สู่ผืนป่าตะวันตก
คนเราย่อมต้องมีเรื่อง “เสียดายที่ไม่ได้ทำ” กันคนละครั้งสองครั้งในชีวิต นี่อาจเป็นเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่น่าจะเสียดายมาก หากปล่อยผ่านโอกาส “พิชิจโมโกจู” ทริปเดินป่าที่ขึ้นชื่อเรื่องการจองยากเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยผ่านไป
แม้เป็นคนมีประสบการณ์การเดินขึ้นป่าไม่กี่ครั้ง และไม่ใช่นักเทรคกิ้งขึ้นเขาลูกใหญ่อย่างใคร แต่ด้วยอารมณ์ยังสดใหม่จากการปีนยอดดอยหลวงเชียงดาว ที่ได้รับการจัดอันดับในหมู่นักเดินดงว่าสูงเป็นอันดับสามของประเทศมาก่อนหน้าไม่กี่อาทิตย์ ทำให้นึกลำพองใจ
“ขึ้นดอยหลวงมาแล้ว… ไปเดินดอยไหนก็สบาย”
การเดินป่าในเขตอุทยาน นั้นจำเป็นต้องจำกัดจำนวนสมาชิกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูแลได้ทั่วถึง และรักษาความปลอดภัยของนักเดินป่าเอง จึงทำให้ทริปเดินป่าส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของการ “จอยกรุ๊ป” และถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างของการเดินป่า
ทางเขาทางห้วยนั้นสร้างการเดินร่วมทางที่ยากเย็นแสนเข็นให้กับคนที่เพิ่งพบเจอ ประหนึ่งเป็นการนัดพบของคนพันธุ์เดียวกันยามยาก จนเกิดเป็นมิตรภาพ นั่นอาจเป็นที่มาของคำนิยามว่า เพื่อนยาก…
นักเดินป่ามือใหม่อย่างเราทำตัวเป็นภาระเพื่อนตั้งแต่ยังไม่เริ่มเดินทาง โดยการให้เพื่อนวางแผนให้ ทั้งที่ไม่เคยเจอกันเลยสักครั้ง
ยิ้มเจื่อน ๆ รับข่าวว่าไม่มีลูกหาบ ความมั่นใจที่มีมาก่อนหน้านี้หายไปหมดสิ้นเมื่อเช้าของวันเดินทางมาถึง เริ่มกังวลกับชีวิตในป่าห้าวันสี่คืน กับสัมภาระส่วนตัวและอาหารส่วนกลางที่ต้องช่วยกันแบก
เข็มตราชั่งดีดไปเลข 13 นั่นคือน้ำหนักของสัมภาระ ยกเป้ขึ้นบ่าแบกน้ำหนักที่อาจจะมากที่สุดในชีวิตแล้ว เริ่มนึกขึ้นได้ว่ายังอ่อนหัดในเรื่องเดินป่า ก็เจียมเนื้อเจียมตัวขึ้นมาทันที กลัวเป็นภาระเพื่อน แต่ก็ยังเก็บอาการไม่ให้เพื่อนใจเสีย
เมื่อการเดินทางเริ่มขึ้น
ระยะทางเริ่มแรกของการเดินเท้าเข้าป่า จากที่ทำการอุทยาน ถึงแคมป์แม่กระสา เป็นระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร พร้อมเป้สัมภาระ 13 กิโล แต่โชคยังพอมี รถกระบะของเจ้าหน้าที่ผ่านมาพอดี เลยโยนกระเป๋าขึ้นรถไปแล้วเดินตัวเปล่า ประเมินตนเองว่าผ่อนอะไรได้ ควรผ่อน
หากพยายามผืนตัวเองสุดท้ายภาระจะไปตกอยู่ที่เพื่อน
นอกจากข้าวของในกระเป๋าแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่เค้าเรียกกันว่า “อัตตา” กระมังที่ติดตัวมาด้วย ความคิดที่บอกตัวเองว่าข้าแน่ ข้าเจ๋งนั่นเอง ที่ทำให้เดินด้วยความประเดิดเก้อเขิน เพราะเป็นคนเดียวที่ไม่มีสัมภาระติดบ่า
เจ้าหน้าที่นำเดินป่าและดูแลทีมเรามีสองคนชื่อพี่สมบัติทั้งคู่เรียกชื่อครั้งเดียวก็หันมากันทั้งสอง
พี่สมบัติคนแรกเดินนำทาง ส่วนคนที่สองปิดท้ายขบวน (คงไม่ต้องบอกว่า เดินกับพี่สมบัติคนไหนเป็นส่วนใหญ่)
นอกจากดูแลพวกเราแล้วพี่สมบัติยังมีหน้าที่สำรวจป่าและเก็บข้อมูลไปในคราวเดียวกันเดินใกล้พี่สมบัติจึงได้ความรู้เรื่องสัตว์ป่าภาคสนามไปด้วย
ถนนสร้างใหม่เป็นทางดิน ลากยาวนำไปสู่แคมป์แม่กระสา เป็นจุดพักแรมแรก เสมือนห้องรับแขกของป่าแม่วงก์ ทางดินที่ย่ำเดินนั้นแม้จะถูกสร้างด้วยฝีมือมนุษย์ แต่ก็ลากผ่านพื้นที่ป่าที่นับว่าเป็นบ้านของสัตว์ป่า นอกจากรอยคน เราได้เห็นรอยสัตว์ป่ามากมายที่ประทับรอยเท้าเอาไว้ให้พี่สมบัติเก็บข้อมูลตลอดทาง
อุ้งตีนเสือกลางผืนดินระหว่างทางพี่สมบัติวางขวดเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อเทียบขนาดของมันแล้วบันทึกภาพไว้ฉลากของเครื่องดื่มนั้นยังเป็นรูปเสือเหมืองจงใจนับเป็นการใกล้ชิดกับเสือในธรรมชาติมากที่สุดแม้จะเป็นเพียงรอยตีน
แต่คิดว่าใกล้ชิดได้เท่านี้ก็น่าจะพอ ดูจากรอยก็น่าจะเป็นเสือที่โตเต็มที่ หากตัวจริงโผล่มาทักทายก็คงตัวใครตัวมัน
.
.
แม่กระสาเป็นแคมป์ที่ตั้งอยู่ริมห้วย เราจึงมีน้ำสำหรับหุงหาอาหาร ลานกว้างดูร่มรื่นดีเหมาะสำหรับเป็นแคมป์กลางป่าพวกเราจัดการกางเต็นท์ใต้ต้นไม้ใหญ่ขึงผ้าใบกันน้ำค้างโดยฝากปลายเชือกไว้กับลำต้นเป็นสี่มุมพอดี
ห้องน้ำของอุทยานฯ แยกหญิงชายเป็นสัดส่วน แต่ยังสร้างไม่เสร็จจึงต้องแบกน้ำจากห้วยที่ไหลผ่าน นึกอิจฉากลุ่มผู้ชาย ที่ลงอาบน้ำในห้วยกันได้สบายใจ
วันแรก ก็แอบกังวล เพราะขนาดเดินตัวเปล่าไม่มีสัมภาระ เท้าก็เริ่มระบมแล้ว ต้องแอบมุดเข้าเต็นท์เงียบ ๆ ตั้งแต่หนึ่งทุ่ม เพื่อชาร์จแบทตัวเองเผื่อเอาไว้อีกสี่วัน
ออกจากแคมป์แม่กระสาเป็นการเริ่มเดินเข้าสู่วันที่สอง
ลำไผ่พาดผ่านลำห้วยเป็นสะพานไม้ง่าย ๆ ให้คนข้ามไปสู่ป่าโปร่ง ที่มีเพียงใบไผ่คลุมผืนดินเท่านั้น หากไม่นับสัมภาระบนบ่าก็นับว่าเดินง่าย เพราะเป็นทางไม่ลาดชัน
แสงแดดกลางวันลอดผ่านลำไผ่ลงมาเป็นเส้น เหมือนการจัดแสงในโรงละคร เป็นบรรยากาศรื่นรมย์บนทางสายนี้
ลำห้วยสายเดิมคดเคี้ยวมาพบกันอีกครั้ง ไม้ใหญ่ต้นหนึ่งล้มเอนพาดหินขวางห้วยตื้น ๆ กลายเป็นสะพานไม้แต่งด้วยสีเขียวสดของมอสส์ เป็นพื้นที่ชอุ่มเย็นชื้นที่เหมือนมีใครจงใจจัดทัศนียภาพเอาไว้ พวกเราจึงเลือกปลดเป้พักเหนื่อย และเติมน้ำลงขวดกันที่นี่
เวลานั้นดื่มน้ำที่ผ่านการกรองจากอุ้งมือตัวเองด้วยความกระหายนั้น รสชาติไม่ต่างอะไรกับน้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำสมัยใหม่
จะว่าไปแล้วประสบการณ์การเดินป่าพอมีบ้าง แต่หากเป็นการดื่มกินน้ำจากธรรมชาติ ลำห้วยสายนี้น่าจะเป็นที่แรก
จากแม่กระสา ถึงแคมป์แม่รีวา ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นระยะทาง 4.5 กม. วันนี้จึงมีเวลาเหลือ เดินไปน้ำตกแม่รีวาหลังจากกางเต็นท์เรียบร้อย
เส้นทางไปน้ำตกเป็นป่าสมบูรณ์ดี และอาจเป็นพื้นที่ดินชื้น จึงมีร่องรอยของสัตว์ป่าให้เห็นมากกว่าทางที่ผ่านมา
เสือตัวหนึ่งทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้พี่สมบัติเก็บข้อมูล เหตุที่รู้ว่าเป็นของเสือนั้นก็เพราะว่าในมูลมีเส้นขนและกีบเท้าเล็ก ๆ ของสัตว์ชนิดหนึ่งพี่สมบัติสันนิฐานว่าเป็นลูกเก้ง
พี่สมบัติและพวกเรานั่งล้อมรอบกองขี้แล้วเอาไม้เขี่ยดู มันเป็นภาพที่ดูแปลกดีพิลึก
เป็นวงจรชีวิตตามธรรมดาในป่า มีผู้ล่า ผู้ถูกล่า เป็นห่วงโซ่อาหารแสดงให้เห็นถึงป่าที่ยังสมบูรณ์ พี่สมบัติว่าอย่างนั้น
น้ำตกแม่รีวา เป็นผาหินสูงใหญ่ตั้งฉากเทสายน้ำลงมาเบื้องล่าง ความสูงของผาหินทำให้ละอองน้ำคลุ้งทั่วบริเวณ สาว ๆ ในทีมได้แต่นั่งตามโขดหิน จับเท้าจุ่มน้ำ จิบเครื่องดื่มแกล้มบรรยากาศ ส่วนผู้ชายก็ถอดเสื้อกระโดดลงน้ำกันตูมตามสบายใจอีกเช่นเคย
ระยะทางสั้นและเดินง่ายปิดท้ายวันที่สองด้วยบรรยากาศ และความเย็นสบายของน้ำตกแม่รีวา จึงเป็นเหมือนรางวัลของนักเดินทางวันนี้
คงไม่ใช่เพียงความรื่นรมย์เท่านั้นที่ผืนป่าแห่งนี้จะมอบให้ เพราะพี่สมบัติบอกว่า… พรุ่งนี้สิของจริง
อาจเพราะเรายังเป็นมิตรใหม่ต่อกัน จึงใช้เสียงกุกกักของคนตื่นก่อน เป็นการปลุกเพื่อนตื่นแบบอ้อม ๆ กันตอนเช้ามืด เมื่อทุกคนเก็บสัมภาระแล้วก็เริ่มแบกเป้ขึ้นบ่า
ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการออกเดินนั้น เป็น “ของจริง” อย่างพี่สมบัติเปรยไว้เมื่อวาน เดินไม่กี่ก้าวทางก็เริ่มชันขึ้นเรื่อย ๆ จาก 300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ไต่ขึ้นไป 1900 เมตร
หายใจหอบแรงขึ้นจนได้ยินเสียงหัวใจตัวเองชัดเหมือนออกมาเต้นนอกอก ทางก็ชันขึ้นเรื่อย ๆ จนถอดใจคิดว่าจะเดินต่อไปไม่ไหว พี่ติ๊บเห็นท่าไม่ดีจึงมาเดินประกบด้านหลังบอกวิธีผ่อนลมหายใจ เมื่อหอบแรงขึ้นจับจังหวะการก้าวเท้า และการหายใจเข้าออกให้สัมพันธ์กันไม่ต้องรีบเดินให้ทันใคร
พี่ติ๊บ เป็นผู้หญิงอีกคนในกลุ่ม ที่เพิ่งเจอกันที่นี่ ประสบการณ์เดินป่าของพี่ติ๊บนั้นมีโชกโชน ทั้งในป่าประเทศ และป่าต่างประเทศ พี่ติ๊บก็ก้าวผ่านมาแล้วทั้งนั้น
ไม่เคยรู้มาก่อนว่า “จังหวะการการเท้าให้สัมพันธ์กับการหายใจ” เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของการเดินป่า จะว่าไปก็คล้ายกับการเดินวิปัสนาอยู่เหมือนกัน
หรือการปฏิบัติธรรม ก็เป็นก้าวผ่านความเหนื่อยยากในชีวิต โดยหลักการจับจิตดูใจ ในแบบเดียวกัน
กว่าจะถึงจุดพักกินข้าวกลางวันที่พี่สมบัติเรียกว่าคลอง 1 ลมเกือบจับไปหลายที ไม่ใช่เพราะความหิว แต่เพราะความอ่อนล้าของร่างกายที่ไม่เคยมีขนาดนี้มาก่อน จึงทำให้ลืมความหิวไปหมด แต่ก็จำเป็นต้องยัดข้าวเข้าปากเพื่อใช้เป็นพลังงาน ในระยะทางที่เหลือ
คลอง 1 เป็นป่าชื้น โชคที่ที่ฝนทิ้งช่วงมาซักพักไม่อย่างนั้นเราคงมีทากเกาะไปกันคนละตัวสองตัว
นอกจากเท้าที่เริ่มระบมมาตั้งแต่วันแรก รองเท้าก็เริ่มปริแตกตรงปลายเท้าระหว่างทางกลางป่า ช่วยเพิ่มอุปสรรคก่อนถึงจุดหมายมาอีกหน่อย
ทางยังคงลาดชันขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะลาดลงลำห้วยสายเล็ก ที่เรียกว่า คลอง 2 จากนั้นก็ชันขึ้นไปอีก จนถึงแคมป์ตีนดอย ที่พักแรมสุดท้ายก่อนจะขึ้นพิชิต หินเรือใบ
แคมป์ตีนดอยเป็นจุดกางเต็นท์ใต้เงาต้นไม้ใหญ่ อยู่ตีนเขาที่ตั้งของหินเรือใบ เสียงลมพัดใบไม้ปลิวหวีดหวิวเหมือนเป็นการบรรเลงเพลงอะไรสักอย่าง
แสงแดดลอดลงมารำไรเหมือนภาพเขียนของจิตรกรไล่น้ำหนักสีบนผืนผ้าใบ
ได้มากางเต็นท์ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ รู้สึกดีกว่าพักโรงแรมหรูเป็นไหน ๆ เพราะหาบรรยากาศแบบนี้จากที่ใดไม่ได้แน่
เมื่อกางเต็นท์เรียบร้อยแล้ว ก็เตรียมตัวขึ้นพิชิตยอดหินเรือใบ ไม่ลืมที่จะหยิบไฟฉายเตรียมพร้อมสำหรับขากลับเข้าแคมป์หลังตะวันตกดิน
.
.
บนยอดหินเรือใบ เป็นจุดพิกัดรอยต่อระหว่างป่าแม่วงก์กับป่าห้วยขาแข้ง จากตรงนี้มองเห็นผืนป่าจรดขอบฟ้ากว้างไกลสุดลูกตา ยอดเรือนไม้ฟูฟ่องด้านล่าง ไม่มีวี่แววของป่าเสื่อมโทรมให้เห็น
ระหว่างชื่นชมทัศนียตรงหน้า แอบเห็นพี่สมบัติหยิบกล้องดิจิตอลตัวเล็กขึ้นมาถ่ายยืนยิ้มให้ผืนป่าด้านล่างอยู่คนเดียว จากนั้นก็ล้วงวิทยุสื่อสารแจ้งหน่วยว่าพวกเราถึงยอดหินเรือใบแล้วและปลอดภัยกันทุกคน
แต่ภารกิจของพี่สมบัติในทริปนี้ยังไม่จบ เขายังต้องดูแลพวกเราจนกว่าจะกลับไปถึงที่ทำการอุทยานฯ
พวกเราพลัดกันปีนขึ้นไปถ่ายรูปบนยอดหินเรือใบเก็บไว้เป็นที่ระลึก พลางคิดว่าไม่รู้จะมีโอกาสอีกกี่ครั้งในชีวิตที่ได้มายืนบนจุดนี้ หรืออาจจะเป็นเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตเลยก็ได้
เราไม่ลืมที่จะถ่ายภาพ รองเท้าคู่กรรมกับวิวของที่นี่ ประ แตก ขนาดนี้แล้ว ยังอุตส่าห์พามันถึงบนนี้จนได้ ขอบใจจริงๆ
จุดสูงสุด ไม่สุดยอดเท่ากับกลับมาจุดเริ่มต้นอีกครั้ง แสงอาทิตย์ในเช้าวันใหม่ ลอดกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ผ่านมาจากทางทิศตะวันออกควันจากกองไฟลอยขึ้นไปเกิดเป็นม่านแสง สวยจนต้องขอให้เพื่อนช่วยถ่ายรูปให้ ก่อนจะลาที่นี่ไป เดินลงเขาเพื่อเข้าพักที่แม่กระสาอีกครั้งเป็นการพักแรมคืนสุดท้าย
.
.
เท้าบวมและเริ่มระบมขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปลายเท้าบวมคับอยู่ในรองเท้าและกระแทกตลอดทาง แต่ละย่างก้าวนั้นช่างยากเย็น เกรงใจก็แต่พี่สมบัติที่ต้องคอยเดินปิดท้ายขบวน
พอถึงที่พักกินข้าวกลางวันเพื่อนที่ถึงก่อนปรบมือโห่ร้องกันใหญ่ เพราะนึกว่าเราจะเดินต่อไม่ไหวเสียแล้ว
และจำเป็นต้องยืมรองเท้าแตะของเพื่อน ที่เบอร์ใหญ่กว่าเท้าตัวเองมาใส่
ระยะทางจากนี้จนกว่าจะถึงที่ทำการอุทยานฯ จะเป็นการเปิดประสบการณ์การเดินป่าด้วยรองเท้าแตะ แต่แปลกที่เดินได้ดีกว่ารองเท้าเดินป่า อาจเป็นเพราะว่าหน้าเท้าไม่กระแทก ทำให้ไม่เจ็บ
ในที่สุดแล้วก็มาถึงแม่กระสาก่อนค่ำ
วันสุดท้ายรู้สึกว่าเป้มีน้ำหนักมากกว่าทุกวันที่ผ่านมา เพราะมีเสื้อผ้าบางชิ้นที่เปียก และรองเท้าที่ยัดเข้ากระเป๋าไปอีกคู่ บ่ายวันนี้การเดินบนถนนดินยิ่งยากกว่าเดินในป่า เพราะไม่มีเงาต้นไม้ให้หลบแดด อากาศร้อนตัดกำลังไปมากทีเดียว
อึดใจสุดท้ายก่อนถึงอุทยานฯ ความกระหายทำให้นึกถึงแต่น้ำอัดลมเย็น ๆ ตามวิถีคนเมือง เดินฉับๆ เข้าอุทยานฯ ถ่ายภาพสุดท้ายของทริปด้วยอิริยาบถศิโรราบแล้วต่อผืนป่าแห่งนี้
เข้าป่า 5 วัน เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีเพียงปัจจัยสี่ ไม่มีอดีต ไม่พะวงอนาคต อยู่กับปัจจุบันในทุกย่างก้าว
ดื่มกินน้ำจากลำห้วยเดียวกันกับสัตว์ป่า มีเพียงมีเสื้อผ้าให้กายอุ่น มีข้าวให้กินพออิ่ม มีเต็นท์กันลมกันน้ำค้าง มีหยูกยาไว้บรรเทาร่างกายยามเจ็บป่วย
ป่าสอนให้เราได้รู้จักว่าสิ่งไหนสำคัญและจำเป็น
จำลองชีวิตให้มีกระเป๋าเพียงหนึ่งใบให้แบก ให้รู้จักการปลดวางบางสิ่ง และเก็บสิ่งจำเป็นเอาไว้
สิ่งสำคัญที่มีส่วนทำให้คนเรา ๆ มีชีวิตที่แท้จริงนั่นอาจจะเป็นอากาศที่ต้นไม้ผลิตให้
แต่การดูแลผืนป่าให้พวกเรานั้น มีบุคคลากรอย่างพี่สมบัติเพียงหนึ่งหยิบมือเท่านั้น เมื่อเทียบกับประชากรในประเทศ
ก็แปลกดีที่มีคนอีกประเภทหนึ่งคิดจะหาผลประโยชน์จากผืนป่า มากกว่าจะรักษาอากาศดี ๆ เอาไว้ให้ตัวเองได้หายใจ
เสาวรัตน์ ปันทจักร์
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากกิจกรรม WILD-WRITE โครงการเปิดรับต้นฉบับบทความ สารคดี บทกวี บอกเล่าเรื่องราว ความสำคัญของงานอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม และสืบ นาคเสถียร ในความทรงจำ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร