“…สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ถือประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ ถึงตัวจะตายไม่เสียดายชีวา…”
ใช่… นี่คือบทเพลงในวัยเด็กของฉัน ที่เมื่อสถานะเปลี่ยนจากเด็กน้อยมาเป็นผู้ใหญ่ หน้าที่การงานและบทบาทในสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราจึงจำเป็นต้องคิด ทำอะไรให้แก่สังคมบ้าง และคงไม่ต่างจากคนต้นเรื่องท่านนี้
สมัยนั้นฟังเพลงนี้ เพราะน้าชายชอบดนตรีแนวเพื่อชีวิต ท่านเปิดฟังทางเทปคาสเซ็ท เราได้ยินบ่อย ๆ ก็จำ จำ จำ จำจ นร้องได้ กลายเป็นเพลงที่ฟังจนติดหู
เมื่อได้มาเป็นคุณครู จึงอยากให้เด็กรุ่นใหม่ ได้รู้จักและทำความเข้าใจการเป็นนักสู้ของบุคคลในตำนานแห่งหน่วยงานราชการไทย ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่… สืบ นาคะเสถียร
กว่า 4 ปี ที่ฉันเป็นครู สอนในคาบเรียนรายวิชาการพัฒนาบุคลิกภาพทางธุรกิจ (พ.ศ. 2558 – 2562) หัวข้อการพัฒนาจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ได้ยกตัวอย่างบุคคลธรรมดาที่ทุ่มเทให้กับหน้าที่ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิต บทเพลง “สืบ ทอดเจตนา” ของวงคาราบาว จึงได้ดังขึ้นอีกครั้ง และกลายเป็นบทสรุปเรื่องราวชีวิตให้ได้กล่าวขาน
“…สืบเอย เจ้าจากไป… ไม่สูญเปล่า…”
ด้วยเนื้อหาของเพลงที่ปลุกเร้า แต่แฝงด้วยทำนองเพลงที่ฟังสบาย ๆ จึงมอบหมายให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้รู้จักบทเพลงนี้ ผ่านการจดเนื้อร้อง ศึกษาประวัติของท่าน มีการทดสอบแบบกะทันหันให้เขียนเนื้อร้องด้วยการเติมคำในช่องว่าง ดังตัวอย่างนี้
“ดวงตาของเจ้าลุกโชน เสียงตะโกนของเจ้าก้องไพร________ ________ของเจ้าจริงจัง มี________ เหมือนดังมีมนต์” นักสู้ของประชาชน จะมีกี่คนทำได้ดั่งเจ้า ________เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ถือประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ ถึงตัวจะตายไม่เสียดายชีวา”
มีกิจกรรมการร่วมร้องเพลงในชั้นเรียน ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยการถ่ายทอดสด แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เล็กน้อยมาก หากเทียบกับสิ่งที่ สืบ นาคะเสถียร ได้ทำหน้าที่ของเขา
ฉันจึงมีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมให้สามารถจับต้องได้มากกว่าปีก่อน ๆ และกลายเป็นการมอบหมายให้นักศึกษาทั้ง 79 คน ดำเนินโครงการ “สืบทอดเจตนา สืบ นาคะเสถียร” ปลูกไม้ยืนต้นอย่างน้อยคนละ 1 ต้น ที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
และต้องโพสต์ข้อความ พร้อมภาพประกอบให้โลกได้รู้ ให้คนได้ตระหนัก เชิญชวนบุคคลอื่น ๆ ให้ร่วมปลูกต้นไม้อีกหลาย ๆ แรง
แต่ก่อนให้นักศึกษาทั้ง 79 คน ปลูก อย่างน้อยคนมอบหมายงานต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน ซึ่งหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่นักศึกษาได้เรียนรู้บทเพลงในวันสืบ นาคะเสถียร ฉันจึงเริ่มปลูกต้นลองกอง แล้วนำเสนอภาพพร้อมมอบหมายงานผ่านโซเชียลมีเดีย ตามมาด้วยการปลูกเงาะ ในวันที่ 9 เดือนสิบ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของงาน และถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย เพราะวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญใหญ่ของชาวปักษ์ใต้ ที่อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคมวันสำคัญในความทรงจำของคนไทย จึงปลูกต้นไม้อีกครั้ง และพยายามสื่อถึงความต่างระหว่างไม้ยืนต้นกับไม้ล้มลุก ที่นักศึกษาบางคนเริ่มสับสนในความเหมือนและความต่าง และก่อนเสร็จสิ้นโครงการ จึงย้ำเตือนด้วยการปลูกจำปาดะ ผลไม้พื้นถิ่น ที่มีที่มาจากการกินแล้วทิ้งไว้ข้างบ้านพัก ซึ่งงอกงามอีกเช่นเคย
จนมาถึงการปลูกต้นโกโก้เป็นรายการสุดท้าย เพราะมีปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ คือฝูงวัว เนื่องจากต้นไม้ทุกต้นได้นำไปปลูกในพื้นที่ว่างของตน ที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชน แต่อยู่ห่างจากบ้านพัก โดยไม่ทันเฉลียวใจว่านี่คืออาหารอันโอชะของฝูงวัว ที่เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้ปัจจุบันต้นไม้ทั้งหมด สิ้นอายุขัยไปต่อไม่ได้ สุดท้ายจำเป็นต้องหยุดชะงักจริง ๆ ภายหลังได้หาทางแก้ด้วยการล้อมรั้ว บอกอาณาเขต ตอนนี้ในยามว่างเว้นจากหน้าที่การงาน พ่อก็ทำหน้าที่สืบต่อการปลูกต้นไม้ในพื้นที่นั้นต่อไป
ในขณะที่นักศึกษา เมื่อได้รับมอบหมายงานก็กระตือรือร้น หาพันธุ์ไม้ไปปลูกยังสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หอพัก ริมข้างทาง ในสวน และบอกเล่าความสนุกสนานที่ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้กับเพื่อน ๆ หรือผู้ปกครอง มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน มีบางคนจะสับสนไปปลูกพริก ด้วยคิดว่าเป็นไม้ยืนต้น แต่ก็ไหวตัวทัน หลังเห็นภาพในสื่อของผู้สอน จึงรีบเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะหมดเวลาส่งงาน
(และ) เมื่อพวกเขา (ไป) กระทำลงแล้ว เพื่อนของพวกเขา ครอบครัวของพวกเขา ฯลฯ ก็ต้องประหลาดใจ ในสิ่งที่พวกเขาได้โพสต์ ในสิ่งที่พวกเขาได้เขียนเชิญชวน ในความสงสัยของการปลูกต้นไม้ยืนต้น ก็คงมีคนอยากทำตามบ้าง แล้วโลกเราจะไม่เขียวให้มันรู้ไป (ยกเว้น เจอพวกทำลาย แล้วไม่ปลูกทดแทน อันนี้ก็ต้องทำใจ)
แทบไม่น่าเชื่อจากเหตุการณ์ของบุคคลต้นเรื่องในปี 2533 ผ่านการถ่ายทอดเป็นบทเพลงเพื่อชีวิต ที่เสมือนเขายังมีชีวิต ได้สืบต่อให้เด็กประถมคนหนึ่ง ซึ่งเกือบสามสิบปีต่อมา เธอได้นำพาเจตนารมณ์สืบทอดความตระหนักถึงความสำคัญของการมีผืนป่า ไปยังนักศึกษาของเขาและแน่นอนมันจะส่งผลต่อคนรอบข้าง หลายคนยอมรับว่าภายหลังสำเร็จการศึกษา มีหน้าที่การงานและความรับผิดชอบสูงขึ้น ทำให้พวกเขาเข้าใจสารที่ผู้สอนสื่อมากขึ้น แม้ตอนแรก นักเรียนแอบสงสัยว่าทำไมผู้สอนต้องอินกับบทเพลงขนาดนั้น บ้างที่ทำเพราะกลัวผลการเรียนจะตก เขาไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผู้สอนมอบหมายนั้นเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลิกภาพทางธุรกิจอย่างไร)
แต่ตอนนี้พวกเขาเข้าใจในหัวข้อการพัฒนาจิตสำนึกและความรับผิดชอบ พวกเขายอมรับว่าพวกเขารักธรรมชาติ ชอบต้นไม้ แต่นั่นเป็นแค่ความรู้สึก จนมาวันหนึ่งที่ต้องลงมือปลูกต้นไม้เอง ต้องดูแลรักษาให้มันอยู่รอด ต้องทำหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม พวกเขาเล่าอย่างภาคภูมิใจที่ต้นไม้ของพวกเขาเติบใหญ่ แม้จะอยู่ริมข้างทาง แต่มันย้ำเตือนความทรงจำในวันวานได้เป็นอย่างดี บางคนถึงขั้นรอผลผลิต เพราะต้นไม้เจริญงอกงามดีมาก (แทบไม่เชื่อในความสามารถของตน คิดแต่เพียงว่าปลูกทีไรตายทุกที) บางคนต้นไม้โตจนเพื่อนบ้านบอกให้โยกย้าย เพราะเกรงจะล้มเมื่อต้นโตยิ่งขึ้น จึงปลูกต้นไม้อื่นทดแทนและมีแผนจะแบ่งปันเมื่อออกผล
นี่คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ที่เกิดจากการลงมือทำ บางคนถึงกับกล่าวว่า การรักษาอะไรสักอย่าง มันยากกว่าการทำลาย แต่แน่นอนหากเรามั่นใจในพลังของตัวเรา เรา… เป็นคนแข็งแรง อดทน ต้นไม้ก็คงเหมือนเรา ผู้ที่ปลูกเขา ซึ่งต้องช่วยกันดูแล รักษา สืบต่อไป
แม้จะเป็นส่วนเล็กน้อยมาก ๆ แต่ของเช่นนี้มันต้องใช้เวลา ค่อย ๆ ทำ วันหนึ่งเมล็ดพันธุ์จะเติบใหญ่และแผ่กิ่งก้านสาขาต่อไป เฉกเช่นนักศึกษาที่ได้เรียนรู้ตัวอย่างจากบุคคลต้นแบบ ผ่านบทเพลง ผ่านการศึกษางานของเขา และกระตุ้นตัวเราด้วยการลงมือกระทำ ก็ย่อมเป็นเมล็ดพันธุ์ของคนรุ่นใหม่ชั้นดี ที่จะสร้างสังคมแห่งการทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง
“…วาจาของเจ้าจริงจัง มีพลังเหมือนดังมีมนต์ นักสู้ของประชาชน จะมีกี่คนทำได้ดั่งเจ้า…”
นี่ใช่ไหม อีกหนึ่งบุคลิกที่สะท้อนความเป็นคนมุ่งมั่นและทุ่มเท ที่จะหวงแหนรักษาผืนป่าให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
การจากไปจะไม่สูญเปล่า แต่เป็นการเริ่มต้นแห่งเรื่องราวบทใหม่
ต้องขอบคุณ “สืบ นาคะเสถียร” ที่มาสอนธรรมให้เราคนรุ่นหลังได้ลงมือทำ เพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติ
อานิสรา สังข์ช่วย
WILD-WRITE โครงการเปิดรับต้นฉบับบทความ สารคดี บทกวี บอกเล่าเรื่องราว สืบ นาคเสถียร ในความทรงจำ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร
ชวนเล่าเรื่อง สืบ นาคะเสถียร ในมุมมองความประทับใจของคุณ หรือจะเป็นเรื่องราวที่เก่ียวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่ความประทับใจจากการเดินทางเที่ยวชมไพรกว้างและมหาสมุทรสุดขอบฟ้าก็ยินดีเปิดรับ
บอกสิ่งที่คุณคิด บรรยายสิ่งที่คุณรู้สึก และบอกเล่าเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กิจกรรม WILD WRITE ชวนเล่าเรื่องจากป่าสู่เมือง (ซีรีย์ 1)