“เห็นควรให้ทบทวนผลการศึกษาจำนวนและชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้นและสัตว์ป่าให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในและรอบอ่างเก็บน้ำอย่างเข้มข้น และเสนอแผนติดตามตรวจสอบจำนวนชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอย่างละเอียด เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งหมดอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่ป่าไม้สภาพสมบูรณ์”
.
นี่เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของรายงานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ที่ซึ่งหากโครงการเกิดขึ้นจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่า 2,097 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีซ้อนทับกับป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และในป่าภาชีแห่งนี้ยังมีชุมชนปากะญอบ้านพุระกำอาศัยและทำกินโดยมีพื้นที่การใช้ประโยชน์รวม 400 กว่าไร่
จากเนื้อหาการประชุมด้านบน คือที่มาของการที่เราได้มีส่วนร่วมเข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และพี่น้องหมู่บ้านพุระกำ เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ยืนยันว่าพี่น้องปากะญอที่นี่ “อยู่ป่ารักษาป่า และกินน้ำรักษาน้ำ” “โอ๊ะปว่าหล่ากล้าบ่ากว่าปว่าหล่ากล้า อ้อที๊บ่ากว่าที๊” จริง
ก่อนที่จะเข้าไปตั้งกล้องร่วมกับพี่ๆ น้องๆ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เราและพี่ปุ้ย ปราโมทย์ ศรีใย เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีโอกาสเข้าไปในหมู่บ้านพุระกำกันก่อน พวกเราพูดคุยเรื่องข้อมูล สอนการตั้งค่าในกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าให้พี่น้องพุระกำ เพื่อว่าหากถ่านหมด พวกเขาจะสามารถช่วยเปลี่ยนถ่านกล้อง เก็บภาพชุดก่อน และตั้งค่ากล้องได้เองโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปทุกครั้ง
พวกเราใช้เวลาสอนน้องเยาวชนบ้านพุระกำกันไม่นาน ทุกคนตั้งใจ ลองกดลองตั้งค่ากล้อง เมื่อทีมงานมาครบ ก็ถึงเวลาไปตั้งกล้องในสถานที่จริง
.
.
เรา : พี่ไปติดตรงไหนกันดี ?
พี่เปเล่ พี่จอแปะ : มีจุดใกล้ๆ หมู่บ้าน ข้ามน้ำไปก็มีสัตว์ป่าแล้ว กับขึ้นไปบนเขาลูกนู้น(พร้อมชี้มือไป)ตรงที่เราเจอเลียงผากัน
เรา : เขาลูกนู้นเหรอพี่ บัวขึ้นไปด้วยสิ
พี่จอแปะ : ถ้าบัวขึ้น เราไม่ขึ้นนะ ทางชันมาก ต้องผูกเชือกที่เอวแล้วปีนขึ้นไปกันเลย
เรา : โอเค งั้นบัวไม่ขึ้นและ (เดี๋ยวจะไปเป็นภาระเปล่าๆ)
พี่ๆ คุยและตกลงกันว่าจะพาไปตั้งกล้องฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านที่มีสัตว์ป่าแวะเวียนมาให้เห็นบ่อยๆ พี่เปเล่เล่าว่าคนในหมู่บ้านนี้ไม่มีใครล่าสัตว์กันแล้ว เพราะพวกเราปลูกผักขายส่งตลาดศรีเมือง เก็บผัก แพ็คผักก็หมดเวลาหนึ่งวันแล้ว แม่บ้านก็ทอผ้าส่งตรงไปยังโครงการหลวง จึงทำให้แม้แต่พื้นที่ใกล้ๆ หมู่บ้านก็มีสัตว์ป่าให้เห็น
พวกเราเดินข้ามลำภาชี ฝนตกๆ หยุดๆ ตลอดทั้งวัน พอเดินขึ้นฝั่งได้ก็ต้องเจอกับดินลื่นๆ ตลอดทาง ก้มสลับมุดไปเรื่อยๆ เดินไป ลื่นไป ต้องระวังทั้งพื้นที่เฉอะแฉะไปด้วยดินโคลนและระวังหัวที่เป็นป่าระกำสมชื่อบ้านพุระกำ เราพยายามเดินแบบตั้งสติสุดๆ แต่ก็ไม่วาย มัวแต่มองพื้นว่าจะเดินยังไงไม่ให้ล้ม เงยหน้าขึ้นมาอีกที โอ้ยย!! เราร้องเบาๆ เอามือจับไปที่หัวตรงจุดที่รู้สึกเจ็บ
“ได้เรื่องและ!” เราเงยหน้าขึ้นมาตรงที่เป็นกอระกำพอดี
.
.
หนามระกำปักคาอยู่ที่หัว แต่ไม่เป็นไรเราลองคลำแล้วดึงออกเพราะไม่ได้ทิ่มลึกมาก แต่ก็ทำให้เจ็บไม่เบา เราพูดเชิงล้อเล่นว่า “สงสัยกลัวจะไม่ถึงบ้านพุระกำมั้ง เลยต้องให้กอระกำเจิมหัวสักหน่อย” ทั้งคณะก็หัวเราะกันใหญ่
พวกเราปรึกษาหารือกันและตกลงว่าจะตั้งกล้องตรงที่เป็นโป่งธรรมชาติ ซึ่งพี่ๆบอกว่าเห็น เก้ง กวาง หมูป่า และสัตว์อีกสารพัดชนิดลงมาที่โป่งนี้บ่อยๆ พวกเราตั้งกล้องตรงจุดนี้ 2 ตัว หันหน้ากล้องเข้าหากันเพื่อเวลาสัตว์ป่าเดินผ่านจะได้ติดภาพหลายๆ มุม เมื่อติดเสร็จเรียบร้อย เหลือกล้องอีกชุดที่ต้องปีนเขาขึ้นไป พี่จอแปะและเพื่อนอาสารับหน้าที่ปีนขึ้นไปติดกล้องให้ ส่วนเราและพี่ปุ้ยเสร็จภารกิจก็ได้เวลาเดินทางกลับกรุงเทพ
เดือนถัดมาพวกเรารีบมาเก็บกล้องด้วยความตื่นเต้นเพราะอยากเห็นผลงาน ว่ามีตัวอะไรแวะเวียนผ่านทางและทักทายกับกล้องของพวกเราบ้าง
พอทีมงานครบพวกเราเดินข้ามฝั่งน้ำกันอีกเช่นเคย เมื่อถึงที่หมายเรารีบเดินเข้าไปแกะกล้องออกจากต้นไม้และเช็คภาพ กล้องตัวที่หนึ่งไม่มีภาพสัตว์มีแต่ภาพพวกเราตอนช่วยกันตั้งกล้อง ทดสอบ เดินไปเดินมา โบกมือกันอยู่หน้ากล้อง
ส่วนกล้องตัวที่สอง ก็นก… ติดแต่นก นกมาเล่นน้ำที่โป่งกันหลายตัวเชียว และก็มีภาพสัตว์ฟันแทะตัวน้อยๆ ที่โผล่มายามค่ำคืนแบบไวไว ไม่สังเกตก็แทบจะกดผ่านไป ทุกคนพูดตรงกันว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวลองไปติดที่ใหม่ที่พี่เปเล่และพี่คนอื่นเล็งเอาไว้แล้ว พวกเราคุยงานเสร็จก็เดินทางกลับ
.
.
หลังจากนั้นสถานการณ์โควิดก็หนักจนเราไม่สามารถลงพื้นที่ได้ไปอีกยาวๆ แต่แน่นอน มีเรื่องส่งมาให้เราตื่นเต้นและดีใจอยู่เสมอ เพราะพี่ๆ น้องๆ พุระกำ ไปหาที่ติดตั้งจุดใหม่ เขาปรับกล้องย้ายมุมไปยังจุดที่คิดว่าต้องมีสัตว์ผ่าน และแน่นอนภาพที่ได้มาเห็นแล้วทำให้หัวใจเราพองโต นึกถึงคำพูดที่ว่า “อยู่ป่ารักษาป่า กินน้ำรักษาน้ำ” หรือ “โอ๊ะปว่าหล่ากล้าบ่ากว่าปว่าหล่ากล้า อ้อที๊บ่ากว่าที๊” คำพูดนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง
เราหวังว่าข้อมูลที่เราช่วยกันเก็บร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และพี่น้องบ้านพุระกำ รวมถึงพี่น้องบ้านหนองตาดั้ง ทั้งการเก็บข้อมูลพันธุ์ปลา, ปู และการทำแนวกันไฟ ที่พี่น้องอยู่กับป่าดูแลป่า จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นสำคัญรักษาป่าที่สมบูรณ์ผืนนี้ไว้ได้ไม่ให้กลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำในอนาคต
ปัจจุบัน โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง จ.ราชบุรี ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หลังจากเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2562 ตัวแทนชาวบ้านพุระกำ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้าง อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ยื่นหนังสือแก่ผู้แทนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยขอให้มีการทบทวนโครงการ และในวันเดียวกันนั้นกก.วล. ได้มีมติให้กรมชลประทานไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
จากการสอบถามความคืบหน้าไปยังสผ. ได้ความว่ากรมชลประทานยังไม่มีการส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำดังกล่าว
.
ภาพหลักฐานเชิงประจักษ์ความอุดมสมบูรณ์
ของผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
.