ประมาณตีสี่ของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 เสียงปืนจากบ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ดังขึ้นและเงียบไปกับเสียงสายธารข้างบ้าน เหมือนเสียงปืนนัดอื่นๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาในราวป่ามืดทึบแห่งนี้ในยุคสมัยนั้น
ย้อนหลังไปก่อนหน้า… ที่บ้านพักหลังเดิม…
คืนแล้วคืนเล่าในคืนแล้งร้อนปี พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร จุดเทียนเล่มแล้วเล่มเล่าเพื่อนั่งเขียนเอกสารวิชาการเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก
เอกสารวิชาการกองโตถูกเปิดอ่านเพื่ออ้างอิงในงานสำคัญชิ้นสุดท้ายของชีวิตเพื่อเสนอให้โลกรับรู้คุณค่าแห่งผืนป่าที่โอบล้อมลำห้วยทับเสลาอันส่งเสียงรินไหลเป็นเพื่อนของเขาในยามสงัดดึก
เสียงพิมพ์ดีดกลางดึกเริ่มพิมพ์ว่า…
“ป่าผืนสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ข้อมูลการสำรวจยังไม่สมบูรณ์ที่สุด”
กระทั่งถึงบทสรุปที่ตะโกนถึงคนไทยว่า…
“การที่ป่าผืนนี้จะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการนานาชาติที่เป็นสมาชิก ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งหนึ่งของโลกหรือไม่ ก็อยู่ที่พวกเราคนไทยทุกคนจะได้ช่วยกันสนับสนุนในการดูแลรักษา และใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง
เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ในรูปแบบของความสมดุลทางระบบนิเวศวิทยาที่นับวันแต่จะถูกทำลายลง จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่ติดตามมาจากการทำลายธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง”
หลังวันเสียงปืนดังกึกก้องป่า หนึ่งปีต่อมา (พ.ศ. 2534) ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย
ณ ที่แห่งนี้ จึงเป็นมากกว่าบ้านพัก แต่เป็นที่สร้างมาตรฐานงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้แก่ประเทศไทย
ผ่านวันล่วงเลยหลังจากนั้นมากว่า 30 ปี บ้านหลังเก่า ยังถูกรักษาไว้คงเดิม
ห้องซ้ายมือเป็นห้องทำงานที่คุณสืบนั่งเขียนรายงานคุณค่าขอให้ทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ห้องขวามือ คือ ห้องที่คุณสืบเสียสละชีวิต
เตียงที่คุณสืบทอดกายลงเพื่อสืบสานชีวิตของผืนป่า สัตว์ป่า รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายภาพ (เพราะเป็นคนชอบถ่ายภาพ) เครื่องฉายสไลด์ แฟ้มเก็บเอกสารและข้อมูลต่างๆ ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ต่างไปจากรุ่งสางวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533
‘บ้านพัก สืบ นาคะเสถียร’ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร’ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานที่ซึ่งสร้างเพื่อระลึกนึกถึงคุณงาม ความดี ความเสียสละของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผู้ทุ่มเททั้งกาย วาจา ใจ ปกป้องผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
รวมถึงเพื่อขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ที่เข้าสืบสานเจตนาเรื่อยมา
และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้กับบุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญและการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ในความเป็นอนุสรณ์สถาน – ที่ตั้งของบ้านพักเชื่อมร้อยกับรูปปั้นสืบนาคะเสถียร ผ่านบันไดที่ทอดยาวและลดระดับเป็นจำนวนแปดขั้น เท่ากับระยะเวลาแปดเดือนที่คุณสืบมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
สัญลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง ระหว่างรูปปั้นคุณสืบกับบ้านพัก ซึ่งมีระยะห่างประมาณหนึ่งร้อยเมตร ในสนามด้านซ้ายมือ มีต้นไทรที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูก เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เมื่อ 24 เมษายน 2536
แต่กาลเวลาที่ผ่านพ้น ยิ่งยาวนาน ยิ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ
บ้านหลังเก่าที่ชายป่าของลำห้วยเริ่มเกิดการชำรุดทรุดโทรมลง
ในปี พ.ศ. 2565 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงได้ร่วมปรับปรุงและซ่อมแซมบ้านพัก สืบ นาคะเสถียร เพื่อให้สถานที่แห่งนี้มีความพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชม
ระลึกนึกถึงคุณงาม ความดี ความเสียสละของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
การปรับปรุงนี้ จะยังคงสภาพบ้านพักให้คงอยู่ในรูปแบบเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ขัดต่อจิตวิญญาณที่สืบเนื่องกันมากว่า 30 ปี
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม