‘ไร่หมุนเวียน’ นอกจากจะเป็นพื้นที่วัฒนธรรมการหาอยู่หากินของชาวกะเหรี่ยงที่สอดคล้องกับระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นแหล่งที่หลบภัย อยู่อาศัยของ ‘สัตว์ป่า’ โดยที่สัตว์ป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ใน ‘พื้นที่ข้อห้าม’ ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกับไร่หมุนเวียน ตามวัฒนธรรมความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ‘การทำไร่ข้าว’ หรือ ‘ไร่หมุนเวียน’ ชองชาวกะเหรี่ยง เป็นการทำเกษตรที่เอื้อต่อระบบนิเวศของป่า และสัตว์ป่า การทำไร่จำเป็นต้องมีองค์ความรู้เรื่องลักษณะพื้นที่ ประเภทของป่า และพิธีกรรมความเชื่อ บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีเจ้าของ มีเทวดาปกปักษ์รักษา ซึ่งนอกจากความเชื่อดังกล่าว กระบวนการเลือกพื้นที่ทำไร่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องเพราะ ยังมี ‘พื้นที่ข้อห้าม’ หรือพื้นที่ที่มีลักษณะที่เป็นข้อยกเว้น ‘ห้ามฟันไร่’
‘พื้นที่ข้อห้าม’ จะอยู่บริเวณเดียว หรือในไร่หมุนเวียน แต่จะถูกยกเว้นไว้ ห้ามแผ้วถาง หรือฟันไร่ ตามวัฒนธรรมความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง พื้นที่ข้อห้ามจะมีลักษณะเป็นหย่อมป่าเล็กประมาณ 3-5 ไร่ เป็นป่ารก ตาน้ำ น้ำผุด หินผา ซึ่งตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง หากฝ่าผืนหรือเข้าไปฟันไร่ในพื้นที่ดังกล่าวจะส่งผลร้ายทั้งตัวเอง ครอบครัว ชุมชนตามมาด้วย
พื้นที่ข้อห้ามทั้ง 15 ข้อของชุมชนกะเหรี่ยง
จากงานวิจัยฯ โครงการศึกษาและฟื้นฟูภูมิปัญญา ‘ลือกาเวาะ’ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของคนกะเหรี่ยงบ้านสเน่พ่อง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก โดยสุวัฒชัย ไทรสังขชวลิต พบว่าลักษณะพื้นที่ข้อห้ามมีอยู่ 15 ลักษณะพื้นที่ด้วยกัน ดังนี้
1. พื้นที่ ๆ มีลักษณะเป็นหลังเต่า หลังช้าง โดยครอบครัวหนึ่งทำได้ฝั่งเดียว
2. ในพื้นที่ ๆ มีน้ำผุดขึ้นจากพื้นดิน ชาวบ้านเชื่อว่ามีเจ้าป่าเจ้าเขาอาศัยอยู่ ต้องทำเลยจากจุดที่มีน้ำผุดไปประมาณ 50 เมตร
3. พื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำ ครอบครัวเดียวทำไร่ได้เพียงฝั่งเดียว
4. ภูเขา 2 ลูกมีช่องแคบอยู่ตรงกลาง หัวและท้ายช่องแคบห้ามทำ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นทางเดินของเจ้าที่เจ้าทาง
5. ครอบครัวเดียวห้ามทำไร่พร้อมกัน 3 ผืน
6. พื้นที่ ๆ มีลักษณะเหมือนของลับผู้หญิง (มีน้ำพุขึ้นกลางระหว่างเนินเขา 2 ลูก) ห้ามทำ
7. ภูเขาที่นกกระสาบินข้ามทางเดิมเสมอ ห้ามทำ
8. พื้นที่บนเขาที่มีลักษณะเป็นรูปลิ้นยักษ์ ห้ามทำ
9. พื้นที่ ๆ น้ำผุดออกจากพื้นดิน ห้ามทำ ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าป่าเจ้าเขาดุร้าย
10. พื้นที่เป็นรูปก้นกระทะ ห้ามทำ
11. พื้นที่เนินเขาที่มีร่องน้ำอยู่ 2 ฝั่งไม่ต่อเนื่องกัน เนินเขาที่อยู่ตรงกลาง ห้ามทำ
12. พื้นที่ติดภูเขาหินห้ามทำ
13. ห้วยเล็กที่ปลาเวียนขึ้นได้ห้ามทำ
14. ภูเขา 1 ลูก ครอบครัวเดียวทำไร่ 2 ฝั่งไม่ได้
15. แม่น้ำ 1 สายแต่แยกออกเป็น 2 ทาง มีพื้นที่ตรงกลาง ห้ามทำ
นอกจากความเชื่อในลักษณะพื้นที่ต้องห้ามทั้ง 15 พื้นที่แล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ป่า และต้นไม้อีกด้วย ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว ‘พื้นที่ต้องห้าม’ คือการสงวนพื้นที่ต้นน้ำผ่านทางระบบความเชื่อ ประเพณี อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปฏิบัติที่จะดำรงวิถีชีวิตที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศของชาวกะเหรี่ยง
พื้นที่ข้อห้ามกับบทบาทในการอนุรักษ์สัตว์ป่า
พื้นที่ ๆ มีลักษณะข้อห้ามในการทำไร่หมุนเวียนดังกล่าว นอกจากจะรักษาไว้แหล่งต้นน้ำลำธารแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอีกด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลร่องรอยสัตว์ป่าในพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับเจ้าหน้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ และตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงทั้ง 6 ชุมชน “ภายใต้โครงการศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสัตว์ป่า” โดยดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน พบว่า ในพื้นที่ไร่ข้าว, ไร่ซาก และลักษณะพื้นที่ข้อห้าม จะพบร่องรอยสัตว์ป่า จำนวน 4 ชนิด (เฉพาะที่เก็บข้อมูล) โดยพบร่องรอยหมูป่า มากที่สุด รองลงมาคือ เก้ง กวางป่า กระทิง (บ้านจะแก) ซึ่งร่องรอยสัตว์ป่าที่พบจะอยู่บริเวณพื้นที่ตาน้ำผุด พื้นที่ ๆ ไม่ถูกแผ้วถางติดกับไร่ข้าว หรือไร่ซากที่ปล่อยทิ้งไว้ เพราะเนื่องจากไม่มีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ สัตว์ป่าได้อาศัยหลบภัย อีกทั้งใกล้บริเวณดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ไร่ข้าว, ไร่ซาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ป่า ดังนั้นจากโครงการฯ ดังกล่าว อาจจะกล่าวได้ว่าการมีอยู่ของพื้นที่ข้อห้ามทางวัฒนธรรมในไร่หมุนเวียน จึงเป็นส่วนหนึ่งในการคงไว้ซึ่งระบบนิเวศ สัตว์ป่า และวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยง
การรักษาพื้นที่ข้อห้ามทางวัฒนธรรม เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า
ดังที่กล่าวข้างต้น พื้นที่ข้อห้ามในไร่หมุนเวียน นอกจากจะเอื้อต่อวิถีชีวิตคน ระบบนิเวศ สัตว์ป่าแล้ว ยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ในการคงอยู่ของวัฒนธรรมความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงอีกด้วย เนื่องเพราะแก่นแกนสำคัญที่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวดำรงอยู่ได้ คือระบบความเชื่อและวัฒนธรรมซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญ หากความเชื่อดังกล่าวเปลี่ยนไปหรือเสื่อมลง จะทำให้พื้นที่ข้อห้ามในไร่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การรักษาพื้นที่ข้อห้ามไว้ คือการรักษาระบบวัฒนธรรมความเชื่อไว้ ซึ่งรูปธรรมดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปแบบของ กฎ ระเบียบ โดยผ่านการประชาคมของชุมชน
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือเรื่อง ‘เศรษฐกิจ’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของชุมชนในปัจจุบัน มีความผูกพันธ์อยู่กับการใช้ประโยชน์ที่ดิน การทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินดำรงอยู่แบบวิถีดั้งเดิมนั้นคงเป็นเรื่องยาก
ดังนั้น การประโยชน์ที่ดินควรมีลักษณะผสมผสานทั้ง “เศรษฐกิจปัจจุบันและวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้าด้วยกัน” โดยอาศัยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 ในการสำรวจพื้นที่ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ และชุมชน จัดแบ่งออกเป็นโซนพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว พื้นที่สวน และพื้นที่ข้อห้ามไร่หมุนเวียน จัดทำเป็นแผนที่เพื่อความชัดเจน ทั้งนี้อาจจะต้องคำนึงถึงบริบทของชุมชนในปัจจุบันด้วย
พื้นที่ข้อห้ามอยู่คู่กับการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงมาอย่างยาวนาน โดยถูกสงวนและหวงห้ามไว้ตามระบบความเชื่อทางวัฒนธรรม พื้นที่ข้อห้ามมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ หรือรักษาไว้เพื่อการดำรงอยู่ของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ซึ่งรวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าด้วย
การดำรงอยู่ของพื้นที่ข้อห้ามเปรียบเสมือนเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งทางระบบความเชื่อ วัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งการรักษาพื้นที่ดังกล่าวไว้ในปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ การสร้างความตระหนักรู้ และสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่สอดคล้องกับระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ผสมผสานแนวคิดการใช้พื้นที่เศรษฐกิจและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เพื่อรักษาความ “สมดุลของคน และระบบนิเวศป่าสัตว์ป่า” ต่อไป
เรื่อง ปราโมทย์ ศรีใย