มรดกโลก ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
.
มรดกสำคัญอย่างหนึ่งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รับสานต่อเจตนารมณ์จากคุณสืบคือ การดูแลรักษาผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลงานลำดับท้ายๆ ในช่วงชีวิตที่คุณสืบได้ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเขียนรายงานนำเสนอต่อยูเนสโกเพื่อให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสองแห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ร่วมกับคุณเบลินดา สจ๊วต-ค๊อกซ์
จากกระแสการเสียชีวิตของคุณสืบ ทำให้ผืนป่าทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง และมรดกโลก เป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น มีสื่อมวลชนคอยนำเสนอข่าวสารเป็นระยะ และทำให้คำว่า ‘มรดกโลก’ ก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะกลุ่มคนทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป
สำหรับเรื่องการเสนอเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสองแห่งให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ หากให้เท้าความถึงที่มา คงต้องย้อนไปในช่วงที่รัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
ในเวลานั้นกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ร่วมกันคัดค้านมีความเห็นตรงกันว่า “ควรมีมาตรการระยะยาวในการป้องกันไม่ให้มีการนำเสนอโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนขึ้นอีกในอนาคต” ขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จึงมีข้อสรุปว่าจะเสนอต่อยูเนสโกให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และมอบหมายให้คุณสืบที่ทำงานด้านข้อมูลอย่างแข็งขันมาตลอดเป็นผู้เขียนรายงานทางวิชาการชิ้นนี้
แม้จุดเริ่มต้น จะเกิดจากความต้องการปกป้องผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจากเขื่อนน้ำโจน แต่คุณสืบกลับมีความเห็นว่า ควรจะรวมผืนป่าที่มีขนาดใหญ่รองจากทุ่งใหญ่ฯ และมีพื้นที่เชื่อมต่อกันอย่างห้วยขาแข้งเข้าไว้ด้วย เพราะถือได้ว่าเป็นป่าผืนเดียวกัน และมีความอุดมสมบูรณ์ไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งยังมีภัยคุกคามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงมีจำเป็นต้องได้รับการยกระดับการดูแลให้สูงขึ้นเท่าๆ กัน
ตอนหนึ่งในรายงาน คุณสืบและคุณเบลินดา ได้บรรยายถึงความสำคัญของผืนป่าทั้งสองแห่งที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันเอาไว้ว่า
“ความต่อเนื่องของป่าธรรมชาติเป็นผืนใหญ่นั้น เป็นหลักประกันต่อการคงเผ่าพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่ได้อาศัยเวลานับร้อยพันปีในการวิวัฒนาการจนสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ และได้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการควบคุมสมดุลทางธรรมชาติ ควบคุมภัยพิบัติที่จะเกิดการทำลายธรรมชาติจนถึงขั้นวิกฤต หรือทำให้ภัยธรรมชาติลดความรุนแรงลง นอกจากนี้ แหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ของ ดิน น้ำ และอากาศที่บริสุทธิ์ นั้นมาจากป่าธรรมชาติดั้งเดิมทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าป่าอนุรักษ์ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องรักษาไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตธาตุอาหารที่จะเกิดจากการเน่าเปื่อยผุสลายของต้นไม้และพืชป่าที่จะถูกน้ำพัดพาให้ไหลลงมาเป็นประโยชน์ต่อการกสิกรรมของพื้นที่ตอนล่าง อีกทั้งป่าธรรมชาติยังช่วยควบคุมมิให้เกิดการพังทลายของหน้าดินที่สะสมเอาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ไว้”