เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา Kenji Suetsugu นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Kobe ประเทศญี่ปุ่น และทีมของเขา ได้ค้นพบว่า ตั๊กแตนกิ่งไม้ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ramulus irregulariterdentatus) เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถเดินทางไกลได้ แต่พวกมันสามารถกระจายพันธุ์ไปยังที่ห่างไกลออกไปได้ด้วยการอาศัยนกกินแมลงเป็นตัวช่วยในการกระจาย นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ของกลไกมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ขึ้น
ปรกติเรามักจะคุ้นเคยกันดีกับการที่นกช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืช โดยการกินผลพืชและถ่ายมูลตามสถานที่ต่างๆ ที่มันบินไป ทำให้พืชเหล่านั้นสามารถกระจายเมล็ดและเติบโตได้ในแหล่งต่างๆ แต่ในกรณีการกระจายพันธุ์ครั้งนี้กลับเป็นแมลงที่อาศัยนกกินแมลงช่วยการกระจายพันธุ์จึงถือเป็นการค้นพบอันน่าอัศจรรย์
หากเป็นนกที่กินแมลงเป็นอาหารหลัก เราอาจคิดว่าเจ้าแมลงและลูกของมันต้องตายเมื่อถูกนกกิน อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ค้นพบว่าเจ้าตั๊กแตนชนิดนี้มีกระบวนการกระจายพันธุ์ด้วยการอาศัยนกกินแมลง เมื่อนกกินแมลงกินตั๊กแตนกิ่งไม้ตัวเมียเข้าไป ขณะที่ถ่ายมูลออกมาไข่ซึ่งอยู่ในร่างของแมลงที่ออกแบบมาให้มีลักษณะเปลือกหนามาก กระทั่งสามารถทนกรดหรือระบบการย่อยอาหารของนกได้ ทำให้ลูกของแมลงมีโอกาสกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่อื่นได้
จากการทดลองโดยนำไข่ของตั๊กแตนใบไม้ 3 ชนิด ป้อนให้กับ นก Brown-eared Bulbul กิน โดยนกชนิดนี้ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกนกปรอดในบ้านเรา เป็นนกขนาดกลางที่กินแมลงเป็นหลักพบเจอตัวได้ง่ายในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเวลาผ่านไปนักวิจัยพบว่าร้อยละ 5-20 ของไข่ตั๊กแตนนั้นสามารถฝักออกมาจากไข่และมีชีวิตรอดโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ ทำให้ทราบว่าตั๊กแตนกิ่งไม้สามารถกระจายพันธุ์ได้ด้วยการใช้นกเป็นเครื่องมือในการขนส่งนั่นเอง
ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังวางแผนขยายงานวิจัยของพวกเขาไปยังสัตว์อื่นๆ เพื่อตรวจสอบพันธุกรรมของตั๊กแตนกิ่งไม้กับเส้นทางการบินนก ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจได้ดีขึ้นว่าการแพร่กระจายของแมลงโดยการถูกกินมีผลต่อการถ่ายทอดยีนในตั๊กแตนอย่างไรต่อไป