กระทิง หรือ เมย เป็นสัตว์เท้ากีบ อยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับควายป่าและวัวแดง แต่กระทิงนั้นมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างใหญ่ ล่ำ มีขนสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ขาทั้งสี่มีสีขาวคล้ายกับสวมถุงเท้าอยู่ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตรงหน้าผากที่อยู่ระหว่างเขาจะมีขนสีน้ำตาล พร้อมจุดแต้มสีเทาอมเหลือง เรียกว่า ‘หน้าโพ’
กระทิงนั้นมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งจะมีสมาชิกตั้งแต่ 2 – 60 ตัว ซึ่งในฝูงจะประกอบด้วยตัวเมียและลูก โดยปกติแล้ว กระทิงจะอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่สูง หรือหากินร่วมกับสัตว์กินพืชชนิดอื่น ตัวผู้มักอาศัยอยู่ตามลำพังแต่จะเข้าไปอยู่รวมฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ฝูงกระทิงจะเดินหากินสลับไปกับการนอนหลับพักผ่อนตลอดทั้งวัน โดยบางตัวจะนอนหลับท่ายืนหรือนอนราบกับพื้น กระทิงสามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายสภาพป่า ทั้งป่าเบญจพรรณ, ป่าเต็งรัง, ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบเขาหรือบางครั้งก็อาจเข้าไปหากินอยู่ตามไร่ร้างหรือป่าที่อยู่ในสภาพฟื้นฟูจากการทำลายและมักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำเนื่องจากอดน้ำไม่เก่ง
ในประเทศไทยเดิมทีเราสามารถพบกระทิงได้ตามป่าทุกภาคของประเทศแต่หลังจากถูกคุกคามในพื้นที่หากินหรือแม้กระทั่งการถูกล่าจากมนุษย์ก็ทำให้จำนวนกระทิงนั้นลดลงเรื่อยๆ
เมื่อพูดถึงการถูกล่าของกระทิงแล้วนั้น เราจะขอย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ทหารตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งทุกคนอาจจะทราบว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ใช่แค่เฮลิคอปเตอร์ทหารตกธรรมดา เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิด 14 ตุลา วันมหาวิปโยค ซึ่งจุดเริ่มต้นของเรื่องราว เกิดจากการที่เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตก เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 บริเวณ อ.บางเลน จ.นครปฐม โดยมีคณะทหาร ตำรวจ และดาราหญิงชื่อ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คนนอกจากนี้ในซากเฮลิคอปเตอร์ยังพบซากสัตว์เป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นซากของกระทิงที่ถูกล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนเหตุการณ์ในขณะนั้นสร้างกระแสความไม่พอใจเป็นอย่างมากในหมู่นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน
ในปี 2537 ประเทศไทยมีการประเมินจำนวนประชากรกระทิงไว้อยู่ที่ 920 ตัว ซึ่งมีเขตอนุรักษ์เพียง 6 – 7 แห่งเท่านั้น ที่มีประชากรเกินกว่า 50 ตัวพื้นที่ที่สำคัญที่สุดคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคาและอาจรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น
ปัจจุบันกระทิงในประเทศไทยมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 และเป็น 1 ใน 51 สัตว์ป่า ตามบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I ) ซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม นายกิตติศักดิ์ ศรีปัดถา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ได้ระบุว่า ภายในช่วงปี 2547-2550 พื้นที่ปลูกป่าเขาแผงม้ามีจำนวนกระทิงเพิ่มขึ้นเป็น 100 ตัว และในปัจจุบันจำนวนกระทิงในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้นกว่า 300 ตัว แต่พื้นที่ป่าเขาแผงม้ามีเพียง 5,000 ไร่ จึงทำให้มีฝูงกระทิงออกหากินจนเต็มพื้นที่ และเมื่อเกิดการแย่งเป็นจ่าฝูง จึงทำให้กระทิงบางตัวถูกขับออกจากฝูงและหากินรุกที่ชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง จนเป็นสาเหตุให้มีประเด็นเรื่องการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่า อยู่เป็นประจำ โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า กระทิงนั้นอยู่ลำดับที่ 8 จาก 10 อันดับสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายมากที่สุด
รู้หรือไม่ : Appendix I คืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ (CITES) โดยบทบัญญัตินี้ ประเทศสมาชิกจึงห้ามค้าในเชิงพาณิชย์ การส่งออกจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน
ข้อมูล appendix กับ ประชากรกระทิง http://www.tnamcot.com/view/5a0afd31e3f8e40adc8e51df