เสือโคร่ง ตัวแทนความร่วมมือของการอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย

เสือโคร่ง ตัวแทนความร่วมมือของการอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน สถานะของ “เสือโคร่ง” ในประเทศไทยค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วง และด้วยรูปแบบงานอนุรักษ์ที่เป็นอยู่ ก็ดูจะไม่เพียงพอสำหรับการปกป้องสายพันธุ์เสือโคร่งเอาไว้ได้

.
แต่หลังการตายของ สืบ นาคะเสถียร ที่ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นที่รู้จักและอยู่ในความสนใจของสาธารณชน จนเกิดการปฏิรูป การจัดการแผนงานต่างๆ ขึ้น มีภาคเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนมากมาย ก็ถือเป็นการจุดประกายความหวังงานอนุรักษ์ป่า ตลอดจนเสือขึ้นมาอีกครั้ง

คุณูปการของความตื่นตัวต่องานอนุรักษ์เวลานั้น ยังขยายออกไปสู่ผืนป่าข้างเคียงอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร นำไปสู่การจัดการอย่างเป็นระบบ ช่วยให้เสือโคร่งที่กระจุกตัวอยู่เพียงห้วยขาแข้งได้มีโอกาสกระจายตัวออกไปสู่ป่าข้างเคียง เป็นการต่อเวลาในช่วงที่เสือโคร่งกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าของประเทศได้อย่างพอดิบพอดี

แต่ในช่วงต้นที่งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มตื่นตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่างานดูแลเสือโคร่งของประเทศไทยยังไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากความสนใจอยู่ที่การอนุรักษ์ป่าแต่ไม่ได้กล่าวถึงสัตว์ป่ามากเท่าใดนัก และผืนป่าที่ทุกคนพยายามช่วยกันอนุรักษ์ก็ถูกตัดขาดออกจากกันด้วยการพัฒนาทางสังคม เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างถนน

แต่ขณะเดียวกัน งานอนุรักษ์สัตว์ป่าและเสือโคร่งของประเทศไทยก็ได้ค่อยๆ ก่อร่างขึ้นโดยมีสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเป็นจุดเริ่มต้น มี ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ที่เรียนจบด้านเสือโคร่งจากต่างประเทศเข้ารับหน้าที่เป็นหัวหน้าสถานีวิจัย และมีเป้าหมายกับความฝันที่แน่ชัดว่าจะทำงานวิจัยเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้ง

จุดเริ่มต้นสำคัญอีกอย่าง คือ การวางระบบว่าจะอนุรักษ์สายพันธุ์ที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากการล่าและสถานะของเหยื่อที่ลดน้อยถอยลงอย่างไร ซึ่งได้คุณชัชวาลย์ พิศดําขํา เข้ามาช่วยให้ฐานะหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และมี ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ จาก WCS หรือสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย รวมถึงคุณสุนทร ฉายวัฒนะ ที่ช่วยกันพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพขึ้นมาเพื่อปกป้องป่า และรวบรวมข้อมูลพื้นที่ สัตว์ป่า กับภัยคุกคามขึ้นมา

ในงานวิจัย ก็ได้เริ่มนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ แม้ว่าจะมีอุปสรรคและเสียงคัดค้านในบางช่วง เช่น การใส่ปลอกคอติดตามพิกัดเสือจะทำให้เสือเจ็บหรือไม่ การนำเหยื่อมาล่อเสือเพื่องานวิจัยเป็นเรื่องที่โหดร้ายเกินไปหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องราวที่ว่าก็ผ่านความขัดแย้งมาได้ด้วยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิจัยได้ศึกษา และต่อยอดไปสู่วิธีที่ถูกต้อง และมีสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

สำหรับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เข้ามามีบทบาทในช่วงเริ่มต้นตั้งแต่การสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็น ตลอดจนการทำโครงการกับชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและที่อยู่ประชิดขอบป่าด้านนอก เช่น โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมที่ช่วยให้ชุมชนอยู่กับป่าในพื้นที่อย่างสมดุล ส่งเสริมอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่า รวมถึงการจัดตั้งป่าชุมชนภายนอก เพื่อลดการเข้าไปเก็บหาของป่าที่อาจกระทบต่อสัตว์ป่าภายในพื้นที่อนุรักษ์

ขณะเดียวกัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็ได้ช่วยสนับสนุนทุนสำหรับขยายงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพออกไปยังพื้นที่อนุรักษ์ทั่วป่าตะวันตก นอกเหนือจากที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งที่ดำเนินการไว้ดีแล้ว และได้ขยายมาสู่ผืนป่าแม่วงก์และคลองลานโดย WWF ช่วยพัฒนาและสนับสนุนกิจกรรม จนเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ เอาอย่าง ก็เป็นการช่วยให้ผืนป่าได้รับการดูแลครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เป็นบ้านที่ปลอดภัยต่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นคนดูแลระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพได้เองทั้งหมดทั่วประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งองค์กรภายนอกอีกต่อไป

จากที่กล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่า เสือโคร่ง คือจุดเริ่มต้นของการสร้างและขยายความร่วมมือที่พัฒนางานอนุรักษ์ของประเทศไทยให้เป็นการอนุรักษ์ได้อย่างครบวงจร หาใช่เพียงการอนุรักษ์ป่าหรือเสือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
.

อนาคตของเสือโคร่ง

ในอนาคต หากมองอย่างมีความหวัง และหากเรายังเดินไปในทิศทางเช่นเดียวกับปัจจุบัน ประเทศไทยอาจเป็นบ้านของเสือโคร่งได้ถึง 1,000 ตัว และมีเสือโคร่งกระจายตัวอยู่ทุกกลุ่มป่า

อย่างไรก็ตาม การจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยเสียก่อน และยังต้องดำเนินงานอีกหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการสร้างทางเชื่อมป่าที่กระจัดกระจายออกจากกัน แม้แต่ในผืนป่าตะวันตกเองก็ตาม

ในกลุ่มป่าตะวันตก แม้จะเป็นป่ากลุ่มใหญ่ที่เชื่อมถึงกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างการสร้างเขื่อนเขาแหลมหรือเขื่อนศรีนครินทร์ได้ทำลายเส้นทางสัญจรของสัตว์ป่าลงไปแล้ว โอกาสกระจายตัวของสัตว์ป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจากห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรไปยังพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นไปได้ยาก เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันออกแบบการจัดการ เป็นความท้าทายใหญ่ที่ต้องทำในทุกๆ กลุ่มป่าไม่เฉพาะป่าตะวันตกเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องหาทางส่งต่อความรู้ งานวิชาการ ตลอดจนเรื่องทางจิตวิญญาณ เป้าหมายของการอนุรักษ์เสือไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป หรือคนที่จะเข้ามาทำงานแทนคนเก่า หรือจะทำอย่างไรที่คณะวนศาสตร์จะสามารถถ่ายทอดความฝันและจุดมุ่งหมายของการอนุรักษ์เหล่านี้ไปสู่คนรุ่นใหม่ได้

สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือการรักษาสายพันธุ์เสือโคร่งและเหยื่อ ซึ่งมีกลไกอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ที่ต้องเก็บพันธุกรรมเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อเอาไว้ให้ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะเพาะเลี้ยงเสือแล้วปล่อยคืนสู่ป่า นั่นไม่ใช่การอนุรักษ์ แต่มองไปที่เรื่องเหยื่อของเสือที่อาจมีความจำเป็นต้องเพิ่มในอนาคต รวมถึงยังต้องพัฒนาศูนย์ส่งเสริมงานอนุรักษ์และผลักดันให้เกิดการทำงานเชิงรุกในการเผยแผ่ความรู้ความสำคัญของการอนุรักษ์เสือโคร่งสู่สาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถรักษาเสือได้ต่อไปในอนาคต

สำหรับในส่วนขององค์กรอนุรักษ์ ก็ยังจำเป็นต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลการพัฒนาที่จะเข้ามาผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าเพื่อสร้างโลกที่สมดุลจากความเห็นที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือคนทำงานต้องมีมากกว่าจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์ แต่ต้องมีองค์ความรู้ ฐานข้อมูลทางวิชาการสำหรับทัดทานการพัฒนาอย่างมีเหตุผล มิเช่นนั้นก็ไม่อาจรักษาป่า รักษาเสือเอาไว้ได้ ขณะที่การถกเถียงก็ควรเป็นการถกเถียงเพื่อหารือ หาทางออกใหม่ร่วมกันบนหลักฐานวิชาการ องค์ความรู้ บุคลากรที่เปิดใจกว้าง เพื่อให้การพัฒนาพอเป็นไปได้และอนุรักษ์ป่าได้พร้อมๆ กัน

 

 


เรียบเรียงจากเสวนา “มองสถานการณ์เสือโคร่งปัจจุบันสู่อนาคต : Thailand’s tigers forever : Moving forward to the future (เฉพาะความเห็นศศิน เฉลิมลาภ)
เรียบเรียงโดย ปทิตตา สรสิทธิ์