ในเรื่องของระบบนิเวศ (ecosystem) หรือ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่อาศัย ณ ที่ใดที่หนึ่ง คงพอจะทราบกันมาบ้างว่า ในองค์ประกอบของระบบนิเวศที่มีชีวิต (biotic component) นั้น ประกอบไปด้วย ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย
นิเวศน่ารู้ในตอนนี้ ชวนมาทำความรู้จักกันคร่าวๆ ว่า ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย ในระบบนิเวศนี้เป็นใคร มีหน้าที่ทำอะไรกันบ้าง
ผู้ผลิต
เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้ โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) พืชที่มีสารสี (คลอโรฟิลล์ แคโรทีน แซนโทฟิลล์) ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง เราเรียกสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ว่า ออโตโทรฟ (Autotroph) เช่น พืชต่างๆ แพลงตอนพืช แบคทีเรียบางชนิดที่สังเคราะห์แสงได้
สิ่งมีชีวิตเหล่านี้โดยเฉพาะพืชใบเขียว สร้างอาหารขึ้นมาเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่สัตว์ที่กินพืช ซึ่งรับเข้าไปในรูปของอาหาร จึงจัดว่าเป็นพวกที่มีความสำคัญในขั้นแรกของห่วงโซ่อาหารและการหมุนเวียนพลังงานในระบบนิเวศอีกด้วย
ผู้บริโภค
องค์ประกอบที่มีชีวิตในระบบนิเวศนั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย ในคราวนี้จะขอนำเสนอ “ผู้บริโภคในระบบนิเวศ” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยพวกอื่นในการผลิตอาหาร ซึ่งผู้บริโภคนี้เองจะเป็นพวกที่คอยควบคุมประชากรต่างๆในระบบนิเวศ ให้อยู่กันอย่างสมดุล
ผู้บริโภคในระบบนิเวศแบ่งย่อยได้อีก 3 พวก คือ
1.) สัตว์กินพืช (Herbivores) เช่น ช้าง กระทิง เลียงผา กวาง รวมถึงพวกที่กินเศษอินทรีย์ เช่น กิ้งกือ ไส้เดือน และหอยต่างๆ
2.) สัตว์กินเนื้อ (Carnivores) เช่น เสือ หมาใน กบ ซึ่งจะกินสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร
3.) กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivores) เช่น นกบางชนิด
ผู้เปลี่ยนแปลงซาก
เห็ดราอยู่ในอาณาจักรฟังไจ (Kingdom fungi) มีหน้าที่ที่สำคัญในระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ย่อยสลาย (decomposer) ในธรรมชาติ
เห็ดจะกินอาหารโดยปล่อยเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายโครงสร้างอย่างเซลลูโลสและลิกนินในเปลือกไม้ ให้เป็นอนุภาคเล็กๆ แล้วดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ตัวมัน ซึ่งส่วนอื่นๆที่มันไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะถูกย่อยกลับลงสู่ธรรมชาติ และนำสารอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นเห็ดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการหมุนเวียนอาหารและเติมเต็มวัฎจักรต่างๆ ในธรรมชาติ