ความเชื่อมโยงของ ‘เมือง’ กับ ‘ป่า’ บางคนว่าอยู่ห่างกันเกินต่อกันติด
อาจด้วยเหตุผลของระยะทาง จากบ้านไปป่า ไปน้ำตก ไปอุทยานฯ หรือความคุ้นชินในชีวิตประจำวันจากข้าวของเครื่องใช้ที่กั้นขวาง ทำให้ดูราวว่าเรากับป่านั้นอยู่กันคนละมิติ
แต่เมื่อมองในอีกมุม มองให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย ความแท้จริงที่เป็นอยู่ บอกกับเราว่า “เราคือสมดุลเดียวกัน” ไม่ว่าจะอยู่ห่างกันไกลแค่ไหนก็ตาม
แท้จริงนั้น ไม่มีก๊อกน้ำ ไม่มีขวดพลาสติก ไม่มีรองเท้า
มีความเย็นจากผืนดินแผ่นหญ้า มีละอองฝน และความรู้สึกชุ่มฉ่ำ
เราต่างรู้สึกได้ และเราต่างระลึกถึงธรรมชาติอยู่เสมอโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในภาคป่า 3 กลุ่ม มาล้อมวงคุยกันสั้นๆ ถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ ความเกี่ยวโยงของคนกับป่า กับธรรมชาติ เพื่อย้ำเตือนถึงความเป็นอยู่ในสมดุลเดียวกัน
คุณเก่ง โชคนิธิ คงชุ่ม กลุ่มใบไม้ คุณทอม ธนภัทร ศรีจันทร์สุข กลุ่มฅ.ฅนทำทาง และคุณอ๋อ ณัฐวุฒิ รักษ์กุศล กลุ่มรักษ์เขาใหญ่
ทั้ง 3 คน ทำงานอยู่กับป่า แต่มีภารกิจสำคัญคือการสื่อความหมายกับคนเมือง
และนี่คือเรื่องราวที่พวกเขาอยากบอกเล่าให้เราฟัง
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยเรื่องใกล้ตัวอย่างน้ำดื่มในขวด หรือน้ำที่ไหลมาจากก๊อก แท้จริงเรากำลังถูกภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นหลอกให้เรารู้สึกห่างไกลจากป่า
คุณเก่ง กลุ่มใบไม้ อธิบายว่า น้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ เราจำเป็นต้องอินพุทน้ำเข้าไปในร่างกาย มนุษย์อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีน้ำ แล้วน้ำมาจากไหน น้ำก็มาจากป่า มาจากการสร้างของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมผลิตน้ำสะอาดให้เราใช้อุปโภคและบริโภค เพียงแต่นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้ไปคั่นกลางชีวิตคนเมืองไว้ให้เราคุ้นชินกับการซื้อน้ำในขวดพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ หรือเปิดน้ำจากก๊อกที่ไหลมาทางท่อประปา เป็นการสร้างระยะห่างระหว่างคนกับแหล่งน้ำ
“ซึ่งหากวันหนึ่งเราเข้าป่า เราเดินป่า เราไม่เจอสิ่งเหล่านี้ เราจะเห็นเลยว่าจริงๆ แล้ว น้ำมาจากไหน”
ไม่เพียงแต่เรื่องน้ำ การใช้ชีวิตในแต่ละวันเราต่างล้วนพึ่งพิงการดำรงอยู่ของป่าและธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เพียงแต่ต้องเข้าใจก่อนว่า เรากับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน คุณอ๋อ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ได้ขยายภาพเพิ่มเติม
“ตลอด 24 ชั่วโมง เราใช้ทรัพยากรจากป่าไม้ จากทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ได้ทรัพยากรจากป่าเพราะป่ารักษาสมดุล ป่ามีน้ำ มีลม ดิน ฝน ทำหน้าที่ครบตามกระบวนการ มนุษย์เป็นผู้ได้รับมา แต่พวกเราชอบมองว่าป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติมันจัดการได้ ก็เลยพยายามจัดการมัน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมาก”
“จริงๆ แล้วมนุษย์ก็คือหนึ่งในสมดุลตรงนั้น ต้องเปลี่ยนหลักความคิดใหม่ มนุษย์ต้องกลับเข้าไปอยู่ในสมดุลธรรมชาติเพื่อที่จะให้ธรรมชาติคงอยู่ได้ และรักษาลมหายใจไว้ส่งต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน”
สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจประเด็นตรงนี้ได้ คือ ต้องเรียนรู้และออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ เช่นกิจกรรมที่กลุ่ม ฅ .ฅนทำทางได้ดำเนินการไว้ในหลายกิจกรรม
คุณทอม กลุ่มฅ.ฅนทำทาง อธิบายการทำงานของกลุ่มให้เห็นว่า เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องของธรรมชาติได้อย่างไร
“กลุ่มเราเป็นการรวมตัวของคนจากหลายๆ อาชีพ มีทั้งนักเรียน คนทำงานมาช่วยกันทำ คนเมืองก็มีสิทธิเข้าไปช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ผมชอบคำพูดของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่ง เขาบอกว่า การดูแลป่าไม้ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น แต่เรื่องป่าไม้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนดูแล เพราะมันเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ทรัพยากรของเจ้าหน้าที่ป่าไม้”
“วันนี้ มีหลายชมรม หลายกิจกรรมให้เราสามารถเข้าไปสนับสนุนได้ ยกตัวเช่น เราพบปัญหาว่าในฤดูแล้งกระทิงที่เขาแผงม้าและเลียงผาที่เขาสมโภชน์ไม่มีน้ำกิน แล้วต้องลงมากินน้ำในบ่อน้ำของชาวบ้าน พบเจอการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงบ้าง โดนไล่ยิงบ้าง เราก็เลยขอเข้าไปทำแหล่งน้ำให้เขาในหน้าแล้ง”
กิจกรรมทั้งสองที่ยกมา ทำกันในวันเสาร์อาทิตย์ คนที่เข้าไปทำก็เป็นอาสาสมัครที่วันจันทร์ถึงศุกร์ทำงานในเมือง จะเห็นว่าใครก็มีส่วนร่วมได้ เพียงแต่ต้องรู้จักติดตามข่าวสาร ว่ามีกิจกรรมที่ไหน เมื่อไหร่
“หาข้อมูลว่าเราใกล้ชิดธรรมชาติมากแค่ไหน ถ้ามีเวลา ไปลงมือทำ ไปช่วยเหลือกัน”
“และทุกคนต้องตระหนักรู้เป็นอันดับแรกว่า เราเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนล่า นี่คือการเปลี่ยนสมบัติของคนหมู่มากไปเป็นของส่วนตัว”
เมื่อพูดถึงประเด็นการ ‘ล่า’ คงอดนึกถึงประเด็นที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจกันอยู่ ณ ปัจจุบันไม่ได้
เสือดำที่ทุ่งใหญ่ถูกล่า เกี่ยวข้องกับคนเมืองอย่างไร ?
คุณทอม กลุ่มฅ.ฅนทำทาง บอกว่า เหตุการณ์นี้ได้จุดประกายให้คนหันกลับมาสนใจเรื่องราวของทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น
กระสุนนัดนั้นไม่ได้ยิงถูกแค่เสือดำ แต่ยิงมาถูกหัวใจสาธารณชนหลายๆ คน
“กระสุนที่สังหารเสือดำตัวนั้นทะลุเข้าสู่หัวใจคนไทยหลายๆ คน อาจจะไม่ใช่คนที่สนใจธรรมชาติมากนัก บางคนไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์สุดโต่ง แต่ก็เกิดปฏิกิริยาต่อสังคม เด็กๆ เริ่มหันมาถาม เขาฆ่าสัตว์อะไร สัตว์ป่าบ้านเรามีอะไร ทำไมเขามาเอาของเราไป ลูกผมเองถามเสมอว่า ทำไมเขาถึงต้องฆ่า สัตว์ที่มีขายตามตลาดมันไม่พอกินหรือ”
“ผมรู้สึกว่ามันทำให้เด็กรุ่นใหม่ ประชาชน เห็นความสำคัญแล้ว”
และสิ่งที่คนทำงานดูแลป่าเน้นย้ำ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของทุกคนไม่ใช่ของใครเพียงคนเดียว
คุณอ๋อ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ บอกว่า ต้องทำความเข้าใจว่าเสือดำตัวนั้นไม่ใช่หน้าที่ของหัวหน้าวิเชียร หรือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่เสือดำตัวนั้นเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของคนคนนั้นคนเดียว เมื่อเราเปลี่ยนความคิดทั้งหมด ในมุมมองต่างๆ เราสามารถแสดงความเห็นได้ สิ่งสำคัญที่สุดในการติดตามความคืบหน้าคดีนี้ ให้ความรู้กับสังคมไปเรื่อยๆ ว่า การฆ่าสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์มันผิดกฎหมาย
คุณเก่ง กลุ่มใบไม้ อธิบายเพิ่มเติมและปิดท้ายว่า
“ธรรมชาติมีความจริงแท้ ฝนตกทำให้ทุกคนเปียก ถ้าอากาศหนาวทุกคนก็หนาว ทำไมทุกวันศุกร์จะเห็นคนออกไปเที่ยวป่า ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ทางธรรมชาติ ทะเล ภูเขา น้ำตก ทำไมเวลาอยู่ในเมืองคนไม่กล้าที่จะถอดรองเท้าเดิน แต่ทำไมในธรรมชาติที่เต็มไปด้วยผืนดิน เราอยากจะถอดรองเท้าเหยียบย่ำเอาความเย็นบางอย่างเข้ามาในร่างกาย เพราะความจริงแท้ลึกๆ คนเราโหยหาธรรมชาติมากๆ สุดท้ายแล้ว ธรรมชาติกับคนเป็นเรื่องเดียวกันและเราทิ้งกันไม่ได้”
และสุดท้ายของเรื่องนี้
เรามีสิทธิในการรักษา แต่เราไม่มีสิทธิในการล่า
และธรรมชาติให้เราเท่ากัน แต่ไม่ได้ให้เราอยู่เหนือธรรมชาติ
“เสือดำอยู่ในป่าของเขา เขาอยู่ในความจริงแท้ที่เราเป็นเพียงผู้ไปเยือนเป็นครั้งคราว เราไม่มีสิทธิอะไรไปพรากชีวิตเขา แม้กระทั้งเราไปตะโกนไล่เขายังไม่ควร ผมไปเจอรอยเท้าเสือโคร่งที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เห็นแค่นั้นผมยังดีใจน้ำตาแทบไหล แล้วการที่เข้าไปยิงเขา คุณมีสิทธิอะไร นั่นคือคำถามใหญ่ๆ ที่ฝากไว้คำถามเดียวก็พอ”