้อยๆ นี้กันได้หรือไม่

หนึ่ง สอง สาม เริ่ม!
.

ทากมีเยอะ แต่เรารู้จักน้อย

ทากดูดเลือดบกมีการค้นพบจนถึงทุกวันนี้ประมาณ 16 สายพันธุ์ ในสกุล Haemadipsa หรือถ้ารวมกับจำนวนปลิงที่อาศัยในน้ำด้วยก็มีมากกว่า 60 สายพันธุ์ด้วยกัน ซึ่งนักวิทย์คาดว่าจะมีจำนวนชนิดมากกว่านี้มากๆ แต่ด้วยหน้าตาของพวกมันที่ดูไม่ดึงดูดและความยากต่อการศึกษาทำให้ไม่ค่อยจะมีคนสนใจพวกมันเท่าไหร่นัก

ทากมีลักษณะเด่นที่ตัวดูดสองอันที่หัวและท้าย ปากเป็นรูปแฉกสองหรือสามแฉกซึ่งสร้างรอยแผลแตกต่างกัน ปากสองแฉกจะสร้างแผลรูปตัว V ส่วนทากที่พบในป่าบ้านเราจะสร้างแผลคล้ายตัวอักษร Y พวกมันมีจำนวนปล้องเท่ากันคือ 34 ปล้อง หายใจทางผิวหนังทำให้บนลำตัวมีร่องเล็กๆ กระจายกันทั่วเพื่อช่วยคงความชุ่มชื้นจากของเหลวที่ขับมา

ดังนั้น เราจะเจอทากก็เฉพาะในที่ๆ มีความชื้นเพียงพออย่างในป่าดิบหรือใกล้แหล่งน้ำ และพบพวกมันได้ในเขตร้อน เขตกึ่งร้อน กระจายตัวรายรอบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก
.

หลังจากดูดเลือดเหยื่อจนอ้วนกลม ทากก็หาที่จะหาที่หลบภัยจนกว่าจะถึงเวลาหิวอีกครั้ง

 

ปลิงตามแหล่งน้ำจะออกล่าเหยื่อ แต่ทากตามป่าใช้วิธีหาเหยื่อที่ต่างไป พวกมันเลือกที่จะใช้การซุ่มรอให้เหยื่อเข้ามาใกล้เป็นหลัก เมื่อเหยื่อเข้ามาใกล้พวกมันจะรับสัมผัสได้ด้วยแรงสั่นสะเทือนและแสงที่เปลี่ยนไปจากเงาของเหยื่อที่พาดผ่าน

หัวของทากจะส่ายไปมาเพื่อจับทิศทางของเหยื่อให้แน่ใจในทิศทางแล้วคืบคลานเข้าไปหาโดยใช้ปุ่มดูดทั้งสองอันสลับกัน พอเราก้าวเท้าเข้าไปในที่ที่มีทากชุกชุมก็จะเห็นพวกมันชูหัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียง และตั้งหน้าคืบเข้าหาเราเหมือนกองทัพตัวเล็กๆ ที่กระหายเลือด

ถึงตัวเหยื่อแล้วทากก็จะบรรจงเลือกตำแหน่งเหมาะๆ ที่ผิวหนังบางและมีเส้นเลือดอยู่มาก ค่อยๆ ใช้ขากรรไกรกรีดผิวหนังอย่างเบามือและปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) ที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและรู้สึกชา หลังจากนั้นจึงปล่อยสารอีกตัวที่ชื่อฮีรูดีน (Hirudin) ที่มีผลทำให้เลือดไม่แข็งตัวเปิดโอกาสให้มันดูดได้จนกว่าจะพอใจ

เพราะต้องอาศัยโชคพอควรกว่าที่จะมีเหยื่อหลงเดินเข้ามายังจุดที่ทากซุ่มรออยู่ เมื่อมีโอกาสทากจะกินอย่างเต็มที่ ดูดเลือดจนตัวอ้วน พอกินต่อไม่ไหวก็จะเริ่มขับของเหลวอื่นๆ ในตัวออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการกินต่อไปอีกซักนิด

กว่าจะพอใจและยอมปล่อยจากเหยื่อ เจ้าทากก็ดูดเลือดจนตัวใหญ่กว่าเดิมถึง 2-3 เท่าตัว และใช้เวลาร่วมครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงในการกิน
.

ท่าทางการคืบตัวของทาก อาศัยตัวดูดทั้งสองในการเคลื่อนที่

 

เมื่อทากดูดเลือดจนพอใจและคลายปากออก จะทิ้งรอยแผลรูปตัว Y ไว้บนผิวเรา (บางคนก็บอกว่าคล้ายกับเครื่องหมายรถยนต์เยอรมันเจ้าดัง) เลือดจะใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะหยุดไหล ส่วนใหญ่จะประมาณ 20 นาทีหรือเป็นชั่วโมง ขึ้นกับตำแหน่งที่มันกัดและปริมาณสารฮีรูดีนที่มันฝากไว้ในเหยื่อ

หลังจากกินอาหารแล้ว ทากท้องกางจะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องกินอาหารนานถึงครึ่งปี
.

เจ้าสัตว์พวกนี้มีประโยชน์อะไร?

เป็นคำถามที่เรามักได้ยินเวลาพาใครไปเผชิญดงทาก นอกจากจะคอยจ้องดูดเลือดเราและสัตว์อื่นๆ ในป่าแล้วเจ้าสัตว์กระหายเลือดตัวนี้มันจะมีประโยชน์อะไรบ้างมั้ย?

ประโยชน์ในมุมของฝ่ายไหนน่าจะเป็นคำถามที่ดี
.

แผลรูปตัว Y จากฝีปากทาก

 

สำหรับระบบนิเวศแล้ว ทากคือส่วนประกอบที่สำคัญเช่นเดียวกับสัตว์ปรสิตอื่นๆ พวกมันทำหน้าที่ดึงเอามวลอาหารให้ย้อนกลับจากสัตว์ขนาดใหญ่ กลับลงมาสู่สัตว์ขนาดเล็ก ผ่านการเป็นอาหารให้กับสัตว์อื่นๆ ในป่า

นักปักษีวิทยาหลายท่านยืนยันว่าเคยเห็นนกที่หากินตามพื้นกินทากเป็นอาหาร เมื่อทากที่ดูดเลือดสัตว์ใหญ่มาถูกนกกิน สารอาหารที่เคยถูกสัตว์ใหญ่เก็บเกี่ยวไปตามสายใยอาหารก็ถ่ายทอดกลับมาสู่สัตว์ลำดับต้นๆ ของสายใยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกินการหมุนเวียนของอาหารในระบบที่มากขึ้น

นอกจากนี้ทากยังเป็นสัตว์ชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า ป่าไหนที่มีทากมากก็แสดงว่ายังมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่คงเหลืออยู่เยอะมากตามไปด้วย

ส่วนประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างเราๆ คือ สารจากน้ำลายของสัตว์ในกลุ่มทากถูกใช้เป็นยาละลายลิ่มเลือดหลายชนิด เราใช้สารสกัดจากปลิงยุโรป (Hirudo medicinalis) เพื่อช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหลังผ่าตัด

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การใช้ทากและปลิงในการรักษาได้รับความนิยมอย่างมาก โรคที่ใช้ปลิงดูดเลือดคนไข้เพื่อรักษามีตั้งแต่ ปวดหัว โรคผิวหนัง โรคเกาต์ เนื้องอก รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางจิต และใช้ป้องกันเลือดคั่งหลังการผ่าตัดอย่างต่อนิ้วเป็นต้น
.

ภาพรอยแผลจากการกัดของทาก

.

จะเข้าป่ายังไงให้ปลอดทาก?

คงเป็นคำถามนี่นักเดินป่าหน้าใหม่อยากจะถามมากที่สุด ว่าถ้ารักจะเที่ยวป่าแล้วจะเตรียมตัวยังไงให้เราปลอดภัยจากนักดูดเลือดตัวน้อยพวกนี้นะ

ไปลองอ่านบนอินเทอร์เน็ตก็มีมากมายหลายวิธี ทั้งยาเส้น ยาหม่อง ทันสมัยหน่อยก็พวกสเปรย์กันยุง ยาฆ่าแมลงต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วอะไรๆ ที่เป็นสารเคมีร้อนแรงก็คงใช้กันทากได้เหมือนกัน แต่อะไรจะกันทากได้และดีกับสิ่งแวดล้อมต่างหากที่หลายคนลืมที่จะคำนึงถึงไป
.

การแต่งกายที่เหมะสมเมื่อจะต้องเดินป่าฝ่าทาก รองเท้าหุ้มส้น ถุงกันทาก เสื้อในกางเกงและชุดรัดกุม

ส่วนตัวเราคิดว่าการป้องกันทากที่ดีที่สุดคือการป้องกันทางกายภาพ เช่นการใส่รองเท้าที่เหมาะสม ใส่ถุงเท้าเนื้อละเอียด หรือที่ปลอดภัยที่สุดคือใส่ถุงกันทากที่จะช่วยกันไม่ให้ทากเล็ดลอดเข้าไปกัดเราในรองเท้าได้ เอาเสื้อใส่ในกางเกงและหมั่นสำรวจว่ามีทากไต่ขึ้นมาบ้างรึเปล่า ทำความตกลงกับเพื่อนว่าให้ผลัดกันมองขาคนข้างหน้าถ้าเจอทากก็ผลัดกันหยิบออกเป็นกิจกรรมเสริมความสัมพันธ์ที่ออกจะน่ารักดี แค่นี้ก็ปลอดภัยเพียงพอสำหรับการเดินป่าในเทรลที่ทากมหาโหดแล้ว
.

อย่ากลัวพวกเราไปเลย

ทากกับผืนป่าดูจะเป็นของคู่กันตลอด เพราะมีเพียงป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีความชื้นสูง และมีสัตว์ใหญ่มากมายเพียงพอเท่านั้นที่จะให้ทากอาศัยอยู่ได้ ดังนั้น หากรักที่จะเรียนรู้เรื่องราวธรรมชาติในผืนป่า เราจึงควรเปลี่ยนทัศนคติต่อทากเสียใหม่ ว่าเขาเป็นเจ้าของบ้านและเราเป็นแค่แขกที่ไปเยี่ยม

ไม่มีเจ้าของบ้านคนไหนควรจะโดนรังเกียจจากแขกที่มาเยี่ยมเยือนใช่มั้ยครับ

เคยได้ฟังนักเดินป่ารุ่นเก๋าปลอบใจมือใหม่เข้าป่าที่กลัวทากไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า การที่เราโดนทากกัดในป่า มองอีกแง่หนึ่งก็คือการฝากส่วนหนึ่งของเราไว้ป่าแบบหนึ่ง ต่อจากนี้ไปทากที่กินเลือดเราจะมีดีเอ็นเอของเราเป็นส่วนหนึ่งของตัวมัน ถ้าทากโดนนกกิน นกก็จะมีส่วนหนึ่งของเราอยู่ด้วย ถ้านกโดนเสือลายเมฆกิน ดีเอ็นเอของเราก็จะถ่ายทอดไปสู่เสือตัวนั้น จวบจนวันที่สัตว์ตายก็จะย่อยสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของดิน

และถูกต้นไม้ดูดซึมเข้าไปกลายเป็นวัฏจักร ดีเอ็นเอของเราจะดำรงอยู่ในป่าตลอดกาลนาน

เป็นการโดนทากกัดที่โรแมนติกดีจริงๆ

หลังจากได้ฟังเรื่องนี้ เวลาเห็นใครๆ การุณยฆาตทากที่ดูดเลือดเรา บ้างก็ใช้ยาเส้น สเปรย์กันยุง บางเจ้าแค้นจัดถึงกับใช้ไฟแช็คเผาให้ตัวทากแตกดังโป๊ะ เราจะรู้สึกเสียดายโอกาสเหลือเกิน

โอกาสของทากตัวนั้นที่จะได้อยู่ทำหน้าที่ในระบบนิเวศต่อไป และโอกาสที่ส่วนหนึ่งของเราจะได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่า

ที่ถึงตัวเราจะจากไป แต่ดีเอ็นเอของเราจะคงอยู่ในป่าผืนนั้นชั่วนิจนิรันดร์
.

อ้างอิง

ผู้เขียน: วรพจน์ บุญความดี