“เสือโคร่ง” สัตว์ป่านักล่าที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร คอยควบคุมประชากรสัตว์ป่าและสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ การมีอยู่ของเสือจึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์ของป่า
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีการประเมินว่าจำนวนเสือโคร่งลดลงถึงร้อยละ 95 ซึ่งลดลงจาก 100,000 ตัว เหลืออยู่ไม่เกิน 4,000 ตัวในป่าธรรมชาติ ส่วนข้อมูลในไทยพบว่าเสือโคร่งที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 130-160 ตัว
แม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังมีกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเสือโคร่งที่กลายเป็นสัตว์เป้าหมายอันดับหนึ่งของพรานล่าสัตว์และในตลาดค้าสัตว์ป่า
ข้อมูลจาก กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดเผยว่า เสือโคร่ง ช้าง หมี และตัวลิ่ม ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายกันมากที่สุด 4 อันดับแรก ในเขตสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างสามประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมาร์ ถือเป็นพื้นที่การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างเสรี ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเป็นเส้นทางลักลอบขนส่งและซื้อขายเสือโคร่งตามธรรมชาติ และเสือโคร่งจากฟาร์มส่งป้อนให้กับภัตตาคารร้านค้า ซึ่งจะนำกระดูกเสือโคร่งไปดองเหล้า หรือนำเนื้อไปประกอบอาหาร รวมถึงการแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับราคาแพง
ข้อมูลการรายงาน สำนักข่าวไทยพีบีเอสระบุว่า เสือตายในไทยราคาอยู่ที่ 600,000-800,000 บาท แต่เมื่อข้ามแม่น้ำโขงไปยังประเทศลาว เวียดนาม และจีน ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นราว 4 เท่า หัวเสือมีราคา 50,000-60,000 บาท เขี้ยวเสือในไทย 20,000- 50,000 บาท แต่ในจีนราคา 800,000-1,000,000 ล้านบาทต่อคู่
กระดูกกิโลกรัมละ 30,000-50,000 บาท เมื่อนำไปเคี่ยวจนกลายเป็นกาวแล้วจะขายในราคา 36,000 บาทต่อกรัม หนังเสือราคา 200,000- 500,000 แสนบาท อวัยะเพศตัวผู้ 200,000-300,000 บาท เล็บ 1 เล็บ ราคา 1,000 บาท ซึ่งหากรวมกันแล้วเสือ 1 ตัวจะมีมูลค่าสูงมากกว่า 3,000,000 ล้านบาท
.
.
ประเทศไทยแม้จะเป็นเพียงฐานการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่า แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านก็ยังมีการล่าเสือโคร่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในป่าตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นป่าแห่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
ในปี 2553 เจ้าหน้าที่ตรวจพบซากเสือโคร่ง 4 ซาก กระจายอยู่ในบริเวณโป่งนายสอ บางซากถูกแล่เนื้อไปหมดแล้ว บางซากมีหน้าตาบิดเบี้ยวเนื่องจากถูกวางยาเบื่อหรือยาฆ่าแมลง
ในช่วงปี 2553-54 เจ้าหน้าที่ยังพบซากเสือโคร่งถูกวางยาเบื่อตายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่รอยต่อขสป.ห้วยขาแข้ง กับขสป.ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก บางครั้งกลุ่มพรานใช้วิธียิงช้างและละเลงยาฆ่าแมลงลงบนซากช้าง เพื่อเป็นเหยื่อล่อ
ในปี 2556 เจ้าหน้าที่พบซากเสือโคร่ง บริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา ขสป.ห้วยขาแข้ง ตรวจพบเป็นเสือโคร่ง ที่ขาหลังด้านซ้ายมีร่องรอยถูกตัดขาดตั้งแต่อุ้งเท้าถึงข้อเท้า อาจเกิดจากการที่เสือต่อสู้กันเอง หรืออาจถูกกับดักสัตว์ของขบวนการล่าสัตว์ป่าจนข้อเท้าหลังซ้ายขาด เสียเลือดและติดเชื้อจนตายลงในที่สุด
ในปี 2558 เจ้าหน้าที่ทหารจุดสกัดด่านห้วยหินฝน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ตรวจจับรถยนต์ที่กำลังขนซากชำแหละเสือโคร่งสด เมื่อตรวจอัตลักณ์พบว่าตรงกับเสือโคร่งที่เคยถ่ายภาพได้ในปีขสป.ห้วยขาแข้ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้จับกุมพรานล่าเสือโคร่งทั้ง 3 คน ได้ที่ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
ในปี 2559 ได้ปิดตำนานวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) ภายหลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าเสือผิดกฎหมาย ซึ่งทางวัดมีเสือในครอบครองถึง 147 ตัว ประเมินรายได้จากกิจการนี้เฉลี่ยปีละกว่าร้อยล้านบาท ข่าวเริ่มแดงจากการที่มีเสือ 3 ตัว ได้แก่ดาวเหนือ อายุ 7 ปี ฟ้าคราม 3 อายุ 3 ปี และแฮปปี้ 2 อายุ 5 ปี ได้หายไป นอกจากนี้พบว่ามีเสืออีก 13 ตัวที่ไม่ได้ฝังไมโครชิพ และยังพบซากเสือในตู้แช่แข็งอีกด้วย
แม้เสือจะเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงน้ำมือมนุษย์ ที่มีความเข้าใจผิด ๆ เรื่องการบริโภค หรือมีไว้ครอบครองเพื่อประดับบารมี ฐานะ และอำนาจของตัวเอง ทำให้เสือกลายเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของนักเปิบพิศดาร และนักสะสมของหายาก
ในอีก 10-20 ปีหลังจากนี้ การล่าเสือโคร่งจะยังมีอยู่ต่อไป หากเราทัศนคติของผู้คนยังคงยึดมั่นในความเชื่อและมูลค่าราคา พวกเขาจะยังเป็นที่ต้องการในตลาดมืด
…
บทความนี้ ยังมีภาคต่อ
อ้างอิง
-
ThaiPBS, เปิดเส้นทาง “ค้า” เสือโคร่งข้ามชาติ
-
WWF Thailand, 10 อันดับสัตว์ป่า ที่ลักลอบซื้อขายมากที่สุด ในสามเหลี่ยมทองคำ
-
กรุงเทพธุรกิจ, การลักลอบค้าเสือโคร่งในอาเซียน
-
ThaiPBS, เจ้าหน้าที่ตรวจสอบซากเสือโคร่งตาย ในจ.อุทัยธานี
-
ThaiPBS, เปิดรายงาน : แฉ “วัดป่าหลวงตาบัว” เบื้องหลังค้าเสือในตลาดมืด
-
สรุปบทเรียนการฟื้นฟูเสือโคร่ง และสัตว์ป่าอื่นที่ถูกคุกคามในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก 2548-2562