หลายปีก่อนผู้อ่านคงเคยได้ยินเรื่องพรานชาวเวียดนามเข้ามาล่าเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย และถูกจับได้ด้วยการไล่ตามหลักฐานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
เหตุสำคัญที่ทำให้การติดตามผู้กระทำความผิดมารับโทษได้สำเร็จนั้นเกิดจากกระบบและกระบวนการใหม่ที่เกิดขึ้นในแวดวงคนทำงานพิทักษ์ป่าได้สร้างแนวทางเอาไว้เพื่อป้องกันและรับมือภัยคุกคาม
ระบบที่ว่า คือ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol อันเป็นระบบที่นำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาประกอบกับการลาดตระเวนแบบเก่าที่ถือเพียงปืนเดินดุ่มเข้าป่า
การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ถูกนำมาใช้ในเมืองไทยครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อปี 2549 โดยมีสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เป็นผู้นำกระบวนการดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อนุรักษ์สำคัญๆ ของไทยอย่าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเตรียมต่อยอดไปยังพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ต่อไปในอนาคต
“การจะทำให้การอนุรักษ์ในป่าให้มีประสิทธิผลจำเป็นต้องเอาวิทยาการมานำการจัดการ” ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย อธิบายถึงความสำคัญการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ “ซึ่งวิทยาการสมัยใหม่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บและรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการลาดตระเวนเพื่อนำมาวิเคราะห์และนำไปใช้ในการจัดการและวางแผนการอนุรักษ์ของพื้นที่นั้นๆ ได้ง่ายขึ้น”
“การมีร่างกายที่แข็งแรงยังไม่เพียงพอต่อการทำงาน แต่จำเป็นต้องเอาวิทยาการเข้ามาใช้ในการทำงานด้วย” ดร.อนรรฆ ให้ความเห็น
ในมุมของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เดินลาดตระเวนอยู่ในป่าอย่างน้อยเดือนละ 20 วันอย่าง สมหมาย ขันตรี หัวหน้าชุดลาดตระเวนพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติคลองลาน เขาสะท้อนภาพการทำงานในอดีตให้ฟังว่า เดิมทีการลาดตระเวนคือการเดินตามรุ่นพี่เข้าป่า รุ่นพี่พาไปไหนเราก็ไป ไปแบบมีจุดหมายว่าจะไปให้ถึงจุดไหนก็เดินไปที่จุดนั้นไม่ได้สนใจรายละเอียดข้างทางและส่วนใหญ่จะเดินแต่ในเส้นทางที่ชำนาญเป็นหลักไม่ค่อยมีการเปิดเส้นทางใหม่ และสิ่งที่นำติดตัวไปด้วยจะมีแค่ปืนและสัมภาระสำหรับยังชีพ
แต่การลาดตระเวนตอนนี้สมหมายและทีมลาดตระเวนต้องมีแผนที่ แฟ้มบันทึกข้อมูล จีพีเอส กล้องดิจิตัล ตลอดจนวิทยุสื่อสารติดไปกับชุดลาดตระเวนเสมอ ในระหว่างลาดตระเวนหากพบอะไรที่เป็นสิ่งผิดปกติจะต้องมีการจดบันทึกไว้สิ่งที่พบเห็น ถ่ายภาพ ระบุพิกัดที่พบลงในจีพีเอส ไม่ว่าจะเป็น ห้างล่าสัตว์ รอยก่อกองไฟ ร่องรอยสัตว์ป่า หรือแม้แต่แต่เศษถุงพลาสติคก็ต้องทำการบันทึกเอาไว้ เพราะนั่นอาจหมายถึงร่องรอยของภัยคุกคามผืนป่า
ข้อมูลที่ชุดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนบันทึกไว้นั้น จะถูกนำไปรวบรวมและประมวลผลออกมาในรูปแบบสถิติที่สามารถบอกได้ว่าภัยคุกคามเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เกิดในบริเวนไหน นำไปสู่การวางแผนการลาดตระเวนครั้งต่อไปของสมหมายและทีมลาดตระเวนชุดต่างๆ
“ที่ไหนที่พบภัยคุกคามมากก็อาจจะต้องเดินไปทางนั้นบ่อย และยังหมายรวมถึงการเดินลาดตระเวนในเวลากลางคืนอีกด้วย”
สมหมายสารภาพว่าหลังจากเริ่มมีการเก็บข้อมูลและปรับเปลี่ยนเส้นทางลาดตระเวนอย่างเป็นระบบจากเดิมที่เขาเคยพบเห็นกระทิงในอุทยานแห่งชาติคลองลานเพียง 10 ตัว วันนี้เขาพบกระทิงเพิ่มขึ้นถึง 3-4 ฝูง อาศัยฝูงละ 10 ตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการสังเกตอย่างละเอียดระหว่างการเดินลาดตระเวนในเชิงคุณภาพ
ปัจจุบันพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองลานตลอดจนอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นับเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้นไม่แพ้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เนื่องจากอุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่งถือเป็นแหล่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ที่รัฐบาลไทยได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งให้เพิ่มขึ้น 50% กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย กำหนดให้มี “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ” ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองแห่ง และการลาดตระเวนเชิงคุณภาพก็ช่วยให้สามารถจัดเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้อย่างมาก
ย้อนไปกลับในเรื่องการจับพรานชาวเวียดนามที่เข้ามาล่าเสือโคร่งในประเทศไทย สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ในช่วงที่มีการตามจับพรานชาวเวียดนาม) บอกว่าความสำเร็จในครั้งนั้นเกิดการจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้เก็บข้อมูลอย่างละเอียดทำให้ผู้บังคับบัญชาสามารถวิเคราะห์ถึงรูปแบบการจัดการได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตามหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งบอกว่า กรณีการจับพรานได้นั้นจะไม่สำเร็จเลยหากไม่มีความร่วมมือของเขตอนุรักษ์อื่นๆ ซึ่งโชคดีว่าพื้นที่ที่ติดกับห้วยขาแข้งอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางก็มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทำให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันเป็นภาพใหญ่ ซึ่งในอนาคตอยากให้พื้นที่อนุรักษ์ทุกๆ แห่งมีการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพไปใช้ (ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ 25 เส้นทาง ทั่วผืนป่าตะวันตก)
“ทุกวันนี้การล่าสัตว์มันพัฒนามากกว่าเมื่อก่อน พรานมีโทรศัพท์มือถือ มีปืนที่มีคุณภาพสูง แต่ในปัจจุบันอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ก็ยังคงสู้ไม่ได้ เราก็ต้องมาพัฒนาระบบ พัฒนาคน และนำวิทยาการ กระบวนการต่างๆ เข้ามาต่อสู้แทน”
สำหรับในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าเขตฯ ฉายภาพข้อมูลสำคัญหลังนำเอาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ในพื้นที่ว่า ในปี 2549 – 2552 จำนวนเพิงพักพราน ห้างยิงสัตว์ ซากสัตว์ขนาดใหญ่ที่ถูกมนุษย์ล่าในห้วยขาแข้งมีปริมาณลดลง
ขณะที่ Smart Patrol ดูเหมือนจะเป็นการคำตอบของการทำงานของพิทักษ์ป่า แต่สมโภชน์ มณีรัตน์ มองว่าการจะนำเอาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ในพื้นที่อนุรักษ์แค่มีการอบรมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ องค์ประกอบอย่างเรื่องของวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องใช้ข้อมูลให้เป็น เครื่องมือ ตลอดจนกำลังคน และสวัสดิการก็เป็นสิ่งสำคัญ
“ตอนนี้หน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ ยังต้องการอุปกรณ์อีกมาก โดยเฉพาะจีพีเอส ปัจจุบันมีเพียง 1 เครื่องต่อหนึ่งหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งในการทำงานให้สำเร็จควรมี 3 เครื่อง ส่วนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายังมีเงินเดือนแค่ 7,500 บาท ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีประกันชีวิต แต่ต้องเดินทางทุกฤดูร้อน ฝน หนาว สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากพราน ที่ห้วยขาแข้งมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน 200 คน เฉลี่ยแล้วพิทักษ์ป่าหนึ่งคนต้องดูแลพื้นที่คนละหนึ่งหมื่นไร่ถึงจะครอบคลุมทั้งป่า” สมโภชน์ กล่าวและย้ำว่ารัฐควรดูแลพิทักษ์ป่าให้มากกว่านี้
หากเปรียบเทียบป่าเป็นร่างกายของมนุษย์ พิทักษ์ป่าก็ทำหน้าที่เป็นเม็ดเลือดขาวคอยดักจับเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ถ้าเม็ดเลือดขาวอ่อนแอลงเมื่อไหร่ ทรัพยากรป่าไม้สัตว์ก็มีโอกาสสูญหายไปจนหมดสิ้นในอนาคต