.
.
…เดินป่าหน้าฝนไม่พ้นต้องเจอทาก…
.
.
ยามบ่าย ปลายเดือนพฤษภาคม ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
ฝนเที่ยงเพิ่งสร่างซา ท้องฟ้ายังมีสีหม่น
เศษเม็ดฝนที่หลั่งชะโลมยังทำหน้าที่ทางระบบนิเวศของตัวเองไม่สำเร็จทุกขั้นตอน บางช่วงบางลำดับยังมีหลักฐานจากเหตุการณ์ในอดีต
บางกลุ่มความกดอากาศที่ทำงานบนยอดสูงกำลังค่อย ๆ เก็บกวาดเมฆินทร์ก้อนใหญ่ใส่กล่องพัสดุ นำส่งความชื่นบานกระจายไปยังเขตภูมิศาสตร์ใหม่
พื้นลุ่มมีน้ำเจิ่งนอง พื้นราบแข็งยังสัมผัสได้ถึงละอองเย็น เม็ดหินยังมีหยดวารีเกาะตามรอยปรุประ ส่วนพื้นลาดยังมองเห็นความเคลื่อนไหวของสายชลตามกฎแรงโน้มถ่วง
ใบไม้ดูเขียวกว่าที่เคยเขียว เหล่าใบใหม่แสดงอารมณ์สดใสบริสุทธิ์ดังทารกเพิ่งผ่านครรภ์มารดา ส่วนใบชรา ดูเหมือนยังมากมีความหมายในหน้าที่ หาใช่รอวันร่วงโรย
กลิ่นพฤกษาโชยหอมคลุ้งปนไอดิน มอบความหมายแสนอัศจรรย์สราญรมย์ จนกลายเป็นที่นิยมชมชอบของสาธุชนที่อยากครอบครองวัฏจักรที่ตัวเองควบคุมไม่ได้ไว้ในกำมือ กลายเป็นบรรจุภัณฑ์หอมระเหย (น้ำหอม) ให้คนในเมืองคอนกรีตได้สัมผัส
บางครั้ง มันหมายถึงความคำนึงถวิลหาธรรมชาติ
บางครั้ง อาจหมายถึงการควบคุม
บางครั้ง อาจหมายถึงการมาทดแทนสิ่งสูญเสีย
มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้า ถ้าโลกนี้ไม่มีฝน
สิ่งที่ปลาสนาการ คงมีมากกว่า ‘กลิ่น’ กับ ‘ความรู้สึก’
และรสชาติ ‘สมมติ’ ที่เทียบไม่ได้กับประสบการณ์จริง
.
.
การเดินเท้าลัดเลาะทางด่านกลางป่าหลังพิรุณพรมรุกขชาติ เป็นความเสพสมได้ดั่งสม แตกต่างจากวันย่ำดงไปพร้อมเวลาตอกบัตรเข้างานของดวงตะวัน
ไม่มีสิ่งใดมาลดทอนความเคลื่อนไหวอย่างนิทานอีสป เรื่องลมกับพระอาทิตย์ ไม่มีสีแสดทิ่งแทงแยงนัยตา
ตรงกันข้าม นั้น มีเพียงพลังงานจากเศษปรากฎการณ์ – ความชุ่มชื้น – ที่ไหลเวียนอยู่ทั่วบริเวณชักนำกายหยาบให้รู้สึกราวกับมีกำลังคูณสอง
ในวันร้างไร้น้ำจากฟ้าเดินได้ 2 กิโลเมตรไซร้ วันพร่างพรมฝนหลั่งจะไปได้ไกล 4 กิโลเมตร
แต่ก็อีกนั่นล่ะ… บนความรื่นรมย์ย่อมมีเงื่อนไขเป็นข้อแลกเปลี่ยนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
มันเป็นบทเรียนสั่งสอนผู้มาเยือนให้ต้องประสบพบเสมอ…
.
.
วันที่โลกเสกสรรค์อุณหภูมิบนภูมิศาสตร์ให้สมหมายดั่งใจปอง ใช่มีเราฝ่ายเดียวที่หมายมั่นเข้าพิธีวิวาห์กับฉากอภิรมย์ตรงหน้า
วัฏจักรของธรรมชาติที่เคลื่อนไหวไปตามฤดู ได้รับการบรรจงสรรค์สร้างมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยกาลเวลา ย้อนหลังเนิ่นนานไปไกลกว่าอายุขัยของโฮโมเซเปียนส์คนแรก
ภายใต้ร่มเงาอันต่ำต้อยที่บางนาทีเราละเลยความสำคัญ ไฟลัมแอนเนลิดากำลังแบ่งปันจุมพิตแก่มิตรต่างแดน
สวัสดี ทาก ตัวน้อย ยินดีที่ไม่รู้จัก
.
.
ป่าฝนเป็นดงของทาก คำพรรณาที่ไม่รู้ที่มานี้เป็นข้อเท็จจริงอันมิอาจหลบเลี่ยง
สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไร้กระดูกสันหลังไม่ได้รู้สึกหวั่นเกรงจากสถานะทางขนาดของเหยื่อ
ใครจะใหญ่กว่าใครไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ทุกก้าวที่ย่ำไป เมื่อไม่ทันสังเกต ก็ไม่อาจรอดพ้นปฏิบัติการอันว่องไวของสายลับไพร ที่ย่องมาดูดกลืนพลังงานและการแบ่งปันสัมพันธ์ทางนิเวศ โดยมิยอมนัดหมาย
ชุดป้องกันที่เตรียมมาดี บางครั้งอาจยังดีไม่พอสำหรับการปิดกั้น
ความไหลลื่น เล็กเรียว และเคลื่อนไหวเบากว่าความรู้สึกบนกายหยาบของเราจะจับได้ พาให้เหล่าทากตัวน้อยชอนไชเข้ามาแตะต้องเนื้อหนัง บรรจงฝังเขี้ยวอันนุ่มนวลเกินกว่าเราจะรับรู้และรู้สึก
สำนึกอีกที อดีตทากตัวเรียวก็กลายเป็นไจแอนท์พุงกลม
.
.
ในความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในพงพฤกษ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ย่อมมีความหมายอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นเสมอ
ทาก ที่ผู้คนรังเกียจรังงอน หรือที่นักเดินป่าบางคนขนานนามเป็น ‘แดรกคูลาแห่งพงไพร’ หากเอ่ยถามนักวิทยาศาสตร์ เขาจะตอบว่า สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งในความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
ป่าที่ยังมีทาก หมายถึงป่าที่ยังเป็นป่า และยังอุดมไปด้วยฤดูกาลปกติที่ดำเนินเรื่อยมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วันไร้คน ทากจะขอแบ่งปันโลหิตจากเหล่าสรรพสัตว์
สิงสาตัวใดขี้เกียจอยู่เฉยไม่ยอมทำมาหากินก็ต้องเสียเลือดให้กับป่า – ตำราพนากล่าวไว้ ย้ำเตือนสรรพชีวิต – หากอยากจะหนีทากก็จงอย่าหยุดนิ่งอยู่นาน ต้องรู้จักยักย้ายไปมา เดินเหยียบย่ำพสุธา ปั่นเม็ดดินให้ร่วนซุย ก็จะรอดจากทาก
ในกาลเดียวกัน ทุกย่ำธรา ธนาสร้างโอกาสให้พืชพันธุ์ไพรเมล็ดใหญ่และน้อยได้เติบโต เป็นดวงฤทัยของการแบ่งปันชีวิตกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
และในปริศนาไพรที่เรายังค้นคำตอบไม่พบทั้งหมด ทำไมจึงเจอทากมากมายในวันฤดูฝนพรำ ?
ความรู้ที่มีพออธิบายโดยสังเขปได้ว่า ทาก ชอบออกมาหากินในวันที่อาณาจักรไพรอุดมด้วยความชื้น เหล่าคนรุ่นใหม่จะออกมาสืบผสมพันธุ์ วางไข่ ปาร์ตี้ดินเนอร์ยาวนานไปจนสุดวันฝนซา
หลังพรรษาผันเปลี่ยนเคลื่อนย้ายไปยังเขตภูมิศาสตร์อื่น สัตว์ไร้กระดูกสันหลังจะย้ายถิ่นที่อยู่ไปยังบริเวณใกล้แหล่งน้ำ อาศัยความชื้นของพื้นที่เป็นรังนิทรา จำศีลอยู่ใต้ธรณีอย่างสงบไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร
หากไม่อยากเจอทาก ต้องเปลี่ยนวันท่องไพรเป็นวันในฤดูกาลแห้งเหี่ยว
มองวันใบไม้เต้นรำในจังหวะโรยราแทนระบำสำราญแห่งฤดูพนาพรำ
.
.
บันทึกฉบับนี้ เขียนไว้บนทางด่านที่ทอดยาว
ระหว่างจุดหมายกับเส้นชัย ในอาณาจักรพฤกษไพศาล มีเรื่องราวให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอ
ไม่เคยมีสิ่งใดไร้ความหมาย
.
.
พรำ พิรุณ
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากกิจกรรม WILD-WRITE โครงการเปิดรับต้นฉบับบทความ สารคดี บทกวี บอกเล่าเรื่องราว ความสำคัญของงานอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม และสืบ นาคเสถียร ในความทรงจำ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร