สรุปเหตุการณ์ ‘เสือโคร่ง’ ออกจากป่าห้วยขาแข้ง และเหตุผลของการเดินทาง

สรุปเหตุการณ์ ‘เสือโคร่ง’ ออกจากป่าห้วยขาแข้ง และเหตุผลของการเดินทาง

สรุปเหตุการณ์ ‘เสือโคร่ง’ ออกจากป่าห้วยขาแข้ง และเหตุผลของการเดินทาง

.
รายงานจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่ามี ‘เสือโคร่ง’ ตัวหนึ่งแอบย่องออกจากป่า

ตามรายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้งพบเห็นเสือโคร่งในท้องที่หมู่ที่ 9 บ้านบึงเจริญ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี บริเวณใกล้เคียงศูนย์วิจัยไฟป่าฯ ในเวลากลางคืน

จึงประสานงานกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ เพื่อร่วมหาข่าวและตรวจสอบร่องรอย

เช้าวันต่อมา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า เสือโคร่งได้เข้ามาล่าสุนัขและลากไปกินบริเวณสวนมะม่วงห่างจากสถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้งประมาณ 200 เมตร

กระทั่งในวันที่ 12 มกราคม ทีมเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย ได้วางแผนเข้าไปดำเนินการปิดโพรงที่เสือซ่อนตัว และยิงยาสลบ และจับเสือโคร่งตัวดังกล่าว กลับคืนสู่ป่าห้วยขาแข้ง ได้สำเร็จ

รายงานยังระบุว่า เจ้าเสือโคร่ง ที่พบ เป็นตัวเดียวกับที่เคยออกจากป่า เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และถูกเจ้าหน้าที่จับได้และนำคืนป่าห้วยขาแข้งไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยตั้งชื่อเจ้าเสือโคร่งตัวนี้ว่า “ธนากร”

เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์หนที่ 2 ในรอบ 3 เดือนที่มีเสือโคร่งเดินจากป่าห้วยขาแข้ง ออกย่ำท่องในผืนป่าและที่ดินละแวกเดียวกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน คาบเกี่ยวมาถึงต้นเดือนธันวาคม ก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเช่นกัน

ดังที่เราได้ยินจากข่าวและคุ้นเคยเรื่องราวในชื่อเสือโคร่ง ‘วิจิตร’

โดยเรื่องราวของ เสือโคร่ง ‘วิจิตร’ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2021 สัญญาณดาวเทียม (บนปลอกคอ) ของ ‘เสือวิจิตร’ เสือโคร่งห้วยขาแข้ง ได้เดินทอดน่องออกนอกพื้นที่ไปปรากฎสัญญาณอยู่บริเวณที่บ้านปางสัก อำเภอเเม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์

ต่อมาปรากฎสัญญาณการเดินทางที่บ้านเขาน้ำอุ่น อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร

ก่อนการเดินทางออกนอกป่าจะสิ้นสุดลงในวันที่ 4 ธันวาคม เมื่อเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตรวจพบสัญญาณของเสือโคร่งวิจิตรมีแนวโน้มมุ่งหน้ากลับเข้าป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ตามรายงานอธิบายสรุปว่า เสือโคร่งวิจิตร เติบโตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บริเวณหุบเขาที่ราบ แนวเขา มีหุบลำห้วยที่ไหลออกมาสู่หุบเขาใหญ่มีภูเขาล้อม ไม่ห่างจากอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์

เมื่ออายุถึงวัยที่ต้องออกผจญโลกภายนอกในป่าดงดิบ จากแผนที่จะเห็นว่าตลอดแนวพื้นที่มีหุบเขาที่ราบภูเขาหลายๆ แห่ง และทุกๆ แห่งก็ถูกจับจองพื้นที่เป็นบ้านเรือน ทำพืชไร่จนเหลือพื้นที่ป่าน้อยมาก

เสือโคร่งวิจิตร จึงต้องเดินผ่านเพื่อหาป่าอนุรักษ์ ที่มีหุบเขาที่ราบดีๆ มีความสมบูรณ์พร้อม มีแหล่งน้ำ และมีสัตว์ป่าเล็กใหญ่อาศัยอยู่ เช่น เก้ง กวาง กระทิง ช้าง

เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่จำเป็นต้องมีพื้นที่ครอบครองเพื่อใช้หากินเป็นของตนเอง และไม่มีการใช้ทับร่วมกับตัวอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจึงต้องมีความท้าทายความสามารถตนเอง เสี่ยงเดินทางจนกระทั่งเข้าสู่เขตผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งคาดว่าในผืนป่า “วิจิตร” คงเดินเข้าป่าลึกไปทางทิศตะวันตกสู่พื้นที่บริเวณผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพราะเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์

ปัจจุบัน เสือโคร่งในผืนป่าของประเทศไทย มีด้วยกันทั้งหมด 177 ตัว (เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน)

กลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตก

ในระยะเวลา 10 ปี พบว่าประชากรเสือโคร่งในกลุ่มป่าตะวันตก มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 ตัว เป็น 79 ตัว

นอกจากนี้ การกระจายตัวของเสือโคร่งออกไปทั่วพื้นที่ป่าตะวันตก จากห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

ต่อเนื่องถึงอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าทางตอนเหนือ และขยายการกระจายตัวลงมาถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระทางตอนใต้

และยังพบเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งออกไปหากินนอกป่าเลยจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางออกไปถึงประเทศเมียนมา

เช่นเดียวกับที่ออกไปจากป่าคลองลานจนมีผู้พบในไร่มันอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

ในเชิงวิชาการนี่คือหลักฐานการกระจายตัวของเสือโคร่งจากการออกหาแหล่งที่อยู่ใหม่เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


อ้างอิง
Photo : วัชรบูล ลี้สุวรรณ (เสือโคร่งคนละตัวกับเนื้อหาข่าว)

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน