“ฤดูที่ไฟป่ากำลังโหมกระหน่ำในหลายๆ พื้นที่
แต่ชาวบ้านพุระกำได้เตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้าแล้ว”
.
เราทำงานคลุกคลีกับพี่น้องปากะญอบ้านพุระกำมาร่วม 2 ปี แรกรู้จักผ่านการช่วยคัดค้านเขื่อนบ้านหนองตาดั้ง ที่อาจจะถูกสร้างขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และนั่นหมายถึงชาวบ้านพุระกำซึ่งเป็นหมู่บ้านปากะญอที่ตั้งอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี จะต้องจมอยู่ใต้บาดาลทั้งหมู่บ้าน (รายละเอียดเรื่องการคัดค้านโครงการเขื่อนในบทความนี้ขอไม่กล่าวถึง) หลังจากนั้นเรายังคงติดต่อพูดคุย ทักทาย สานสัมพันธ์ทำงานรักษาป่าร่วมกันกับพี่น้องบ้านพุระกำมาอย่างต่อเนื่อง
ภารกิจในการลงพื้นที่คราวนี้เพื่อมาพูดคุยกับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และชุมชน รวมถึงกลับมาเก็บกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่เรากับพี่ปุ้ย ปราโมทย์ ศรีใย เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ร่วมกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตฯ ได้เข้าไปติดตั้งเพื่อ สำรวจความหลากชนิดของสัตว์ป่าที่หากินอยู่ใกล้หมู่บ้าน ไว้เป็นฐานข้อมูลในการคัดค้านโครงการเขื่อนบ้านหนองตาดั้ง และแสดงให้เห็นได้ชัดว่าคนและสัตว์ป่า สามารถใช้พื้นที่อยู่ร่วมกันได้โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
หลังจากนั่งประชุมตามภารกิจหลักเป็นที่เรียบร้อย วันต่อมาเรามีโอกาสร่วมเดินสำรวจแนวกันไฟที่ตามคำชวนของพี่น้องชาวบ้าน ซึ่งพวกเขาได้ทำเตรียมไว้รับมือไฟป่า เราได้รับผิดชอบให้ร่วมเดินสำรวจแนวกันไฟฝั่งตะวันตกของหมู่บ้านพุระกำ ส่วนทีมพี่ปุ้ยเดินสำรวจแนวกันไฟบ้านหนองตาดั้ง
แนวกันไฟชาวบ้านที่นี่ได้ทำเตรียมไว้ล่วงหน้ามา 2- 3 เดือนมาแล้ว เพราะปีที่แล้วเกิดไฟป่าสร้างความเสียหายให้ผืนป่าแถบนี้ไปพอสมควร ชาวบ้านเล่าว่าปีที่แล้วจุดเริ่มของไฟป่าน่าจะมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านส่วนหนึ่ง ฝั่งไทยเองส่วนหนึ่งรวมกันเลยกลายเป็นมหาเพลิงที่ยากจะดับ ปีนี้ทุกคนเลยเร่งเตรียมพร้อมทำแนวกันไฟเสียแต่เนิ่น ๆ ประกอบกับได้งบมาจากภาครัฐช่วยสนับสนุนจ้างชาวบ้านทำแนวกันไฟด้วย
.
จุดเริ่มต้นมักดูง่ายเสมอ
ทีมของเรามีทั้งหมด 4 คน มีพี่เปเล่ กัวพู้ เป็นพี่ใหญ่คอยอธิบายเส้นทางและงานต่าง ๆ ในพื้นที่ให้เราฟัง นอกจากพี่เปเล่ ทีมเรายังมี จันทร์เทพ กัวพู้ หรือ เทพ และ ศิริพงษ์ จอกาย หรือ แจ็คกี้ หนุ่มปากะญอวัยรุ่นแห่งบ้านพุระกำ พาเราเดินลัดเลาะไต่ยอดเขาตลอดระยะทาง 7 กิโลเมตร (วัดแนวเส้นตรงจากแผนที่ แต่ระยะจริงไม่ใช่แน่นอน) เราเริ่มเดินกันตั้งแต่ 8.30 น. ออกมาจากป่าอีกทีก็บ่ายโมง สองคนนี้จะเป็นคนคอยเดินประกบเราตลอดการเดินทาง
.
.
เราเดินเลาะเลียบไปตามเส้นทางราบ ๆ มีขึ้นเนินบ้างแต่ไม่มาก เดินไปได้สักชั่วโมงความจริงเริ่มปรากฏว่าทางที่จะไปจากนี้คงไม่ง่ายแล้ว เพราะหลังจากที่เดินมาได้ชั่วโมงกว่า ๆ ก็มีแต่ขึ้นเขาอย่างเดียวไม่มีเดินลงเลยแม้แต่นิด
สเต็ปการเดินของเราสม่ำเสมอไม่ช้าไม่เร็วเกินไป ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยมากมายอะไร เรารู้ว่าเส้นทางที่จะไปมันไกลมากเพราะเราเคยสำรวจเส้นทางน้ำที่นี่มาก่อน พอทีมงานบอกว่าจะเริ่มเดินจากตรงนี้แล้วจะไปจบที่ตรงไหนเราเลยพอคิดภาพออกได้ว่าไม่ใกล้แล้วแหละ แต่สเต็ปการเดินของปากะญอหนุ่มทั้งสามนี่เข้าขั้นเร็ว เราได้แค่หยุดจับพิกัด ถ่ายรูป และจิบน้ำ การเดินทั้งทริปนี้พักยาวสุดน่าจะไม่ถึง 10 นาที 3 หนุ่มคงเห็นว่าช้ากลัวจะถึงหมู่บ้านกันเย็น จนเทพ หันมาพูดกับเราว่า
“ถ้าพี่เดินแบบนี้เราน่าจะถึงที่หมายก็ตอนบ่ายสองโน่น” เราตอบกลับไปว่าพี่เดินได้นะ แต่อย่ารีบ มีขนมกับน้ำติดมาก็ไม่ได้ห่วงอะไรมาก ถ้าจะถึงบ่าย ๆ
ระหว่างทาง 3 หนุ่มก็โชว์แนวกันไฟที่ 2 หนุ่มน้อยช่วยกันทำว่ามีความกว้างมากแค่ไหน พวกเขานอนค้างบนเขาเพื่อที่จะกวาดเศษใบไม้ให้เกลี้ยงที่สุดกันลูกไฟหล่นข้ามมาตามแรงลม ตามเส้นทางที่พอจะทำได้
แหงนคอตั้งบ่า เดินไต่ระดับขึ้นเขาอย่างต่อเนื่อง เทพหยุดชี้แล้วบอกว่า “พี่ครับเราจะขึ้นเขานี้ และพวกเราจะขึ้นไปยอดเขานู้นครับ” เทพวาดมือไปชี้ที่ยอดเขาที่เชื่อมต่อกับเขาที่อยู่ตรงหน้าพร้อมหันกลับมายิ้มหัวเราะกับเรา เราตอบ “ได้ ๆ พี่ไปได้” แม้ภาพที่เห็นตรงหน้าจะทำให้เราต้องแหงนคอตั้งบ่าเวลามอง (โอ้ยยยยย)
.
.
แจ็กกี้เดินนำหน้า สเต็ปการเดินของเขาทำให้เราอึ้ง เพราะนอกจากจะถือมีดพร้าด้ามใหญ่ไว้ในมือเพื่อคอยตัดกิ่งไม้และสางเถาวัลย์ที่อาจเกี่ยวพันหรือทำให้สะดุดได้แล้ว เขายังแบกขนมปี๊บที่มีขนมบรรจุอยู่เต็มแน่นสะพายหลังติดไปอีกด้วย เราได้แต่คิดในใจเด็กพวกนี้เดินอย่างกับม้าเทวดา ไต่ขึ้นเขาแทบไม่ต้องไขว่คว้าหาที่จับหรือยึดเหนี่ยวเหมือนเรา แค่ใช้เท้าจิกพื้นให้มั่น แถมเดินกันตัวปลิวด้วยก้าวย่างที่สม่ำเสมอ เกิดเป็นความนับถือผสมสงสัยว่าเขาเดินในที่แบบนี้พร้อมทำแนวกันไฟไปได้ยังไง
“พวกผมมาทำแนวกันไฟก็มานอนค้างกันในป่าครับพี่ เดินขึ้นเดินลงไม่ไหว” เทพบอก
.
เรียนรู้ที่จะเดินมากกว่า 2 ขา
เราเคยเดินป่ามาหลายที่ และไม่ชอบใช้ไม้เท้า แต่มาที่นี่ 3 หนุ่มคงเป็นห่วงเราเป็นพิเศษ เพราะตอนนี้การเดินคือการไต่ขึ้นเขาอย่างเดียว มือเริ่มต้องปีนเท้าเริ่มต้องป่ายแข่งกับความชันของภูเขา 3 หนุ่มเริ่มส่งภาษาปากะญอหากัน จับใจความได้ว่าจะทำไม้เท้าให้เรา เรารีบตะโกนบอกไม่ต้องเราไม่ชอบใช้ เพราะส่วนตัวคิดว่าที่ที่มันชันมาก ๆ ไม้เท้านี่ก็คือภาระ แต่ 3 คนไม่ยอมยื่นไม้เท้ามาให้ เราตอบ “ใช้ก็ได้” พลางขอบคุณ
ทางไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ในใจเราก็คิด โคตรนับถือจิตใจของพวกเขาเลยทางชันขนาดนี้ก็ยังต้องมาทำแนวกันไฟ พวกเขาบอกว่า “กันไว้ดีกว่า ถ้าไฟมาโดยยังไม่ได้ทำอะไรมันดับไม่ทันจริง ๆ เขาเสียดายป่า อยู่กับป่าก็ต้องรักษาป่า”
ขาที่ 3 คือไม้เท้า เทพบอกให้คอยปักไม้เท้าลงดินเพื่อยึดตัว ตรงไหนที่ชันมาก ๆ เทพจะจับปลายไม้เท้าข้างหนึ่งและอีกข้างหนึ่งให้เราจับเพื่อคอยเหนี่ยวตัวเราขึ้นด้านบน
ตอนนี้เทพเอากระเป๋าเราไปสะพายไว้ที่ตัวแล้ว 3 หนุ่มเห็นตรงกันว่าให้เราเดินตัวเปล่าน่าจะดีกว่า สัมภาระเราเดี๋ยวพวกเขาแบกให้เอง
เราเดินเลาะไปตามแนวกันไฟซึ่งถูกเคลียร์พื้นที่เกือบหมดแล้ว แทบไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ บางจุดก็มีใบไม้ร่วงลงมาเต็มไปหมดนั่นยิ่งทำให้การเดินยิ่งลื่นและพาให้ล้มได้ง่ายมาก แจ็กกี้เดินนำไปไกลแต่ไม่มาก เขาเดินหายไปตรงพุ่มไม้เขียว ๆ ที่อยู่ตรงหน้าแล้วกลับมาพร้อมใบเหรียงหนึ่งกำมือ “ของกำนัลของคนรักษาป่า” แจ็กกี้เก็บมาแค่พอกิน 1 มื้อ
.
.
“เราน่าจะถึงข้างบนตอน 11.30 น.” แจ็กกี้บอก พี่เปเล่คาดว่าอีกทีมคงถึงที่หมายเรียบร้อยแล้ว
พวกเราไต่ยอดเขาขึ้นไปเรื่อย ๆ สักพักมีเสียงเรียกจากวิดีโอคอลเข้ามาที่โทรศัพท์เรา ทุกคนหัวเราะ เพราะในหมู่บ้านพุระกำไม่มีสัญญาณโทรศัพท์แต่ขึ้นมาบนยอดเขานี่ สัญญาณดี 4G มาเต็ม ต้นสายก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เขาคือ เผือก ชาวบ้านที่เดินสำรวจอีกเส้นทางร่วมกับทีมพี่ปุ้ยนั่นเอง
“ถึงไหนแล้วพี่” เผือกถามขณะที่ทีมเขานั้นเกือบถึงปลายทางแล้ว “พวกผมอยู่ตรงข้ามหน่วยฯ แล้วพี่ล่ะ”
“พี่ยังไม่ถึงครึ่งทางเลย แต่ก็เกือบถึงยอดเขาแล้ว” เราตอบ คุยกันอีกนิดหน่อยแล้วพวกเราก็เดินกันต่อเพราะยอดเขาอยู่ไม่ไกลแล้ว
เมื่อถึงยอดเราดูนาฬิกา โอ้ว! เวลาดีถึงก่อนที่แจ็กกี้คาดไว้ เราถึงยอดเขาตอน 10.30 น. แจ็กกี้บอกว่าจุดนี้ก็เป็นอีกจุดที่เขามานอนกัน มีแกลลอนน้ำขนาด 30 ลิตร วางอยู่ใกล้ ๆ สองแกลลอนใหญ่
2 หนุ่มบอกว่าแบกแกลลอนน้ำนี้มาจากตีนเขาเอาน้ำมาจากห้วยยางข้างล่าง เขาต้องแบกน้ำขึ้นมาให้เต็มแกลลอน เพราะน้ำสำคัญมากหากจะต้องขึ้นมาทำแนวกันไฟบนยอดเขาที่ไม่มีแหล่งน้ำใกล้ ๆ แบบนี้ เราคิดในใจแค่เดินตัวเปล่าก็พยุงตัวยากจะแย่แล้ว พวกเขายังต้องแบกแกลลอนน้ำใหญ่ ๆ แบบนี้ขึ้นมาอีก ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เราก็เลยถามว่าทำไมถึงอยากมาทำงานนี้
“บ้านเราเราก็ต้องดูแลพี่ ถ้าไฟไหม้เราเสียดายป่า” เทพตอบ
พวกเราพักบนยอดเขากันแป๊บนึง ถ่ายรูป จับพิกัด เราหยิบขนมปังออกมาแบ่งกันกิน แล้วก็ไปกันต่อ
เอาล่ะ เมื่อขึ้นยอดสุด ตอนนี้ก็ได้เวลาลงแล้ว เรามองทางข้างหน้า บอก 3 หนุ่มว่า “คงไม่ได้เดินลงแล้วแหละ ได้ไถลลงอย่างเดียวแน่นอน” และก็เป็นจริงดังนั้น เราไถลลงมากกว่าเดิน กางเกงก็คอยเกี่ยวกิ่งไม้ไปเรื่อย เราคิดในใจว่าถึงข้างล่างกางเกงคงมีแต่รอยขาดเต็มไปหมดแน่ บางช่วงต้องลงแบบหันหน้าเคารพยอดเขาทำความเคารพความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ บางช่วงเทพจะบอกให้เราจับรากไม้แล้วค่อย ๆ โหนตัวลงมา
พี่เปเล่ตะโกนบอกว่าอีก 100 เมตร ก็ถึงตีนเขาแล้ว เราเดินลงไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ และเรื่อย ๆ
“นี่มันเกิน 100 เมตรมาหลายร้อยเมตรแล้วนะ” เราบอก
สักพัก 3 หนุ่มก็พากันหัวเราะ แล้วเทพก็บอกว่าอีก 100 เมตร ถึงพี่ และแน่นอนเราก็เดินลงเขาไปอีกหลายร้อยเมตรก็ยังไม่ถึงตีนเขาสักที ประโยคแซวอีก 100 เมตรก็ถึง ลอยมาจาก 3 หนุ่มเป็นพัก ๆ พร้อมกับเสียงหัวเราะร่วนช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดี
.
.
ถึงตีนเขาที่ก็ยังไม่ราบแต่ก็ลดระดับความชันลงมาเยอะกลับเป็นทางที่เราลื่นล้มบ่อยมาก ทางชันอันตรายนี่แทบไม่ล้มเลย แต่พอทางราบหน่อยนี่จับกบเป็นว่าเล่น ตอนนี้แจ็กกี้เดินปิดท้าย เห็นเราสะดุดล้มเรื่อย แจ็กกี้ถาม “กดดันเหรอพี่” เราบอก “ใช่” ไปเดินนำหน้าเถอะแจ็กกี้ แจ็กกี้ก็เลยเดินสลับขึ้นนำหน้า ปลายทางของแนวกันไฟเส้นที่เราเดินคือห้วยพิษณุ และในที่สุดตอนนี้เราก็มาถึงต้นห้วยพิษณุสักที แต่ระยะทางก็ยังเหลืออีกเกือบ 5 กิโลเมตรกว่าจะถึงหมู่บ้าน พี่เปเล่พาเดินมุ่งหน้าเข้าหมู่บ้านมาเรื่อย ๆ แล้วชี้ให้ดูปลายทาง
“ถึงแล้วบัวตรงนี้สุดแนวกันไฟฝั่งตะวันตกที่น้อง ๆ ช่วยกันทำแล้ว”
แต่น้อง ๆ ก็ต้องขึ้นเขามาดูแนวกันไฟที่ทำไว้เรื่อย ๆ เพราะช่วงนี้ใบไม้ ใบไผ่ ร่วงลงมาตลอด ถ้าชะล่าใจ ไฟมาจะลามจากเศษใบไม้พวกนี้ได้ง่าย ๆ เลย
พวกเราถึงหมู่บ้านตอนบ่ายโมงตรง เทพกับแจ็กกี้บอกว่าถึงจะไม่มีงบมาจ้างพวกเขา แต่ทุกปีเขาก็ยังต้องมาทำแนวกันไฟอยู่ดี “ทำกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ ป่าจะได้ไม่ต้องเสียด้วย” แจ็กกี้พูดปิดท้ายหลังภารกิจเดินสำรวจแนวกันไฟลุล่วงยังที่หมาย
เราได้แต่ขอบคุณ ที่คอยดูแลรักษาผืนป่าไว้ให้คนทั้งชาติ เส้นทางที่ไปไม่ได้ง่ายเลย แต่พวกเขาก็ยังทำด้วยความเต็มใจและทำด้วยความรักป่าซึ่งเป็นบ้านของเขาด้วยใจจริง