Natural dyes ย้อมด้ายไหม

Natural dyes ย้อมด้ายไหม

กว่าสองร้อยปีที่ผ่านมาชาวปาเกอะญอสืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิมในการทอผ้าแบบฉบับแฮนเมคด้วยกรรมวิธีที่เรียกว่าการกี่เอว แต่นอกจากการทอผ้าแล้ว และยังมีกลุ่มที่นิยมการปลูกต้นฝ้ายเพื่อนำด้ายมาย้อมสี และถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้เองกันภายในครัวเรือน

วันนี้เราชวนมาติดตามการย้อมสีด้ายฝ้ายด้วยวัสดุจากธรรมชาติฝีมือสาวชาวปาเกอะญอนาม มึหน่อวา หรือ คุณพัชราภรณ์ ต๊ะกู เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

การย้อมสีธรรมชาติด้วยวัสดุธรรมชาติ สามารถใช้ได้ทั้งขมิ้นให้สีเหลือง ต้นครามให้สีน้ำเงิน เปลือกมังคุดให้สีน้ำตาล เปลือกไม้ขุนให้สีเหลือง ผลมะเกลือให้สีดำ ดอกอัญชัญให้สีฟ้า แต่ครั้งนี้เราจะมาใช้เปลือกมะม่วง และเปลือกประดู่ จะให้สีอะไรนั้นมาดูกันค่ะ

เตรียมด้ายฝ้าย

ช่วงเวลาแห่งการซักล้างทำความสะอาดด้ายเราไม่ได้ทะนุถนอมด้ายเหล่านี้มากนัก หน่อวาถกขากางเกงนั่งยองๆ ข้างตุ่มน้ำ ตักน้ำใส่กะละมังและใส่ด้ายทั้ง 4 หัว (หัวละ 2 ใจ) ลงไป แล้วลงมือจัดการขยำขยี้อย่างเมามัน

ระหว่างที่เธอบิดด้ายให้หมาดจากน้ำที่สองอย่างขมักเเขม่น พร้อมอธิบายว่า “ด้ายมีไขมันติดอยู่หากนำไปย้อมสีเลยสีมันไม่ค่อยติด การทำความสะอาดล้างไขมันออกช่วยให้สีติดเส้นด้ายดียิ่งขึ้น”

หลังทำความสะอาดด้ายเสร็จเราพักด้ายเพื่อหันไปเตรียมต้มน้ำสำหรับย้อมสีต่อไป

 

ตั้งเตา

การตั้งเตาอั้งโล่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนเมืองอย่างฉัน ขณะที่หน่อวาต้มน้ำพร้อมหย่อนเปลือกไม้ทั้งมะม่วงและประดู่ลงไปคนละหม้อ หม้อละประมาณ 1-2 กิโลกรัม ฟืนในเตาเริ่มพร่อง

แต่ไม้ฟืนที่กองเรียงกันอยู่กลับมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะใส่เข้าไปเพื่อเติมเชื้อไฟ ยังมิทันรู้ความ…

หน่อวาจัดแจงท่าทางทะมัดทะแมงดุจสาวแกร่งง้างด้ามขวานจนสุดแล้วจามใส่ฟืนจนท่อนไม้กระเด็นแยกออกเป็นสองส่วน เธอหยิบฟืนที่ผ่าแล้วเสือกใส่เตา ไฟลามเลียไม้อย่างเอร็ดอร่อยในขณะที่ฉันเดินทิ้งห่างหน่อวาสามช่วงตัว

 

ส่วนผสม

“ยางของต้นกล้วยจะช่วยล็อคสีให้ติดได้ดียิ่งขึ้น จะใช้ก้าน ใบ เปลือก หรือลำต้นก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะแห้ง” หน่อวากล่าวถึงคุณประโยชน์ของขี้เถ้าระหว่างเทน้ำขี้เถ้าที่ได้จากการเผาจากใบต้นกล้วยจากสวนบ้าน ที่พากันไปเก็บช่วงบ่ายแก่ๆ ของวัน

ต้มน้ำที่มีทั้งเปลือกไม้และขี้เถ้าจนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ควันที่ลอยอบอวนในอากาศอาจทำให้แสบตาไปบ้าง แต่สีที่ได้จากเปลือกไม้ซึ่งหลอมรวมกับน้ำที่กำลังเดือดระอุสวยกำลังดี

 

กรอง

เวลาย้อมสีเราจะใช้เพียงของเหลวที่หลอมรวมอยู่ในน้ำซึ่งได้จากการต้มเปลือกไม้และขี้เถ้าเท่านั้น การนำตาข่ายมากรองเศษเปลือกไม้เปลือกขี้เถ้าออกจึงต้องทำก่อนการย้อมสี

หลังการต้มเปลือกไม้ผ่านไป 1 ชั่วโมงแล้วให้วางตาข่ายบนปากถังน้ำแล้วยกหม้อขึ้นจากเตาพร้อมเทใส่ผ้ากรอง จากนั้นนำน้ำที่ผ่านการกรองเสร็จแล้วขึ้นตั้งบนเตาเผาอีกครั้ง

สำหรับเปลือกไม้ที่ใช้ต้มเพื่อย้อมสีนี้สามารถใช้ได้ครั้งเดียวสำหรับการย้อมสีด้าย แต่ภายหลังการย้อมสีเสร็จเรียบร้อยแล้วหน่อวาได้รวบรวมเปลือกไม้เหล่านี้ไปทำเป็นปุ๋ยหรือคลุมดินโคนต้นไม้ต่อไป

 

จุ่มด้าย

ควันโขมงแตะแต้มอากาศถูกแหวกด้วยด้ายฝ้ายหนึ่งหัว ที่กำลังเคลื่อนขยับจุ่มลงแอ่งน้ำที่นอนระอุในหม้อก้นดำ สีเหลืองของเปลือกมะม่วงค่อยๆ ซึมซับแปรเปลี่ยนสีเส้นด้าย จากครีมเป็นเหลือง และอีกหม้อจากครีมเป็นม่วงอมแดง

ด้วยความไร้ประสบการณ์ผู้หย่อนด้ายจึงค่อยๆ อ้อยอิ่งด้ายในมืออย่างเชื้องช้า และเงะงะจนถูกหน่อวาดุ ก่อนใช้ไม้กดด้ายจมมิดแล้วปล่อยให้เวลาทำหน้าที่ของมัน สีย้อมธรรมชาติค่อยๆ ซึมซับเข้าสู่เส้นด้ายทีละเส้น หลอมรวมเข้าด้วยกัน

 

ตัวช่วย

หลังแช่ด้ายไว้ในหม้อต้มน้ำย้อมสี 30 นาที ให้ยกด้ายแต่ละหัวขึ้นแล้วพึ่งให้เย็น แล้วพาเหล่าด้ายมาแนบชิดสนิทสนมกับตัวช่วยกัน ตัวช่วยในขั้นตอนนี้สามารถใช้ได้ทั้งปูนแดงและขาว , สารส้ม หรือน้ำสนิม

ตัวช่วยในที่นี้คือ ปูนแดง ให้เตรียมปูนแดงหรือปูนขาวมาละลายกับน้ำในกะละมัง แล้วน้ำด้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติมาขยี้กับน้ำปูนแดง 20 นาที

“เราใช้น้ำปูนแดงชนิดเดียวกันกับที่ไว้กินกับหมากมาละลายน้ำ แล้วขยี้ด้ายในน้ำปูน ตัวน้ำปูนจะช่วยเพิ่มให้สีด้ายเข้มยิ่งขึ้น แต่จะใช้น้ำสนิมก็ให้สีเข้มเหมือนกัน หรือจะใช้สารส้มที่ช่วยเพิ่มความสดให้สีย้อมด้ายก็ได้” แล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ย้อม แต่เหตุที่หน่อวาเลือกปูนแดงเนื่องจากสามารถหาใช้ได้ง่ายนั่นเอง

 

ล้างด้าย

นำด้ายที่ผ่านขั้นตอนต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาด สำหรับด้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาตินี้ให้ล้างน้ำครั้งหลายน้ำ จนน้ำที่ใช้เริ่มใสจึงบิดให้หมาดแล้วนำด้ายขึ้นตากลม

“ห้ามตากแดดเป็นอันขาด เพราะแดดจะทำให้ด้ายที่เพิ่งย้อมถูกแดดเลียจนซีด” หน่อวาย้ำอีกครั้ง โดยสีที่ได้จากการย้อมมีความผันแปรไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับน้ำที่ใช้ต้ม การล้างไขมันออกจากด้าย วิธีการล็อคสีที่จะช่วยให้สีติดได้ดี

 

สีที่ได้จากเปลือกมะม่วงจะออกโทนน้ำตาลเหลือง ส่วนสีที่ได้จากเปลือกประดู่จะสีม่วงอมแดงคล้ายสีกระปิ

แม้ผ้าทอที่ได้ด้ายจากการย้อมจากสีธรรมชาติเมื่อนำไปทำความสะอาดสีตกบ้างในระยะแรก เสียเปรียบการย้อมด้วยสีเคมีที่ติดทนจนตลาดนิยมผ้าทอที่ทอขึ้นจากด้ายสีเคมีเยอะขึ้น รวมถึงผู้บริโภคบางกลุ่มที่นิยมสีสันสดใส

“แล้วทำไมเรายังย้อมด้ายด้วยสีธรรมชาติอยู่?” ผู้เขียนยิงคำถามใส่หน่อวาเมื่อเราตระหนักดีว่าการย้อมสีธรรมชาติมีข้อด้อยอย่างไร

“ยังมีลูกค้าที่ชื่นชอบผ้าที่ทอจากสีธรรมชาติอยู่มาก” หน่อวายิ้มแย้มจนแก้มบุ๋มชัดเจน พร้อมให้ข้อมูลอย่างเอื้อเฟื้อ “การย้อมสีธรรมชาติเป็นวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่หาดูได้ยาก แต่ก็ไม่อยากให้เราหลงลืมไป” เราในที่นี้หน่อวาหมายถึงชาวปาเกอะญอ

วัสดุที่นำมาใช้เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ทั่วไปในชุมชน ไม่ว่าเป็นหัวไร่ปลายนา แปลงผักหลังบ้าน กระทั่งไร่หมุนเวียน เมื่อเปลือกไม้ถูกกลั่นกรองแล้วเสร็จ หน่อวาก็จัดแจงพาเปลือกไม้เหล่านี้หวนกลับไปคืนประโยชน์แก่ต้นหมากรากไม้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการวางปกคลุมดินหรือนำมาทำปุ๋ยรอการย่อยสลายในวัฏจักรธรรมชาติอีกครั้ง

สำหรับหน่อวา “สิ่งที่ได้จากการย้อมสีธรรมชาตินั้นทำให้เรารู้สึกเป็นมิตรกับผิวพรรณและสิ่งแวดล้อม”

แต่สำหรับผู้เขียนนั้นได้ความสนุกและรู้สึกถึงความอิสระจากผลลัพธ์ที่ได้จากการย้อมสีธรรมชาติ ผลผลิตที่ได้นั้นแปรผันไปตามความหลากหลายของชนิดไม้ ระยะเวลา คุณลักษณะของน้ำ และสารกระตุ้นที่เราเลือกใช้ การได้สวมใส่ผ้าทอย้อมสีธรรมชาตินอกจากจะโปร่งสบายแล้วยังรู้สึกราวกับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยอิสรภาพโอบล้อมรอบตัวเรา อีกทั้งการนำด้ายเหล่านี้มาทอผ้าด้วยกรรมวิธีกี่เอวยิ่งทำให้ผ้าทอผืนนั้นเป็นของแฮนเมคที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

 


 

เรื่อง/ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร