เมื่อภาพถ่ายไม่ใช่เพียงเครื่องสะท้อนช่วงเวลาและความทรงจำ ทว่ามันกลับแฝงไปด้วยแนวคิดที่ช่างภาพบรรจงใส่เข้าไปเพื่อส่งต่อให้ผู้ชมได้รับรู้ ด้วยเหตุนี้ทาง Volvo Thailand ร่วมกับ National Geographic ได้จัดนิทรรศการภาพถ่าย “ขับเคลื่อนการอนุรักษ์และความยั่งยืนผ่านเลนส์” ขึ้น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ที่ Volvo Studio Bangkok ICONSIAM
งานในครั้งนี้ได้มีการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดการขับเคลื่อนด้านการอนุรักษ์ รวมถึงการรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืนผ่าน 3 แนวคิด จาก 3 ช่างภาพชื่อดังของประเทศไทย ประกอบไปด้วยคุณเริงชัย คงเมือง ช่างภาพสารคดีมืออาชีพ มาพร้อมกับแนวคิด ‘Nature Conservation’ คุณกันตพัฒน์ พฤติธรรมกูล หรือคุณกอล์ฟ เจ้าของเพจ ‘กอล์ฟมาเยือน’ มาพร้อมกับแนวคิด ‘Nature Wonder’ และ คุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ National Geographic มาพร้อมกับแนวคิด ‘Life and Culture’
โดยภายในงานได้มีการจัดแสดงภาพถ่ายของช่างภาพทั้ง 3 คน พร้อมอธิบายความหมายและแนวคิดของแต่ละชิ้นงานเพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานสามารถเข้าใจและเข้าถึงแนวคิดของแต่ละภาพ
อีกส่วนสำคัญของงานนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดด้านการอนุรักษ์ และความยั่งยืนที่ถูกนำเสนอผ่านภาพถ่าย ซึ่งในแต่ละหัวข้อช่างภาพทั้ง 3 คนก็ได้หยิบเอาภาพของตัวเองมาใช้อธิบายประกอบการพูดคุยด้วย
แนวคิดอนุรักษ์ที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านภาพถ่าย
เริ่มต้นที่คุณเริงชัย คงเมือง กับแนวคิด ‘Nature Conservation’ ช่างภาพผู้เจนจัดในวงการสารคดีมีความต้องการถ่ายทอดงานด้านอนุรักษ์และส่งเสริมความยั่งยืนผ่านภาพถ่ายทางธรรมชาติในฐานะช่างภาพและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยภาพถ่ายเกือบทั้งหมดของคุณเริงชัยจะถูกนำเสนอในมุมมองภาพกว้าง เพื่อให้เห็นภาพรวมของธรรมชาติที่ปรากฏในพื้นที่นั้นๆ สะท้อนถึงความแตกต่างและความหลากหลายของธรรมชาติในระบบนิเวศแต่ละพื้นที่
โดยเทคนิคของคุณเริงชัยจะเน้นไปที่การสร้างประเด็น แล้วจึงค่อยนำประเด็นนั้นไปเชื่อมโยงหรือหาความสัมพันธ์กับมิติอื่นต่อ เช่น การหยิบประเด็นเรื่องป่าไม้หรือโลกร้อน มาจับความสัมพันธ์กับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกสะท้อนออกมาผ่านภาพถ่ายเพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ถัดมา คุณกันตพัฒน์ พฤติธรรมกูล เจ้าของเพจ ‘กอล์ฟมาเยือน’ หรือ ‘Golfwashere’ มาพร้อมกับแนวคิด ‘Nature Wonder’ เนื่องด้วยคุณกันตพัฒน์ทำคอนเทนต์ออนไลน์เกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพร่วมกับการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ทำให้ภาพถ่ายของคุณกันตพัฒน์จะเน้นไปที่ภาพทิวทัศน์ที่ถ่ายไว้ ซึ่งคุณกันตพัฒน์กล่าวว่า “ภาพถ่ายก็เป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น ณ วินาทีนั้นๆ” อาจกล่าวได้ว่าภาพถ่ายเป็นเหมือนกับเครื่องสะท้อนความทรงจำของเรานั่นเอง
โดยแต่ละภาพของคุณกันตพัฒน์จะสะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของทิวทัศน์และสถานที่แต่ละแห่ง เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น สถานที่ที่เคยไปมันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่มีอยู่แล้ว ซึ่งคุณกันตพัฒน์ได้โยงประเด็นนี้เข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อม และสะท้อนออกมาให้เห็นว่า “เราควรจะอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะวันนี้เราเห็นแบบนี้ แต่วันหน้าเราอาจจะไม่เห็นแล้ว”
คนถัดมา คุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพและช่างภาพนิตยาสาร National Geographic ประเทศไทย มากับแนวคิด ‘Life and Culture’ โดยคุณเอกรัตน์กล่าวว่าภาพถ่ายของเขานั้นเป็น ‘ภาพถ่ายทางมานุษยวิทยา’ กล่าวคือ เป็นภาพที่บันทึกเรื่องราวของผู้คน ซึ่งภาพของคุณเอกรัตน์จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติ
แนวคิดของคุณเอกรัตน์เน้นการเล่าเรื่องผ่านผู้คนเป็นส่วนใหญ่ โดยจะใช้คนเป็นตัวตั้งแล้วค่อยไปดูต่อว่าคนเหล่านี้กระทำหรือสร้างผลกระทบอะไรต่อธรรมชาติบ้าง
ดังนั้น ภาพของเขาทั้งหมดจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
และอีกเอกลักษณ์ที่ปรากฏในภาพของคุณเอกรัตน์คือ การไม่บอกว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยจะให้สิ่งที่อยู่ในภาพถ่ายนั้นเป็นเหมือนตัวจุดประกายคำถามต่อไป
จากภาพถ่ายสู่การผลักดันเรื่องการอนุรักษ์
นอกจากแนวคิดและเทคนิคแล้ว ภาพถ่ายของช่างภาพทั้ง 3 คน ยังถูกนำมาใช้การสร้างแรงบันดาลใจ แรงผลักดัน และจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ถึงแม้ว่าภาพถ่ายนั้นจะเป็นเพียงรูปไม่ได้มีข้อความหรือเสียงปรากฏให้เราเข้าใจ แต่ภาพเหล่านี้ก็สามารถที่จะสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ชมได้เฉกเช่นเดียวกันกับสื่ออื่นๆ
คุณเริงชัยเชื่อว่าภาพถ่ายมีพลังมากพอที่จะสื่อสารกับคนให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายได้ “ในบางประเด็นเราอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจมัน การที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นมันไม่ได้ง่าย ดังนั้นควรถึงเวลาที่เราจะต้องลงมือทำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้” คุณเริงชัยกล่าว
ด้านคุณกันตพัฒน์อยากใช้ภาพถ่ายของเขาเป็นการเชิญชวนให้คนได้ออกไปสัมผัสกับความสวยงามของธรรมชาติ เพราะสำหรับมุมมองเจ้าของเพจ ‘กอล์ฟมาเยือน’ เขาถือว่า ภาพถ่ายเป็นจุดหยุดเวลาที่ทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งสวยงามเหล่านี้ สุดท้ายเขาได้กล่าวว่า “สิ่งเล็กๆ ที่เราทำนั้นค่อยๆ เคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็ดีมากแล้ว”
สุดท้ายคุณเอกรัตน์ใช้ภาพถ่ายของเขาในการเป็นซอฟต์พาวเวอร์เพื่อส่งต่อข้อความที่เขาต้องการที่จะสื่อสารออกมา เพราะในบางประเด็นเราก็ไม่สามารถพูดออกมาตรงๆ ได้
“ทุกอย่างนั้นอยู่ในมือของเรา ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม” บรรณาธิการภาพ National Geographic กล่าวทิ้งท้าย
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ