“หากคุณได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนหมู่บ้านพุระกำ ดินแดนปากะญอที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี สิ่งที่จะบอกว่าคุณใกล้ถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใจกลางป่าแห่งนี้แล้ว คือป้ายคัดค้านเขื่อนบ้านหนองตาดั้งร่วมสิบป้าย”
.
.
เราได้รับการติดต่อให้หาผู้เชี่ยวชาญด้านปลามาสำรวจความหลากหลายของชนิดปลาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลนำไปสู่การค้านเขื่อนในป่าอนุรักษ์ เมื่อกันยายน 2563 เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จึงมีความหวังว่าน่าจะมีปลาเด็ดๆ ที่อาจเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในแถบนี้อยู่
บริเวณที่จะต้องดำเนินการสำรวจคือบริเวณบ้านพุระกำ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
หัวของเราเริ่มโยกคลอนไปตามแรงกระแทกของรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่เกิดจากหลุมบ่อของถนนลูกรัง ช่วงทางยิ่งใกล้ถึงหมู่บ้านพุระกำความสั่นคลอนของหัวยิ่งรุนแรงมากขึ้น ม่านตากระทบกับสีเขียวของป่าเป็นระยะๆ
.
.
โครงการเขื่อนบ้านหนองตาดั้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ถูกเสนอโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่หัวงานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี พื้นที่ที่น้ำจะเข้าท่วมป่ารวมกว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้พื้นที่อ่างเก็บน้ำบางส่วน ยังมีราษฎรชาวไทยภูเขาเชื้อสายกระเหรี่ยงกลุ่มบ้านพุระกำ อยู่อาศัยและทำกินกว่า 400 ไร่ ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนหนองตาดั้ง นอกจากที่น้ำจะท่วมพื้นที่ป่าแล้ว ประชาชนที่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนี้มาช้านาน ย่อมต้องถูกอพยพโยกย้ายเพื่อทำการสร้างเขื่อนแห่งนี้อีกด้วย
.
หาข้อมูลเพื่อพบความจริง
ไม่ว่าจะต่อสู้คัดค้านกับโครงการใดก็ตามที่อาจส่งผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า หรือแม้แต่ความเป็นอยู่ของชุมชน สิ่งที่พวกเรามักจะทำเป็นอย่างแรกๆ คือการกาง EIA หรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนั้นๆ อ่านข้อมูลจากรายงานฯ ในเบื้องต้นแล้วมุ่งหน้าเข้ามาดูของจริงในพื้นที่ว่าเป็นไปตามตัวอักษรที่พรรณนาอยู่ในเล่มหรือไม่
เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ที่ไม่เห็นด้วยต่อการสร้างเขื่อนในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแห่งนี้ หลายองค์กรได้ร่วมกันเข้าไปช่วยศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ว่ามีสัตว์ป่าอะไรที่พอจะเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ได้บ้าง ทั้งการติดตั้งคาเมร่าแทรปเพิ่มเติมและการสำรวจชนิดพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และนกอย่างเข้มข้น ทั้งแนวพื้นที่น้ำท่วมหากมีเขื่อนตรงนั้นจริงและเกินแนวน้ำท่วมขึ้นไปอีก 5 กิโลเมตร แม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้จะมีชุมชนอยู่ก็ตาม แต่การทำงานและร่วมพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่องก็พบว่า คนในหมู่บ้านนี้แทบจะไม่ล่าสัตว์มาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว พวกเขามุ่งหน้าทำผัก บรรจุผัก และขนส่งผักเพื่อส่งตลาดใหญ่ที่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน เขาพูดคุยถึงรายได้ และความภูมิใจที่ได้รับจากการขายผักส่งผัก รวมๆ แล้วตลอดทั้งปีรายได้มากกว่าเงินเดือนของเราด้วยซ้ำไป (ช่วงโควิดที่ผ่านมาผักขายยากมากขึ้น ตลาดปิด)
ยิ่งเมื่อเปรียบกับเงินที่จะได้ค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดินหากมีการสร้างเขื่อนจากภาครัฐแล้ว ชาวบ้านพูดว่าเงินที่เขาขายผักได้ใน 1 ปีมากกว่าค่าชดเชยที่รัฐจะให้หากจะต้องสูญเสียบ้านและที่ดินเสียด้วยซ้ำ
คำพูดของพวกเขาไม่ได้เกินจริงเลยแม้แต่น้อยในเรื่องที่พวกเขาใช้พื้นที่ร่วมกันกับสัตว์ป่าได้อย่างเอื้ออาทร เพราะผลหลังจากการติดตั้งคาเมร่าแทรปพบภาพสัตว์ป่าที่ใช้พื้นที่หากินอยู่ใกล้หมู่บ้านมาก แค่ข้ามฝั่งน้ำที่ติดกับหมู่บ้านเราก็ได้ภาพสัตว์ป่าที่เข้ามาหากินในพื้นที่แล้ว
.
.
เจาะจงมาที่การสำรวจปลา ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนบ้านหนองตาดั้ง ผลการสำรวจ EIA ของกรมชลประทาน พบปลา 34 ชนิด จากการสำรวจสามครั้งในหนึ่งปี และสำรวจในพื้นที่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีลงมาจนถึงพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง
ชนิดปลาที่ถูกระบุอยู่ในรายงาน EIA พบชนิดที่ใกล้เคียงกับที่ดร.ชวลิต วิทยานนท์ และดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เข้าไปร่วมในการสำรวจครั้งนี้ แต่ไม่พบปลามูดสุรินทร์บินนานและค้อแถบหัวหิน และในภาพรวมเป็นการรายงานผลเพียงกว้างๆ ว่า เจอชนิดอะไรบ้าง และสรุปว่า “พื้นที่นี้มีความหลากหลายของชนิดปลาระดับดีถึงปานกลาง และมีจำนวนผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ” เท่านั้น
ส่วนทีมสำรวจปลาและปูของเราที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จุดที่จะสร้างเขื่อนหนองตาดั้ง 3 วัน พบปลารวม 29 ชนิด ปู 2 ชนิด และกุ้ง 1 ชนิด
มีปลาที่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำ ดังนี้
11 ชนิด บ่งชี้ว่าคุณภาพน้ำดีมาก และเป็นชนิดเฉพาะถิ่น (Endemic species) ด้วย เช่น ปลาดักแม่กลอง ปลาแขยงเขาแม่กลอง ปลาเลียหินสุรินทร์บินนาน 3 ชนิดนี้ เป็นเฉพาะถิ่นของแม่กลอง ปูตะนาวศรี Thaipusa tennasserimensis และ ปูสวนผึ้ง Demanietta suanphung ซึ่งเป็นปูเฉพาะถิ่นของราชบุรี พวกนี้ถ้าน้ำคุณภาพแย่จะได้รับผลกระทบและหายไปก่อนเพื่อนเลย และชนิดที่มีโอกาสเป็นชนิดเฉพาะถิ่น แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน คือปลาค้ออีก 4 ชนิด ในกลุ่มนี้ มีปลาที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว แต่อาจพบใหม่ที่นี่ด้วย (Rediscovery species) คือค้อแถบหัวหิน (Schistura myrmekia) ที่พบครั้งแรกจากห้วยแก่งสก ในอำเภอหัวหิน เมื่อ พ.ศ. 2473 และเมื่อ Singe & Page ผู้บรรยายปลาชนิดนี้ กลับไปแหล่งเดิมเพื่อหาตัวอย่างเพิ่มใน พ.ศ. 2554 ก็พบว่าถิ่นอาศัยของมันสูญหายกลายเป็นสนามกอล์ฟและพื้นที่เกษตรไปแล้ว
.
.
8 ชนิด บ่งชี้คุณภาพน้ำดี อีก 10 ชนิด เป็นกลุ่มปลาที่พบทั่วๆไปในแหล่งน้ำคุณภาพปานกลางที่พบจากการสำรวจ เช่น ปลากระทุงเหว, สลาด, พลวง, ไส้ตันตาแดง, ซิวใบไผ่, กระสูบขีด, ตะเพียนน้ำตก, อีด, กั้ง, หมอช้างเหยียบ และปักเป้า
จากผลการสำรวจ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ สรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “เวลาในการสำรวจปลาครั้งนี้ค่อนข้างสั้น และไปสำรวจในช่วงเวลาเดียว จึงสำรวจได้ไม่ครอบคลุมทั้งพื้นที่โครงการและทุกฤดูกาล ทำให้ได้ชนิดและจำนวนปลาน้อยกว่าที่มีอยู่จริง แต่สรุปได้ว่าบริเวณนี้มีคุณภาพของลำธารและระบบนิเวศที่ดี ไม่เหมาะกับการสร้างเขื่อน”
ปัจจุบันโครงการเขื่อนหนองตาดั้งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ