สัตว์ป่าไทยต่อความ เสี่ยงสูญพันธุ์ “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่สร้างรูป Profile ได้นะ BORN TODAY แอพทำรูป Profile แบบ DIE TOMORROW มาแล้ว” เพจ Nawapol Thamrongrattanarit ได้กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2017 เพื่อโปรโมทผลงานของ เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (1984 -)
กลายเป็นไวรัลหนังสุดเก๋ที่ครีเอทโดย Spacebar Design Studio และแพร่ระบาดในโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว
หลังจากชื่อและธีมเรื่องจะชวนให้เราหวนคิดถึงช่วงชีวิตนี้และตกตระกอนตามวาระกันไปบ้างแล้ว เราขอหักมุมอีกนิด ด้วยการชวนมาครุ่นคิดกับช่วงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่น และขอยกตัวอย่างและพูดถึง “สัตว์ป่า”
โดยข้อมูล BIRTH YEAR เราขอแปลงเป็นปีที่ได้รับการค้นพบหรือถูกตั้งชื่อสัตว์ป่าเหล่านั้นเป็นครั้งแรกซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจาก IUCN Red List (www.iucnredlist.org)
เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป ย่อมเป็นวัฏจักรของทุกสิ่งมีชีวิตแต่เมื่อประชากรสัตว์ป่าบางชนิดเหลือน้อยลงมนุษย์จึงเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์สายพันธุ์ให้ธำรงอยู่สืบต่อไปยังลูกหลาน และร่วมมือกันอนุรักษ์ทั้งภายในประเทศและระดับโลกจนมีแนวทางรวมไปถึงกฎหมายออกมามากมาย
มาดูกันว่าสัตว์ที่เรายกตัวอย่างครั้งนี้นั้นมีอะไรบ้าง
ลิ่น (1758 -)
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวในโลกที่มีเกล็ด นั่นคือ ลิ่น/ตัวนิ่ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Manis pentadactyla (Linnaeus, 1758) และยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการซื้อขายสูงสุดในตลาดมืดอีกด้วย
ลิ่นทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 8 ชนิด สามารถพบในประเทศไทยได้ 2 ชนิด คือ ลิ่นซุนดาและลิ่นจีน โดยลิ่นจีนจะมีลักษณะสีคล้ำกว่า พวกมันถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกทั้งตัวและซากสัตว์ได้ ส่วน IUCN Red List จัดให้ลิ่นทั้งสองสายพันธุ์นี้อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered – CR)
ลิ่นนั้นไม่มีทั้งขากรรไกรและฟัน มันกินอาหารด้วยลิ้นยาวๆ แลบออกมาตวัดจับมด แมลง และปลวกตามพื้นดินเข้าปากเป็นอาหาร โดยการออกลูกแต่ละครั้งจะตกครั้งละ 1-2 ตัว เมื่อโตขึ้นเกล็ดที่หนาสามารถห่อหุ้มตัวจะกลายเป็นเกราะป้องกันภัยอันตราย ขณะที่พวกมันมีนิสัยรักสงบ ไม่ชอบต่อสู้ เมื่อเจอภัยมันจึงม้วนตัวขดไว้ใต้เกราะเกล็ดทำให้ถูกมนุษย์ล่าได้อย่างง่ายดาย
ด้วยความพยายามของเหล่าเจ้าหน้าที่ทำให้พวกเราพบข่าวคราวขบวนการค้าสัตว์ป่าที่ถูกจับกุมตามเส้นทางการลักลอบนำเข้าและส่งออกสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นลิ่น เพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ยังมีการบริโภคสัตว์ป่าเหล่านี้อยู่ โดยพบว่ากลุ่มผู้บริโภคลิ่นนั้นอยู่ในประเทศจีน เวียดนาม ที่บริโภคทั้งเนื้อ เลือด และเกล็ด
ข้อมูลจากกองไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในรอบ 10 ปี ระหว่างปี 2008-2017 พบว่าตรวจยึดลิ่นมีชีวิตได้จำนวน 3,649 ตัว ซากลิ่น 38 ซาก เนื้อลิ่น 4.5 กิโลกรัม และเกล็ดลิ่น 767.9 กิโลกรัม
โอกาสรอดตายของลิ่นขณะมีชีวิตหลังการถูกยึดได้นั้นมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าใช้วิธียัดแป้งเพิ่มน้ำหนักและอัดยาชูกำลังเพื่อให้มันอยู่ได้นานระหว่างขนส่ง ทำให้ลิ่นที่พบมีสภาพบอบช้ำมาก
เพราะค่าความเชื่อเกี่ยวกับลิ่นยังคงมีอยู่ ทั้งสรรพคุณทางยาอายุวัฒนะ เพิ่มประสิทธิภาพทางเพศ เหล่าขบวนการค้าสัตว์ป่าจึงตอบสนองตามใบสั่งด้วยการล่า สิ่งนี้เองเป็นสาเหตุทำให้ลิ่นลดจำนวนลงเรื่อยๆ
ไม่เพียงภายในประเทศไทยเท่านั้นที่ลิ่นกำลังลดประชากรลง เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว เขมร และเวียดนาม ก็ลดจำนวนลงจนแทบจะสูญพันธุ์เช่นกัน
Photographer : Jefri Tarigan
news.thaipbs.or.th/content/260292
www.iucnredlist.org/details/12764/0
เต่ามะเฟือง (1761 -)
หากพูดถึงสัตว์ดึกดำบรรพ์ร้อยล้านปีที่ปัจจุบันยังมีดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผัน พาให้นึกไปถึงเจ้าเต่ามะเฟือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dermochelys coriacea (Vandelli, 1761) ที่ถือเป็นสัตว์ในตำนานสามารถพบเจอได้ยากและใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทย
เต่ามะเฟืองเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะเมื่อโตเต็มวัยแล้วกระดองจะมีขนาดความยาวถึง 2.5 เมตร และหนักกว่า 1 ตัน พวกมันใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลลึก ตามรายงานของ Lutcavage and Lutz ปี 1997 กล่าวว่า เต่ามะเฟืองสามารถดำน้ำลึกได้มากถึง 1,000 เมตรเลยทีเดียว และบางครั้งพวกมันชอบลงไปหาอาหารใต้พื้นทะเล โดยกินพืชและสัตว์ที่ลอยละล่องมาตามน้ำ แต่จะชื่นชอบพวกแมงกระพรุนเป็นพิเศษ พวกมันจึงอาศัยอยู่ในทะเลเปิด
การลดลงของจำนวนเต่ามะเฟืองนั้นประกอบไปด้วยหลายปัญหา เช่น อัตราการรอดของลูกเต่าตามธรรมชาตินั้นมีน้อย การติดเครื่องมือประมง การทำลายแหล่งขยายพันธุ์ เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่มีความเปราะบางและใส่ใจในเรื่องของการวางไข่ ดูทั้งลักษณะของเม็ดทราย ความชัน มลพิษ หากในน้ำมีค่า ph มากเกินไปเต่าก็จะไม่ขึ้นมาวางไข่ หรือหากมีสิ่งก่อสร้างอันไม่เหมาะสมตามแนวชายฝั่งรบกวนการวางไข่ พวกมันก็จะหวาดระแวงและไม่ขึ้นมาวางไข่เช่นกัน
เต่ามะเฟืองในประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤตมากและไม่พบการวางไข่มาหลายปี จากเดิมที่มักมาวางไข่ทุกๆ ปี แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เต่ามะเฟืองก็เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ขึ้นมาวางไข่เช่นดังเดิม ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเยือนพื้นที่ การท่องเที่ยวในลักษณะที่รบกวนความสงบเพิ่มมากขึ้น เต่ามะเฟืองจะทำเช่นไรเมื่อแหล่งวางไข่ที่เหลือเพียงน้อยนิดในประเทศไทยไม่สงบอีกต่อไป
นี่ยังรวมไปถึงปัญหาขยะทะเลที่เหล่าเต่าทั้งหลายกินพลาสติกเข้าไป เพราะชิ้นส่วนเหล่านั้นมีลักษณะคล้ายแมงกระพรุนที่เป็นอาหารสุดโปรด จนทำให้พวกมันก็ต้องตาย
พลังแห่งการอนุรักษ์คนละไม้คนละมือช่วยกันผลักดันเพิ่มเต่ามะเฟืองให้กลายเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่ของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่คณะรัฐมตรีได้อนุมัติตามหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ปีที่ผ่านมา
แต่กระทั่งปัจจุบันนี้ เต่ามะเฟือง ผู้ถูกจัดให้เป็นสัตว์มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable – VU) โดย IUCN Red List ก็ยังค้างเติ่งได้ราวปีครึ่ง และสถานะของเหล่าเต่ามะเฟืองก็ยังเป็น “ว่าที่สัตว์สงวน” เรื่อยมา
ก็ไม่รู้ว่าเจ้าเต่ามะเฟืองจะต้องรอไปอีกนานแค่ไหนกว่าตัวเองจะถูกบรรจุในรายชื่อสัตว์สงวน และกฎหมายมีผลบังคับใช้ที่จะสามารถคุ้มครองชีวิตของพวกมันได้ เอาเป็นว่าระหว่างนี้ช่วยกันรักษาความสะอาดพื้นที่ชายฝั่งและท่องเที่ยวโดยไม่รบกวนระบบนิเวศกันต่อไป
Photographer : Michael Patrick O’Neill
เต่าทะเลไทย: ชนิด ชีววิทยา การศึกษาและการอนุรักษ์ – goo.gl/HEbJby
ชันสูตรซากเต่ามะเฟืองพบถุงพลาสติก – goo.gl/KXYFFh
www.iucnredlist.org/details/6494/0
นกแต้วแล้วท้องดำ (1875 -)
นกแต้วแล้วท้องดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrornis gurneyi (Hume, 1875) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1875 ซึ่งความสวยงามของเจ้านกชนิดนี้ทำให้ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 1 ใน 30 ชนิดสวยที่สุดของโลก
ในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่พบเจออีกจึงเข้าใจแล้วว่ามันได้สูญพันธุ์ไปโลกแล้ว กระทั่งปี 1986 ผศ.ดร. ฟิลลิปป์ ดี ราวน์ และคุณอุทัย ตรีสุคนธ์ ได้พบนกแต้วแล้วท้องดำในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ จังหวัดกระบี่ อีกครั้ง
ในอดีตนกแต้วแล้วท้องดำมีเขตการกระจายค่อนข้างกว้าง แต่ปัจจุบันพื้นที่ถูกจำกัดลงเหลือเพียงทางตอนใต้ของไทยและแถบเขตเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim) และทางตอนใต้ของประเทศพม่า
พฤติกรรมการหากินจะหากินตามพื้นดินบริเวณป่าพื้นที่ราบลุ่มต่ำ เป็นนกประจำถิ่น ไม่มีการอพยพ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าสาเหตุหลักของการลดจำนวนลงคือการเสียบ้านที่อยู่อาศัย จากการตัดไม้ทำลายป่า การบุกบุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรในการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา
อีกมีกรณีการล่าการค้าสัตว์ป่า และศัตรูในธรรมชาติ ได้แก่ งู กระรอก ตัวเงินตัวทอง เป็นต้น สิ่งต่างๆ เมื่อนำมาประกอบกันแล้วเป็นเหมือนการเร่งกระบวนการให้นกแต้วแล้วท้องดำสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งในประเทศไทยนกแต้วแล้วท้องดำถูกจัดให้เป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวนของไทยจำนวน 15 ชนิด ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และ IUCN Red List ได้จัดให้นกแต้วแล้วท้องดำอยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์ (endangered – EN) โดยรวมนั่นหมายถึงการห้ามล่า ห้ามเก็บ ห้ามทำอันตรายหรือมีรังของนกแต้วแล้วไว้ในครอบครอง
เมื่อปีที่ผ่านมา มีข่าวครึกโครมเรื่องของนกแต้วแล้วคู่สุดท้ายของไทยได้เข้าโครงการฟื้นฟูประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ–บางคราม จังหวัดกระบี่ หลังพบนกตัวเมียหนึ่งตัวในป่าธรรมชาติ ความพยายามในการอนุรักษ์จะเป็นเช่นไร คงต้องมาร่วมลุ้นกันต่อไป
Photographer : mommam
www.nationtv.tv/main/program/378502264
www.iucnredlist.org/details/22698628/0
พะยูน (1776 -)
พะยูน ชื่อวิทยาศาสตร์ Dugong dugon (M?ller, 1776) ได้ถูกค้นพบและตั้งชื่ออย่างเป็นทางการในปี 1776 พวกมันถือเป็นสัตว์โบราณที่ใกล้สูญพันธุ์ และสามารถพบเจอได้ค่อนข้างยาก
ปัจจุบันพะยูนเหลืออยู่ประมาณ 200 ตัว แถบบริเวณฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ส่วนมากอยู่ในจังหวัดตรัง
โดยเฉลี่ยแล้วพะยูนมีอายุยืนยาวถึง 70 ปี แต่การเรามักจะพบตายทุกๆ ปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเครื่องมือประมงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราอาจพบเจอพะยูนที่บังเอิญไปติดอวนจนขาดอากาศหายใจตาย รองลงมาคือการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ
ขณะที่ปัจจัยเรื่องแหล่งอาหาร ซึ่งหากระบบนิเวศหญ้าทะเลถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะด้วยการปล่อยของเสีย การถมที่หรือปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ชายฝั่ง จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้แหล่งอาหารของพะยูนร่อยหรอ
เมื่ออาหารเหลือน้อยหรือมีปัญหาผลกระทบย่อมสะเทือนไปถึงพะยูน ทำให้พวกมันได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลเสียต่อการสืบพันธุ์ และความอ่อนแอของรุ่นลูกจนกระทั่งลดจำนวนลง
ในช่วงชีวิตหนึ่งนั้น พวกมันสามารถออกลูกได้เพียงแค่ 10 ตัวเท่านั้น โดยใช้เวลาตั้งท้อง 13-18 เดือน ครั้งละ 1 ตัว จากที่พะยูนจำเป็นต้องใช้เวลาและออกลูกได้จำนวนน้อย หากมีปัจจัยอื่นๆ คุกคามเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งทวีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพะยูนในไทยได้
ขณะนี้พะยูนเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน และอยู่ในบัญชี 1 ของบัญชีไซเตส ซึ่งห้ามล่าห้ามค้าโดยเด็ดขาด และใน IUCN Red List ได้จัดพะยูนให้อยู่ในเกณฑ์มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable – VU) แต่เรายังสามารถเห็นข่าวพะยูนได้เรื่อยๆ ซึ่งในส่วนประเด็นเรื่องการล่าพะยูนนั้น ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินแนวทางเพื่อปกป้องอย่างกวดขันมากขึ้น พร้อมกันนี้มีการศึกษาสำรวจเพื่อพัฒนาแนวทางการอนุรักษ์ต่อไป
Photographer : DOUG PERRINE
www.matichon.co.th/news/698894
www.iucnredlist.org/details/6909/0
นกชนหิน (1776 -)
นกชนหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhinoplax vigil (Forster, 1781) ถือเป็นสัตว์โบราณและเชื่อกันว่ามีความเก่าแก่ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของนกเงือกแห่งเอเชียที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อาศัยในป่าดงดิบ และกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตอนใต้ของไทย บางส่วนของพม่า เรื่อยไปจนถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
นกชนหินเป็นนกที่มีลักษณะแปลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง มีจุดเด่นอยู่ตรงโหนกที่ตันต่างจากนกเงือกชนิดอื่น และนั่นเองทำให้ถูกมนุษย์ตีราคาอวัยวะชิ้นนี้ไม่ต่างจากงาช้าง โดยให้ชื่อว่า “งาช้างสีเลือด” กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจผู้มีความเชื่อผิดๆ นิยมบูชางาเป็นวัตถุมงคลแห่งความมั่งคั่ง
การล่าพ่อนกหนึ่งตัว นั่นหมายถึงการฆ่ายกครัว เพราะแม่และลูกที่ยังไม่ฝักออกมาจากไข่หรือมีอายุยังน้อยจะไม่สามารถหาอาหารกินเองได้
นอกจากกิจกรรมการล่าแล้ว นกเงือกยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังคงคุกคามพวกมันอย่างต่อเนื่อง ทั้งศัตรูตามธรรมชาติ ภาวะการขาดแคลนโพรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่ออาหารของนก และการทำลายถิ่นอาศัยตามธรรมชาติจากเงื้อมมือมนุษย์
สิ่งที่นกชนหินพอจะเป็นให้มนุษย์ได้ คงไม่ใช่ชิ้นส่วนวัตถุแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยเงินทอง แต่เป็นความมั่งคั่งด้านความหลากหลายของพันธุ์ไม้ที่พวกมันคอยเก็บเกี่ยวและช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืชให้นั่นเอง
ในเรื่องเศร้าก็ยังมีเรื่องน่ายินดีอยู่บ้างที่วันนี้ยังมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะอนุรักษ์เหล่านกเงือกไว้มิให้สูญพันธุ์ อาทิ การที่พวกมันสร้างโพรงเองไม่ได้ต้องไปอาศัยโพรงมือสองตามต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่และสูงพอให้พวกมันได้เข้าไปอาศัย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกพยายามศึกษาพัฒนาการสร้างโพรงรังให้นกเงือกได้ในที่สุด อีกทั้งหลายฝ่ายได้พยายามทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง
แต่อย่างไรก็ตาม นกชนหินเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอนุสัญญาไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึง IUCN Red List ได้จัดให้นกชนหินอยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered – CR) ดังนั้นนอกจากการพยายามไม่สร้างผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่ของพวกมันแล้ว เรายังสามารถเรียนรู้ที่จะเข้าใจ และพยายามลบล้างค่านิยมผิดๆ ให้หมดสิ้นไปจากสังคม
“Today HORNBILLS, Tomorrow YOU – วันนี้เราสร้างปัญหาให้นกเงือก ในอนาคตธรรมชาติจะย้อนกลับมาทำลายเรา” – ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ นักอนุรักษ์นกเงือกไทย
Photographer : Hans Hazebroek
www.iucnredlist.org/details/22682464/0
มหิงสา (1792 -)
ถูกค้นพบและได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อย่างทางการโดย Robert Kerr ในปี 1792 โดยสถานะ ‘มหิงสา’ หรือ ‘ควายป่า’ ชื่อวิทยาศาสตร์ Bubalus arnee (Kerr, 1792) ในประเทศไทย ตกอยู่ในความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ เหลือเพียงฝูงเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวน 69 ตัว ที่น้อยเหลือเกิน
ภายใต้กฎหมาย มันเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด และอนุสัญญา CITES จัดควายป่าไว้ใน Appendix III ในประเทศไทย และใน IUCN Red List ได้จัดให้ควายป่าอยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์ (endangered – EN)
ควายป่าในประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆที่ต้องสู้ชีวิตไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เสียเท่าไรนักทั้งการแก่งแย่งพื้นที่หากินเนื่องจากแหล่งอาหารและน้ำตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับควายบ้านการใกล้กันของทั้งสองอาจนำไปสู่การผสมข้ามสายพันธุ์ที่จะทำให้สายพันธุ์แท้เปลี่ยนแปลงและโอกาสในการติดโรคจากควายบ้านได้มากขึ้น
อีกทั้งการถูกพืชต่างถิ่นรุกรานแพร่พันธุ์เบียดเบียนพืชที่เป็นอาหารของควายป่าทำให้มีจำนวนน้อยลง นำไปสู่ปัญหาแหล่งที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมได้เปลี่ยนแปลงไปและพื้นที่หากินของควายป่าคับแคบลง
และการที่พวกมันมีประชากรเพียงแค่นี้ หากมีการผสมพันธุ์กันเองภายในเครือญาติจะทำให้เกิดปัญหาเลือกชิด (Inbeeding) ที่ทำให้ลูกของพวกมันอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ และหากผสมกันเองไปเรื่อยๆ ยิ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
Photographer : วัลย์ พันขุนเขา
www.iucnredlist.org/details/3129/0