แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยคืนสู่ธรรมชาติ

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยคืนสู่ธรรมชาติ

แกร๊ก แกร๊ก…

ขณะที่เจ้าหน้าที่สองคนค่อยๆ แง้มบานประตูกรงอ้าออก

พรึ่บ…

เวลาประมาณ 10.35 น. เจ้าบุญรอดกระโจนออกมาจากกรง ตามมาด้วยเจ้ากระบี่ที่โผออกมาอย่างเก้งๆ กังๆ แล้วพากันยืนงงบนพื้นถนนที่ระดับความสูง 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ณ ดอยลาง ตั้งอยู่บนชายประเทศไทย-เมียนมา

เจ้าบุญรอด แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย อายุประมาณ 10 เดือน เพศเมีย เดินหมุนรอบตัวเองเสียรอบหนึ่ง ผินหน้าไปเจอเจ้ากระบี่ ก่อนขยับเข้าไปใกล้เพื่อน

ขณะที่แร้งสีตัวหนึ่งสยายปีกคลายความเมื่อยล้าพร้อมกันนั้นก็ผึ่งขนให้แห้ง ก่อนจะทยอยทะยานสู่น่านฟ้ากลับสู่บ้านตามเส้นทางการอพยพต่อไป

ฤดูเหมันต์ที่ผ่านมา ปรากฏรายงานการพบแร้งหิมาลัยร่วงลงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เนื่องจากพวกมันหมดแรงจากการขาดอาหาร เพราะหาซากสัตว์ที่เป็นอาหารกินไม่ได้ ทั้งสิ้นจำนวน 4 ตัว

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (ชื่อภาษาอังกฤษ Himalayan Vulture , ชื่อวิทยาศาสตร์ Gyps himalayensis) แร้งชนิดนี้จัดว่าเป็นนกบินได้ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นรองเพียงแร้งดำหิมาลัยเท่านั้น แร้งสีน้ำตาลถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคามต่อการสูญพันธุ์ (near-threatened) ซึ่งเป็นชนิดที่หาได้ยาก

ประชากรแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยทั่วโลกมีประมาณ 66,000 ตัว แต่หากรวมจำนวนขลูกนกที่หากทุกปีประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์คาดว่าน่าจะมีไม่เกิน 1 แสนตัว

 

PHOTO : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ

 

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมิใช่นกประจำถิ่นประเทศไทยเพียงแต่มักจะพากันบินอพยพลงใต้เข้ามาในประเทศไทยช่วงฤดูหนาว ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า แร้งสีน้ำตาลแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ทำรังวางไข่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน และ (2) กลุ่มที่ทำรังวางไข่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราบสูงทิเบต

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยจะฟักเป็นตัวช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกน้อยในรังบนหน้าผาหินไปจนถึงเดือนกันยายนหรือตุลาคม และเมื่อลูกแร้งเริ่มบินได้ก็จะร่อนเร่ออกจากถิ่นอาศัย และเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่มีลมหนาวกำลังแรงพัดมาจากเหนือลงใต้จากประเทศจีน แร้งก็จะร่อนตามลมหนาวมาตามเส้นทางการอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ร่อนมาตามเทือกเขาตะนาวศรี โดยมีรายงานพบแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยตกบริเวณจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และไปตกในภาคใต้จังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี และสตูล กระนั้นในอดีตมีรายงานแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยบินตกที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่บนเส้นทางการอพยพ และยังมีรายงานจากจังหวัดชัยภูมิ

ด้วยลักษณะที่สง่างามขัดกับภาพจำคนไทยที่เมื่อนึกถึงแร้งจะคิดถึงพญาแร้งที่มีหัวล้าน แต่แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยดูจะน่ารักกว่ามาก มันมีชุดขนเป็นสีน้ำตาล ขนสีขาวปกคลุมตั้งแต่ส่วนหัวไปจนถึงลำคอที่ยาวมาก บริเวณคอจะมีขนอ่อนฟูขึ้น ลักษณะภายนอกนี้เองเป็นการปรับตัวตามถิ่นอาศัย เนื่องจากแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยทำรังวางไข่ในพื้นที่สูงมากกว่า 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ฉะนั้นจึงมีอุณหภูมิที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี และในวงการนักดูนกได้อธิบายลักษณะปีกสีเหลี่ยมคางหมูที่ยาวประมาณ 2.7-2.9 เมตร ซึ่งถือว่ายาวมากประหนึ่งบานประตู เมื่อกางปีกร่อนเหนือลม จึงเรียกกันเล่นๆ ว่า “ประตูบินได้”

หน้าที่หลักของแร้งในระบบนิเวศคือการทำหน้าที่ขจัดซากสัตว์ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เพราะแร้งโดยทั่วไปเวลาพบซากจะลงดึงทึ้ง 10-20 ตัว เพื่อกินซาก ดังนั้นความเร็วในการกำจัดซากสัตว์จึงมีไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนของกล้ามเนื้อก็จะถูกกินจนหมด ซึ่งส่วนของเศษเนื้อนี้เองหากไม่มีการกำจัดอาจจะเกิดกระบวนการเน่าและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และจะมีแมลงเป็นตัวนำเชื้อโรคเหล่านั้นแพร่ยังแหล่งต่างๆ

แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการซากปศุสัตว์ รวมถึงซากสัตว์ในธรรมชาติลดลง ทำให้มันจึงหมดแรง ร่วงลงสู่พื้นในที่สุด ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นแร้งหิมาลัยส่วนใหญ่มักร่วงในภาคใต้ จึงมีกระบวนการฟื้นฟูสุขภาพของแร้งหิมาลัย เพื่อนำไปปล่อยคืนธรรมชาติในถิ่นอาศัยและฤดูกาลที่เหมาะสมต่อชนิดพันธุ์เป็นประจำทุกปี

 

PHOTO : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ
PHOTO : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ

แร้งหิมาลัยที่บินตกภาคใต้ทั้ง 4 ตัว ได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านส่งแร้งทั้งสิ้นให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงาและพัทลุงรับไปอนุบาลเบื้องต้น กระทั่งส่งต่อให้ หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ดูแลฟื้นฟูสุขภาพตรวจสอบสุขภาพ ดังนี้

น้องบุญรอด หรือภูเก็ต รหัส KU615 แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย วัยเด็กอายุประมาณ 10 เดือน เพศเมีย น้ำหนัก 7.9 กิโลกรัม ประวัติขาดอาหารหมดแรง ที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ห่วงขาขวา 18A00012

น้องกระบี่ รหัส KU616 แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย วัยเด็ก อายุ 10 เดือน เพศผู้ น้ำหนัก 7 กิโลกรัม ประวัติขาดอาหารหมดแรง ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในวันที่ 22 มกราคม 2561 ห่วงขาขวา 17A00032

ด้านแร้งอีก 2 ตัวที่เหลือนั้น หนึ่งตัวป่วยด้วยโรคเชื้อราในปอดหรือถุงลมเรื้อรัง ตั้งแต่ช่วงแรกอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา เนื่องจากเดิมแร้งตัวดังกล่าวมีอาการป่วยหนักด้วยโรคปอดหรือถุงลมอักเสบแล้ว และอีกหนึ่งตัวตายจากอาการไตวาย

ภายหลังน้องบุญรอดและน้องกระบี่ได้รับการดูแล มีสุขภาพดีและแข็งแรงขึ้นแล้ว ทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก หน่วยเฉพาะกิจทหารม้าที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 334 อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตว์แพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการปล่อยแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยทั้ง 2 ตัว คืนสู่ธรรมชาติ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

จุดที่นำแร้งสีน้ำตาหิมาลัยไปปล่อยคือ ผาอนาคินหรือจุดชมวิวสันจุ๊ พื้นที่ติดต่อระหว่างอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย ในเส้นทางดอยลาง ซึ่งตั้งอยู่บนชายแดนประเทศไทย-เมียนมา ที่ระดับความสูง 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งอยู่บนเส้นทางอพยพของแร้งหิมาลัยในประเทศไทย เดือนเมษายนเป็นฤดูกาลอพยพของนกอพยพกลับถิ่นอาศัยในช่วงฤดูผสมพันธุ์

 

PHOTO : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือรักษาฟื้นฟูสุขภาพของนกล่าเหยื่อหรือนกนักล่า ประกอบด้วย เหยี่ยว นกอินทรี แร้ง นกเค้าและนกแสก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย แล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นอาศัยและฤดูกาลที่เหมาะสมต่อชนิดพันธุ์

ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว เผยสถิติแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยบินอพยพเข้ามายังประเทศในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อครั้งแรกในปี 2550 เมื่อครั้งพบแร้งดำหิมาลัย จากนั้นได้รับความร่วมมือจากนักดูนกส่งรายงานและภาพถ่ายทำให้เราทราบว่าในแต่ละปีมีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยบินเข้ามายังประเทศไทยช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่มีลมหนาวโคจรกำลังแรงพัดมาจากประเทศจีนประมาณ 10-30 ตัวต่อปี โดยสามารถ สามารถพบได้มากที่สุดในเดือนธันวาคม แต่อาจยาวไปจึงถึงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ และส่วนใหญ่จะมีตัวที่หมดแรงเพราะหาซากสัตว์กินไม่ได้ มักจะพบแร้งตกที่ทางภาคใต้ของประเทศไทย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโดยเฉลี่ยที่พบรายงานแรกจะพบแถบบริเวณตอนเหนือของประเทศไทย บริเวณดอยลาน ดอยผ้าห่มปก ซึ่งบางครั้งสามารถพบฝูงหนึ่งมี 3-5 ตัว หรือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเคยพบฝูงใหญ่ที่มีจำนวนถึง 15 ตัวด้วยกัน

การเก็บข้อมูลที่มีภาพถ่ายยืนยันตลอด 10 ปีนั้น แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยอพยพเข้ามายังประเทศไทยเฉลี่ย 30 ตัวไม่เปลี่ยนแปลง แต่พบว่าแร้งที่บินตกนั้นมีจำนวนลดลงที่ถือเป็นนิมิตรหมายอันดี

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ได้รับแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมาดูแลฟื้นฟูทั้งสิ้นจำนวน 28 ตัว ซึ่งแร้งที่รับมานั้นล้วนเป็นแร้งวัยเด็กทั้งสิ้น และตัวที่ปล่อยครั้งนี้คือตัวที่ 23 และ 24

หากประชาชนพบเห็นแร้งหรือสัตว์นักล่าสวมโลหะ โปรดแจ้ง สายด่วน 1362 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เจ้าหน้าที่จะสามารถแนะนำผู้พบนกตกให้ติดต่อไปยังหน่วยงานหรือสถานีเพาะเลี้ยงใกล้เคียงที่สุดได้

หรือต้องการนำนกที่บาดเจ็บหรือตกไปส่งเอง สามารถนำส่งได้ที่ หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม หรือบริเวณเขตกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลสามารถส่งได้ที่ คลินิกสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ซึ่งหน่วยงานจะรับดูแลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง และเราจะดำเนินการฟื้นฟูสุขภาพนก ตัวใดสามารถปล่อยได้ก็จะดำเนินเรื่องปล่อย หรือหากมีนกที่จำเป็นต้องปล่อยในพื้นที่อนุรักษ์ ทางหน่วยงานฟื้นฟูก็จะดำเนินเรื่องส่งไปตามขั้นตอนของกรมอุทยานฯ เพื่อขอปล่อย เนื่องจากพื้นที่อนุรักษ์เป็นพื้นที่ควบคุมจึงต้องรายงานให้ทางกรมอุทยานฯ รับทราบ

ติดตาม หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ได้ที่เพจเฟสบุ๊ค หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ Kasetsart University Raptor Rehabilitation Unit

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ