1.
นักวิจัยเสือโคร่ง ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ได้ออกมายืนยันว่า เสือโคร่งซึ่งพบในพื้นที่ ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง เป็นเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศ
นักวิจัย ระบุข้อมูลว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าวมีรหัส HKT178 เป็นเสือตัวผู้ ถ่ายภาพได้ครั้งแรกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 บริเวณตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปลายปีเดียวกันเสือตัวดังกล่าวถูกถ่ายภาพได้ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และในปลายปี พ.ศ. 2555 สามารถถ่ายภาพได้ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่พบอีกเลย กระทั่งมีข่าวพบเสือโคร่งถูกยิงที่ จ.ลำปาง เมื่อส่งรูปไปตรวจสอบกับทีมงานที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ (ใช้วิธีเทียบลายบนตัวของเสือ ซึ่งเสือแต่ละตัวจะมีลายไม่เหมือนกัน) จึงทราบว่าเป็นเสือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพบเสือจากห้วยขาแข้งในผืนป่าอื่นๆ ก่อนหน้านี้มีข่าวและรายงานหลายชิ้นระบุว่า พบเสือจากห้วยขาแข้งในพื้นที่อื่น เช่น
การกระจายตัวของเสือโคร่งสู่ผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยข้อมูลจาก WWF ประเทศไทย ระบุว่า สามารถถ่ายภาพเสือโคร่งตัวเมียที่ครั้งหนึ่งเคยถูกบันทึกภาพได้ที่ห้วยขาแข้งในปี พ.ศ. 2548 แต่ต่อมาได้เคลื่อนย้ายมายังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และได้ให้กําเนิดลูกจนกลายเป็นเสือประจำถิ่นของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไปแล้ว
พ.ศ. 2557 พบเสือโคร่งวัยรุ่นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ซึ่งไม่ปรากฏรายงานการเจอเสือโคร่งในพื้นที่นั้นนานแล้ว เมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบพบว่าเป็นเสือที่เคยอาศัยในห้วยขาแข้งมาก่อน
25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 พบ เสือโคร่ง รหัส HKT-206M ถูกยิงตาย ณ บริเวณหมู่บ้าน Kawkareik ซึ่งอยู่ทางตอนบนของรัฐกะเหรี่ยง (Kayin) ด้านตะวันออกของประเทศพม่า
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพความเป็นจริงให้เห็นว่าพรมแดนที่มนุษย์สร้างขึ้นบริหารจัดการพื้นที่ไม่มีผลใดๆ ต่อการกระจายตัวของสัตว์ป่า พวกเขาต่างต้องการถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการแหล่งอาหาร และความสงบที่ไม่ถูกคุกคาม
นอกจากนี้ ยังสะท้อนบริบทของผืนป่าและสัตว์ป่าในประเด็นต่างๆ ได้อีกมาก เช่น การออกหาพื้นที่อาณาเขตองตัวเองของเสือหนุ่ม พื้นที่อยู่อาศัยเดิมคับแคบเกินไปต่อจำนวนประชากรที่กำลังขยายพันธุ์ อาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ มีภัยคุกคาม(จากมนุษย์)เกิดขึ้นในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม ถูกแย่งอาณาเขตจากเสือหนุ่ม หรือพบพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการย้ายเข้าไปอยู่อาศัย มากไปกว่าคือการหาคำตอบว่า เสือโคร่ง เดินทางไกลจากป่าหนึ่งไปสู่อีกป่าได้อย่างไร ทั้งๆ ที่บางแห่งนั้นมีเส้นถนน ชุมชน แบ่งผืนป่าเป็นสองฝั่ง
เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของเสือโคร่งต่อไปในอนาคต
2.
หนึ่งสัปดาห์หลังจากพยายามช่วยเหลือเสือโคร่งเพศผู้ที่บาดเจ็บอยู่ในไร่มันริมถนนสายลำปาง ขณะนี้เสือตัวดังกล่าวได้จบชีวิตลงแล้ว
เสือโคร่ง เพศผู้ น้ำหนักตัว 150 กิโลกรัม ถูกพบว่าบาดเจ็บอยู่ในไร่มันริมถนนสายลำปาง – ตาก เขต ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา จึงได้นำไปรักษาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยยางปาน จ.เชียงใหม่
แต่สุดท้ายเสือโคร่งโชคร้ายได้จบชีวิตลงระหว่างขนย้ายไปรักษาต่อที่ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ เนื่องจากบาดแผลเกิดอักเสบ และคาดว่าจะติดเชื้อ (ตรวจพบกระสุนลูกซองกระจายในลำตัวหลายจุดรวม 7 เม็ด ด้านหลังสะโพกขวามีแผลลึกจนเกิดการอักเสบ มีหนอง ทำให้เสือลุกเดินไม่ได้ ขณะเดียวกันยังสังเกตพบว่าเสืออาจจะเสียตาข้างขวาไป เพราะไม่มีการตอบสนองต่อแสงไฟ)
ในช่วงระหว่างที่ทำการรักษา ทีมงานก็ได้ทำการตรวจสอบลายบนเสือตัวร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อหาที่มาของเสือ ซึ่งได้ผลออกมาว่าเป็นเสือที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีรหัสประจำตัวว่า HKT178
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าวมีรหัส HKT178 เป็นเสือตัวผู้ ถ่ายภาพได้ครั้งแรกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 บริเวณตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปลายปีเดียวกันเสือตัวดังกล่าวถูกถ่ายภาพได้ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และในปลายปี พ.ศ. 2555 สามารถถ่ายภาพได้ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่พบอีกเลย กระทั่งมาพบอีกครั้งที่จังหวัดลำปาง
หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ได้ให้ความเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า “การที่เสือต้องออกเดินทางเมื่อถึงเวลาของมัน เป็นวิถีชีวิต ต้องไปหาอาณาจักรของตนเอง บางตัวโชคดีเดินไปยังเส้นทางที่เข้าสู่ป่าอนุรักษ์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จนสิ้นอายุขัย บางตัวโชคร้ายเดินไปใกล้ในถิ่นที่ใกล้กับถิ่นที่อยู่ของคน แต่ถามว่า เมื่อพวกมันต้องเดิน มันจะรู้หรือไม่ว่าต้องเดินไปที่ไหน ตอบว่า ไม่มีเสือตัวไหนรู้ มีทางให้เดินมันก็จะเดินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เจออาณาจักรที่มันรู้สึกว่าเหมาะสมกับตัวเอง เป็นวิถีแห่งเสือโคร่งในธรรมชาติ”
โดยปกติ เสือโคร่งเพศเมียมีขนาดพื้นที่หากินเฉลี่ย 70 ตารางกิโลเมตร (+- 33 ตารางกิโลเมตร) ส่วนเสือโคร่งเพศผู้นั้นมีขนาดพื้นที่หากินเฉลี่ย 267 ตารางกิโลเมตร (+- 92ตารางกิโลเมตร) – งานวิจัยเรื่อง ขนาดพื้นที่หากินของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดย อัจฉรา ซิ้มเจริญ ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ และสมพร พากเพียร
เสือเป็นสัตว์ที่ต้องการที่อยู่อาศัยและหากินไม่ต่างจากมนุษย์ เสือแต่ละตัวจะมีอาณาเขตครอบครองสำหรับล่าเหยื่อเป็นของตัวเอง เสือโคร่งเพศผู้จะใช้พื้นที่หากินร่วมกับเพศเมีย 2-4 ตัว แต่จะไม่ยอมใช้ร่วมกับเสือโคร่งเพศผู้ตัวอื่น
การเดินทางไกลเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์ ไม่มีเสือเจ้าถิ่นขับไล่ จึงเป็นวิถีปกติของเสือโคร่ง
อย่างไรก็ตาม แม้จะถือเป็นเรื่องปกติ ก็ยังจำเป็นต้องหาคำตอบต่อไปว่าเหตุใดเสือตัวหนึ่งถึงออกไปไกลจนเฉียดถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ขนาดนั้น อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เสือตัวตื่นต้องมีชะตากรรมเช่นเดียวกับ HKT178
เส้นทางการเดินของเสือหนึ่งตัว เมื่อได้ตามรอยย้อนกลับไป อาจเป็นคำตอบสำคัญของการอนุรักษ์เผ่าพันธุ์เสือโคร่งแก่ประเทศไทยในการวางแผนป้องกัน และการฟื้นฟูดูแลผืนป่าอนุรักษ์ให้กลับมาสมบูรณ์เหมาะแก่การเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของเสือได้ตามคำมั่นสัญญาที่ไทยเคยให้ไว้ในการประชุมเสือโคร่งระดับโลก (Tiger Summit) เมื่อปี 2553 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ว่าจะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ได้ให้เป็นสองเท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน ภายในปี 2565 ก็เป็นได้