อนุสรณ์แด่ผู้พิทักษ์ป่า – หลักอนุสรณ์ทั้ง 4 นี้ เป็นอนุสรณ์เจ้าหน้าที่ซึ่งเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อแลกกับความอุดมสมบูรณ์ของห้วยขาแข้ง ก่อนที่คุณจะจะเดินเข้าไปศึกษาธรรมชาติ เราอยากให้คุณยืนสงบนิ่งเพื่อคารวะแก่ดวงวิญญาณขอผู้รักษาป่าด้วยชีวิต
…
ที่ทางเดินก่อนนำเราไปสู่ ‘เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง’ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เราจะพบหลักไม้ทาสีดำสนิทตั้งเด่นอยู่ 4 ตอ ที่ด้านหน้าของแต่ละตอมีชื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตจากการทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าห้วยขาแข้งสลักเอาไว้
เราเรียกหลักไม้สีดำนั้นว่า ‘อนุสรณ์แด่ผู้พิทักษ์ป่า’
ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อยู่ในเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ที่ถูกสลักชื่อไว้บน ‘อนุสรณ์แด่ผู้พิทักษ์ป่า’ ทั้งสี่นี้ ล้วนแต่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ บ้างถูกทำร้ายขณะปฏิบัติงานอยู่บริเวณป้อมยาม คอยป้องปรามไม่ให้คนเข้ามาล่าสัตว์ตัดไม้ บ้างก็ถูกทำร้ายขณะลาดตระเวนจับกุมผู้กระทำผิด ผู้ประสงค์ร้ายบางรายถึงขั้นใช้อาวุธสงครามโดยหมายเอาชีวิตกันอย่างไร้ความปราณี
เพื่อเป็นการระลึกถึง และคารวะแก่ดวงวิญญาณผู้จากไป ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงได้สร้างหลักทั้งสีต้นขึ้น เพื่อให้ผู้มาเยือนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ได้ระลึกถึง ผู้ที่เคยรักษาผืนป่านี้ไว้ด้วยชีวิต
ขณะเดียวกัน ก็เปรียบเสมือนภาพสะท้อนการลักลอบล่าสัตว์ทำไม้ อย่างเหิมเกริมในกาลเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนความเสี่ยงของคนทำงานลาดตระเวนกลางป่าไพร
ผืนป่าห้วยขาแข้งในอดีตนั้น เป็นป่าใหญ่ของประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง แต่ความอุดมสมบูรณ์ที่ว่านั้น กลับเป็นสิ่งเย้ายวนให้ผู้ประสงค์ร้ายหมายตาอยู่เสมอๆ
ในรายงานสำรวจผืนป่าห้วยแข้ง (พ.ศ. 2508) ก่อนจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขียนโดย คุณอุดม ธนัญชยานนท์ ระบุเอาไว้ว่า “…สัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนและปริมาณมาก มีสัตว์ที่พบเห็นได้ยาก เช่น แรด จากการสอบถามได้ความว่ายังอาจมีอยู่ ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง ควายป่า กระจง สมเสร็จ หมี ชะนี ลิง ค่าง เสือ หมูป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกยูง นกเงือก ฯลฯ…”
แต่ในอีกด้านก็พบการล่าสัตว์เป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยรายงานฉบับเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาการล่าสัตว์ โดยแบ่งนายพรานออกเป็นสามกลุ่ม คือ (1) กลุ่มล่าสัตว์เป็นอาชีพ ที่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดใกล้เคียง ใช้รถยนต์หรือช้างเป็นพาหนะ ทำให้สามารถล่าเป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ นิยมล่าในฤดูแล้ง (2) กลุ่มเป็นพรานสมัครเล่น เป็นพ่อค้า คหบดี ใช้อาวุธคุณภาพสูง ยิงสัตว์ป่าเพื่ออวดฝีมือ และ (3) กลุ่มชาวบ้านล่าสัตว์เป็นอาหารเพื่อดำรงชีพ
หรือในยุคสมัย สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นระยะเวลา 8 เดือน ก็พบการทำไม้ล่าสัตว์ไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งหัวหน้าเขตและเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนักในการทำงานปกป้องสัตว์ป่า โดยปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่ขอบป่าเป็นรากฐานสำคัญของการเข้าไปล่าสัตว์ ตัดไม้
ขณะที่ร้านอาหารสัตว์ป่ารอบห้วยขาแข้งมีออร์เดอร์อาหารสัตว์ป่าเพื่อจำหน่ายบริการลูกค้าทั้งปี มินับรวมการค้าเขากระทิง ควายป่า และซากสัตว์อื่นๆ ปัญหาอิทธิพลและการคอรัปชั่นภายในสังกัด และอิทธิพลจากนายทุนร่วมกับข้าราชการในพื้นที่ ทำให้ปัญหาที่ต้องแก้ไขมีความซับซ้อนยากยิ่งขึ้น
เหตุการณ์ต่างๆ นานา สร้างความกดดันให้กับสืบเป็นอย่างมาก ทั้งต้องปกป้องป่าและสัตว์ป่า และยังต้องคอยเป็นห่วงเป็นใยสวัสดิภาพลูกน้องที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ สืบถึงกับเคยตัดพ้อออกไปว่า
“ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย จับมันได้ครั้งหนึ่ง มันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับ ถูกปรับแค่ 500 บาท คุกก็ไม่ติด กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดทนนอนแบกข้าวสารไปกินในป่า อย่างเมษายนปีที่แล้วลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตายสองคน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้วเราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”
เรื่องราวการล่าสัตว์ในผืนป่าห้วยขาแข้งเวลานั้นสอดคล้องกับคำบอกเล่าของ บุหลัน รันตี นักเขียนเรื่องราวชีวิตไพร การท่องป่า ได้บันทึกฉากหนึ่งของป่าห้วยขาแข้งเวลานั้นลงในหนังสือ ‘เที่ยวไปในป่าลึก’ บทหนึ่งชื่อ ‘นักล่าห้วยขาแข้ง’ บรรยายเอาไว้ว่า “การเห็นซากกวางถูกชำแหละทิ้งไว้เช่นนี้มิได้เป็นของแปลกสำหรับเราอีกต่อไป เพราะมีให้เห็นตลอดเส้นทาง แต่ละซากมีสภาพคล้ายๆ กัน ถ้าซากไหนไม่มีหัวตัดทิ้งไว้ แสดงว่ากวางตัวนั้นเป็นตัวผู้ เขาสวยของมันสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้เช่นกัน ตลอดการเดินทางเราพบซากกวางถูกฆ่าตายเกือบสามสิบซาก ผมได้ถ่ายเป็นภาพสไลด์เอาไว้ ถ่ายจนฟิล์มเกือบจะหมดจนเลิกถ่าย พิจารณาดูแล้วว่ามันจะต้องเป็นการล่าเพื่อการค้าอย่างแน่นอน”
ในยุคนั้นห้วยขาแข้งเป็นเสมือนแดนมิคสัญญีของสัตว์ป่า เสียงปืนที่ดังขึ้นยามค่ำคืนเป็นเรื่องธรรมดา การล่าสัตว์ทำกันเป็นขบวนการ มีทีมไล่ล่าเข้าไปไล่ยิงสัตว์ป่าแล้วทิ้งซากเอาไว้ให้อีกทีมตามเข้ามาแล่เนื้อ เลาะหนัง และขนออกมาขาย
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในห้วงเวลาที่ถูกสลักไว้บนหลักไม้สีดำ – อนุสรณ์แด่ผู้พิทักษ์ป่า – ต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของคนทำงานพิทักษ์ป่า ก็หาได้มีเพียงแต่การถูกทำร้ายจากพราน อันตรายที่เกิดจากการเดินป่า หรือการสำรวจข้อมูลต่างๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ สืบ นาคะเสถียร และทำให้สืบเริ่มตระหนักถึงปัญหาความยากลำบากของพนักงานพิทักษ์ป่า เกิดขึ้นเมื่อตอนเขาทำงานวิจัยเรื่องกวางผาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในการเดินทางสำรวจครั้งนั้นได้เกิดอุบัติเหตุจากไฟป่าจนทำให้ คำนึง ณ สงขลา หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าดอยมูเซอ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยม่อนจอง ที่ร่วมเดินทางไปด้วยเสียชีวิต
สืบได้เขียนบันทึกถึง คำนึง ณ สงขลา ไว้ว่า “เราทั้งคู่มองหาคำนึง เมื่อไม่เห็นจึงตะโกนเรียก แต่ก็ไม่มีเสียงตอบ พวกที่เดินกลับไปก่อนย้อนมาดูพวกเรา และช่วยกันหาคำนึง ผมพบหมวกที่คำนึงเคยสวมอยู่ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่ยังคงรูปเป็นหมวกให้เห็น ก่อนที่จะถูกลมกรรโชกให้แตกสลายไป
…ประมาณบ่ายโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น ขณะที่ผมใช้กล้องส่องทางไกลส่องลงไปตามลาดผาตรงจุดที่คาดว่าเขาจะพลาดล้มและกลิ้งตกลงไป ผมได้พบร่างของคำนึงที่ไหม้เกรียมติดค้างอยู่ตรงลาดผาช่วงกลาง ซึ่งไม่มีทางลงไปหรือขึ้นมาจากข้างล่างได้
…คืนนั้น เราทำพิธีเคารพศพของคำนึงด้วยสิ่งของเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น ขอให้ดวงวิญญาณของเขาผู้ซึ่งอุทิศตัวเพื่องานที่เขารับผิดชอบ จงไปสู่สุคติด้วย…”
ปัจจุบัน แม้การล่าสัตว์ตัดไม้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตลอดจนผืนป่าอื่นๆ ทั่วประเทศ จะไม่ได้มีมากมายเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยคุกคามเหล่านี้ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ผู้ประสงค์ร้ายกับป่ายังคงมี ตลอดจนอุบัติที่เหตุที่เกิดจากการลาดตระเวนอื่นๆ เช่น ภัยจากฤดูน้ำป่าหลาก โรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดได้ในป่า หรือกระทั่งถูกสัตว์ป่าทำร้าย
สิ่งเหล่านี้ ผู้ที่เข้ามาทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าล้วนทราบกันดี แต่ก็เป็นเส้นทางที่เลือกแล้ว
แม้ว่าเส้นทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคขวางอยู่มากมายแค่ไหนก็ตาม
ด้วยความคารวะแก่ดวงวิญญาณ นายไพศาล จันพยับ นายอนันต์ รู้อยู่ นายนาม อำทอง นายเหรียญ นพคุณ ตลอดจนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกท่านที่ใช้ทั้งชีวิตในการปกปักษ์รักษาผืนป่าทั่วทั้งประเทศ
และอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร
อ้างอิง
- ธรรมชาติมาหานคร ตอน แสงเทียนที่ไม่เคยดับ
- หนังสือผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ของการอนุรักษ์สัตว์ป่า กรณีศึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- บนถนนงานอนุรักษ์, รตยา จันทรเทียร
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม