ถอดบทเรียน การอนุรักษ์สัตว์ป่าภาคพลเมือง เมื่อโควิดมาเยือน 

ถอดบทเรียน การอนุรักษ์สัตว์ป่าภาคพลเมือง เมื่อโควิดมาเยือน 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ทาง ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย ครั้งที่ 41 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของการจัดการสัตว์ป่าหลัง โควิด 19 กับการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ไม่เคยหยุด” โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานสัปดาห์คุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือระหว่างคณะวนศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า 

ในช่วงแรกทางคณะวนศาสตร์ได้จัดเวทีเสวนา “ถอดบทเรียน การอนุรักษ์สัตว์ป่าภาคพลเมือง เมื่อโควิดมาเยือน” โดยมี น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเวทีเสวนาครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจากภาคประชาชนมาร่วมให้ข้อมูลด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าตามแต่ละหัวข้อ   

เริ่มต้นทาง ดร.บริพัตร ได้เกริ่นนำถึงสถานการณ์โลกยุคปัจจุบันที่โลกของเราได้พัฒนาขึ้นมากมายจนมีเทคโนโลยีมาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ สายงานอนุรักษ์เองก็เช่นกัน จากเมื่อก่อนมีอุปกรณ์เพียงไม่กี่อย่างที่ช่วยทำงานสายอนุรักษ์  แต่ตอนนี้ได้มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้สายงานต่างๆ ด้านการอนุรักษ์ทำงานง่ายขึ้น โดยข้อมูลที่ได้มาจากการทำงานก็มีความแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาคประชาชนเองก็สามารถเข้าถึงวิธีการอนุรักษ์ผ่านเทคโนโลยี 

หัวข้อแรกคือ “การอนุรักษ์นกเป็ดหงส์ในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา” นำโดยคุณไวศักดิ์ พูลสวัสดิ์ และศุภเศรษฐ์ โอภิธากรณ์ โดยก่อนที่จะเข้าสู่การพูดคุย ได้มีการเปิดวีดิทัศน์แสดงความเป็นมาของการอนุรักษ์นกเป็ดหงส์ การรุกรานของมนุษย์ในพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนกเป็ดหงส์ ตลอดจนการล่านกเพื่อใช้เป็นอาหาร โดยสาเหตุหลักที่คุณไวศักดิ์เริ่มใช้พื้นที่กว่า 300 ไร่ ในการอนุรักษ์นกเป็ดหงส์คือ การมองเห็นคุณค่าชีวิตของนกเป็ดหงส์ พวกมันต่างก็มีชีวิตไม่ต่างจากมนุษย์ ด้วยเหตุนี้คุณไวศักดิ์จึงได้ลุกขึ้นมาปกป้องนกเหล่านี้จากการถูกล่า อย่างไรก็ดี การอนุรักษ์นกเป็ดหงส์ในพื้นที่อำเภอระโนดนี้ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากแต่ก่อนมีนกเป็ดหงส์ในพื้นที่เพียงแค่ 3 ตัว ทว่าปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่าหลายพันตัวแล้ว  

“นกเหล่านี้ก็เหมือนมนุษย์ มีพ่อ มีแม่ มีครอบครัว ถ้าเราไปยิงพ่อแม่ของพวกมัน ลูกนกก็คงจะอยู่ไม่ได้”  

ต่อมา คุณศุภเศรษฐ์ โอภิธากรณ์ รองประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ได้มาเล่าถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ในพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวคือ หลายต่อหลายครั้งสัตว์ป่าเหล่านี้ได้ช่วยผู้คนเอาไว้ ตัวอย่างเช่น นกเป็ดหงส์ที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 300 ไร่ในอำเภอระโนด ทำให้แต่เดิมที่ฝ่ายปกครองต้องการจะใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวในการทำบ่อขยะ ก็ต้องถูกยกเลิกไป นอกจากนี้ทางคุณศุภเศรษฐ์ยังจัดทำโครงการ “เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ภาคพลเมือง” ซึ่งเป็นโครงการแรกของมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย การทำโครงการในครั้งนี้คุณศุภเศรษฐ์ได้อาศัยความร่วมมือกับนักอนุรักษ์ภาคประชาชนอีกหลายคนในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในบริเวณรอบพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย  

หัวข้อถัดมาคือ “การอนุรักษ์นกแก้วโม่งฝูงสุดท้าย สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ของชุมชนวัดสวนใหญ่ จ.นนทบุรี” โดย คุณชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์นกแก้วโม่งนั้นเริ่มจากการที่คุณชัยวัฒน์สังเกตเห็นนกแก้วโม่งที่วัดสวนใหญ่ และเมื่อได้ศึกษาดูจึงพบว่าเมื่อ 7-8 ปีก่อนจำนวนประชากรนกแก้วโม่งมีจำนวนเยอะกว่านี้มาก แต่ในปัจจุบันจำนวนกลับลดลงไปมาก ด้วยเหตุนี้คุณชัยวัฒน์จึงได้เริ่มเข้ามาศึกษาและติดตามชีวิตของนกแก้วโม่งอย่างจริงจัง เบื้องต้นทางคุณชัยวัฒน์ได้ร่วมมือกับนักอนุรักษ์เพื่อติดตั้งรังเทียมที่วัดสวนใหญ่  

จากการสังเกตพฤติกรรมของนกแก้วโม่งมาตลอดเกือบปีจึงได้พบว่า นกเหล่านี้ไม่ได้อาศัยอยู่ที่วัดสวนใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ได้บินไปทางทิศเหนือของวัดในทุก ๆ เย็น จากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้คุณชัยวัฒน์เกิดข้อสงสัยและได้สะกดรอยตามนกแก้วโม่งเหล่านี้ จนได้ไปเจอแหล่งที่อยู่ของนกจริง ๆ กว่า 70-80 ตัว ที่ดงตาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนที่ค่อนข้างพลุกพล่านด้วย นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาที่อยู่เพิ่มเติมของนกเหล่านี้จากการสอบถามข้อมูลและออกสำรวจตามพื้นที่ต่าง ๆ จนได้รู้ว่า แท้จริงแล้วยังมีนกแก้วโม่งอยู่บริเวณวัดอัมพวัน วัดมะเดื่อ และจุดอื่น ๆ โดยสิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาครั้งนี้คือแหล่งที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่งที่อาศัยอยู่บนต้นตาลและต้นยางที่ตายซาก จุดนี้เองจึงเป็นข้อสงสัยถึงพฤติกรรมการเลือกบริเวณที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่ง ที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป  

หัวข้อต่อมาคือ “การอนุรักษ์สัตว์ป่าภาค Influencer” โดยคุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงและผู้ร่วมก่อตั้ง EEC Thailand (Environmental Education Centre) ได้มาเล่าถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่านองค์กร EEC Thailand เป็นองค์กรที่ได้อาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการจัดทำค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย ตลอดจนวัยทำงาน เพื่อสร้างการตระหนักและปลูกฝังความคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ค่ายอนุรักษ์ดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ Wildlife Marine life Private Camps และ CSR Solutions ซึ่งค่ายและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้คอนเซปต์ “Let Nature be our classroom” หรือ การให้ธรรมชาตินั้นเป็นห้องเรียนของเรา อย่างไรก็ตามในช่วงโควิดที่ผ่านมาได้มีความท้าทายอย่ามากต่อการจัดค่ายอนุรักษ์ ด้วยเหตุนี้จึงได้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการจัดการเรียนการสอนเรื่องสัตว์ป่าแทน เนื่องจากปัจจุบันผู้คนรับรู้เรื่องสัตว์ป่าผ่านการใช้มิเดียมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น การจัดการเรียนแบบออนไลน์ ยังมีข้อเสียอยู่ คือ การที่เด็ก ๆ ไม่ได้รับประสบการณ์ตรงจากสถานที่จริง ๆ  

คุณอเล็กซ์ได้ให้ความสำคัญถึงช่วงวัย ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้และปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจาก เด็กสมัยนี้เรียนรู้เร็ว ทำให้การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ เด็ก ๆ สามารถนำไปประยุกต์และต่อยอด ตลอดจนเกิดความคิดที่อยากจะทำงานสายอนุรักษ์ ด้วยเหตุนี้คุณอเล็กซ์ได้เชื่อว่า “การใช้การศึกษาในการเป็นแรงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ออกมาสนใจและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น”  

หัวข้อถัดมาคือ “ฐานข้อมูล eBird กับการอนุรักษ์สัตว์ป่าภาคพลเมืองในประเทศไทย” โดย คุณอิงคยุทธ สะอา กล่าวคือ eBird เป็นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์พลเมืองเกี่ยวกับการให้ข้อมูลเรื่องของ ชนิดพันธุ์ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่อาศัย ของนกพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาโดย Cornell lab of ornithology ซึ่งข้อดีของการใช้ฐานข้อมูล eBird คือ ช่วยให้เราสามารถบันทึกและสืบค้นข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรียบเรียงตัวเลขการใช้งานจากฐานข้อมูล eBird ตลอดจนได้มาซึ่งสถิติการใช้งานและการบันทึกข้อมูลนก ทางคุณอิงคยุทธ ได้นำสถิติการใช้ฐานข้อมูล eBird มายกตัวอย่างการบรรยาย โดยตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงรายงานชนิดพันธุ์นกที่ค้นพบไปแล้วกว่า 1073 ชนิด โดยมีผู้เข้าถึงทั้งหมดกว่า 140,100 เป็นคนไทยเป็นจำนวน 5017 คน  

การใช้ฐานข้อมูล eBird ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตามข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น เพียงแค่ใส่ชื่อสถานที่เข้าไปก็สามารถดูได้แล้วว่าในบริเวณนั้นพบนกจำนวนเท่าไหร่ มีชนิดพันธุ์ใดบ้าง ที่สำคัญฐานข้อมูลนี้ไม่จำเป็นต้องอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ แต่ยังสามารถบันทึกข้อมูลได้ย้อนหลังด้วย ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะบันทึกข้อมูลได้ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ฐานข้อมูล eBird เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของสัตว์ป่า ตลอดจนนำไปสู่การอนุรักษ์นกต่อไป  

หัวข้อต่อมาคือ “Sarus Crane (Grus Antigone) Conservation in Cambodia” โดย Phearun Sum จาก WCS Cambodia ได้มาพูดถึงสถานการณ์นกกระเรียนและโครงการอนุรักษ์นกกระเรียนในพื้นที่โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา ของ WCS ที่มุ่งเน้นในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ในพื้นที่บริเวณโดยรอบโตนเลสาบที่มีทั้ง พื้นที่ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ และภูเขา ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ได้อาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ นักอนุรักษ์ในพื้นที่ เกษตรกร ฯลฯ การอนุรักษ์นกกระเรียนในครั้งนี้มีสาเหตุจากการลดลงของประชากรนกกระเรียน คุณ Phearun ได้ยกตัวเลขจำนวนประชากรนกกระเรียนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบ จากแต่ก่อนย้อนไป 9 ปี (ปี 2013) ประชากรนกกระเรียนมีมากถึง 850 ตัว ในปัจจุบันเหลือเพียง 150 ตัว โดยลดลงไปถึง 82% หรือประมาณ 9% ต่อปี ปัญหาสำคัญมาจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรและการล่าเพื่อเอาเนื้อ หรือแม้แต่การล่าเพื่อเอาไข่ไปขายเป็นต้น  

หัวข้อสุดท้ายคือ “การอนุรักษ์นกกระเรียนภาคพลเมือง” โดย นุชจรี พืชคูณ เป็นตัวแทนจากศูนย์การจัดการสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2554 และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันแล้ว เนื่องจากสถานะปัจจุบันของนกกระเรียนพันธุ์ไทยคือ สัตว์ป่าสงวนที่เคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ จึงเป็นสาเหตุในการจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรนกกระเรียนให้กลับสู่ธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยปัจจุบันปล่อยคืนกว่า 144 ตัว และมีชีวิตรอดกว่า 100 ตัว ตลอดจนเกิดเองตามธรรมชาติอีก 45 ตัว ซึ่งได้อาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่น ในการปรับสถานภาพจากสัตว์เคยสูญพันธุ์ มาเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งแทน รวมถึงการก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์ด้วย  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ