ป่าแม่วงก์ ปราการไพรและเส้นทางเดินสำคัญของสัตว์ป่า

ป่าแม่วงก์ ปราการไพรและเส้นทางเดินสำคัญของสัตว์ป่า

ป่าแม่วงก์ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นป่าอนุรักษ์ที่มีเนื้อที่ประมาณ 890 ตารางกิโลเมตร หรือ 558,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่สองจังหวัด ทั้งจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ ในฝั่งของจังหวัดนครสวรรค์นั้นมีความสำคัญในแง่ของการมีพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ราบริมน้ำ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแบบธารน้ำไหล

ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย และการมีลำน้ำแม่เรวาไหลผ่าน ทำให้ระบบนิเวศมีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งด้านพืชและสัตว์ จึงเป็นแหล่งอาหารให้กับบรรดาสัตว์กินพืช (ผู้ถูกล่า) เข้ามาหากินเป็นจำนวนมาก เช่น หมูป่า เก้ง กวาง

ขณะเดียวกันสัตว์กินพืชเหล่านี้ยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่ดึงดูดผู้ล่าที่สำคัญเข้ามาหากินได้แก่ เสือโคร่ง จากข้อมูลการลาดตะเวนเชิงคุณภาพ และการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ พบเสือโคร่งเข้ามาหากินในบริเวณที่ราบริมน้ำแห่งนี้ จึงนับว่า ป่าแม่วงก์เป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า และคงเหลือไม่กี่แห่งที่ยังสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน และสืบต่อสายพันธุ์ รวมถึงการเป็นแหล่งรักษาพันธุกรรมของสัตว์ป่า

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าบริเวณนี้ ส่งผลให้ในอดีตก่อนที่ป่าแม่วงก์จะกลายเป็นป่าอนุรักษ์ ก็เคยเป็นพื้นที่ป่าสัมปทานที่มีการตัดต้นไม้ มีการล่าสัตว์ และเต็มไปด้วยอิทธิพลต่าง ๆ

ต่อมาในปี 2528 แม่วงก์ได้ถูกกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศ ซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ถือเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าตะวันตก ผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีอาณาเขตเชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ป่าแม่วงก์จึงเปรียบเสมือนเกาะป้องกันพื้นที่มรดกโลก และเป็นเส้นทางที่สัตว์ป่าใช้เดินทางติดต่อกันได้

การพลิกฟื้นให้ป่าแม่วงก์กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ต้องแลกมาซึ่งการทุ่มเททั้งงบประมาณและสรรพกำลัง ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐ เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ และภาคประชาชน นำมาสู่กระบวนการดูแลและการเฝ้าระวังภัยคุกคามในลักษณะต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อรักษาเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในป่าแม่วงก์

นำมาซึ่งความหวังของการอนุรักษ์ในอนาคต โดยการร่วมผลักดันป่าแม่วงก์ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติอีกแห่งของประเทศไทย เพื่อยกระดับการดูแลความหลายทางชีวภาพของป่าแห่งนี้ให้สมบูรณ์และยั่งยืนตลอดไป

 


ที่มาข้อมูล : หนังสือแม่วงก์คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง , เขื่อนแม่วงก์ทำลายป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างไร?

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ