อาคารนิทรรศการมรดกโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

อาคารนิทรรศการมรดกโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

‘อาคารนิทรรศการมรดกโลก’ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ซึ่งหากใครมีเวลาไม่มากนักสำหรับเรียนรู้ความสำคัญของผืนป่า การเยี่ยมชม ‘อาคารนิทรรศการมรดกโลก’ ก็เหมือนการเดินทางเข้าสู่ห้องรับแขกและห้องเรียนที่สรุปเนื้อหา เรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และความหมายของการเป็นมรดกโลกของทั้งห้วยขาแข้งและผืนป่าทุ่งใหญ่นรศวรไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ทางเดินในอาคารเริ่มต้นที่ภาพถ่ายมรดกโลกจากทั่วโลก เป็นภาพเล็กๆ ประกอบกันบนผนังใหญ่ และมีมรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ประกอบอยู่ในนั้น อันเป็นสิ่งบ่งบอกว่าประเทศไทยเองก็มีส่วนในการดูแลรักษาธรรมชาติไว้อย่างดี ถูกตรวจสอบและรับรองในระดับสากล

ความสมบูรณ์หมายความว่าอย่างไร ดังข้อมูลที่บอกว่า ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยาแข้ง มีความโดดเด่นในกระบวนการทางนิเวศวิทยาและชีววิทยา ภายใต้กระบวนการวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศป่าบก ตลอดจนกระทั่งสังคมพืช สังคมสัตว์

เรื่องราวภายในยังประกอบด้วยเนื้อหาด้านธรณีวิทยา แสดงลักษณะของดินและหินที่แตกต่างกัน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความหลากหลายของสภาพป่า ชนิดพันธุ์พืช อาทิ เขาหินปูนซึ่งพบอยู่ทางด้านตะวันตกของป่าห้วยขาแข้ง ระบบนิเวศทางตอนใต้ของป่าห้วยขาแข้ง ที่ปกคลุมด้วยป่าไผ่ผืนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของช้าง กระทิง เก้ง กวาง ขณะที่เมื่อป่าเข้าสู่ฤดูแล้งก็ยังคงประโยชน์เป็นแหล่งอาหารให้แก่ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ป่า และกระรอกต่างๆ

ห้วยขาแข้งยังประกอบด้วยป่าสนขนาดเล็ก (5-10 ไร่) ขึ้นอยู่กลางป่าดิบเขาบนยอดเขาสูงชันกว่า 1,000 ม. จากระดับน้ำทะเลทางตะวันตกของป่าห้วยขาแข้ง ตลอดจนลักษณะทางนิเวศวิทยาอื่นๆ ที่เชื่อมร้อยกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ไปจนถึงแผนที่แสดงแหล่งน้ำลำธารสายสำคัญๆ ของภาคกลาง โดยเฉพาะลำห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของสัตว์นานาชนิด บางแห่งกลางลำห้วยมีเนินทรายใหญ่ เป็นถิ่นอาศัยสำคัญของนกยูง นาก พังพอน ส่วนทางตอนใต้ลำห้วยขาแข้งมีหนองบึงขนาดเล็ก เป็นแหล่งอาศัยเพียงแห่งเดียวของควายป่าฝูงสุดท้ายในเมืองไทย

รวมถึงสายธารชีวิตจากป่าสู่เมืองอื่นๆ อาทิ ลำน้ำแม่ละมุ้ง ลำน้ำองค์ทั่ง ลำน้ำห้วยทับเวลา

ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความหนาแน่นของต้นไม้ภายในผืนป่าห้วยขาแข้ง ทำให้สามารถเก็บกักและรองรับน้ำฝนจากลมมรสุมซึ่งนำพาฝนมาตกเฉลี่ยปีละ 1,200 – 1,600 มม. โดยผืนป่าจะค่อยๆ ปลดปล่อยน้ำสู่ลำธารสายต่างๆ ก่อเกิดเป็นลุ่มน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในป่าตลอดทั้งปี และยังไหลไปรวมกับลำน้ำสายอื่นๆ ให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์

และเมื่อเกริ่นถึงสัตว์ป่ามาเช่นนี้แล้ว แน่นอนว่าเนื้อหาที่ขาดเสียไม่ได้ คือ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า ที่บอกว่าผืนป่ามรดกโลกทั้งห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร สามารถรักษาพันธุกรรมสัตว์ป่าเอาไว้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red list) ที่ยังสามารถรักษาไว้ได้ถึง 28 ชนิดพันธุ์

ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่ง ที่มีรายงานการเพิ่มจำนวนทุกปี โดยในปีล่าสุดพบว่าประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 177 ตัว แน่นอนว่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตก และมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนี่ล่ะเป็นบ้านหลัก จนนำไปสู่การเพิ่มและกระจายตัวของเสือโคร่งไปยังผืนป่าอนุรักษ์ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน

ตลอดจนสัตว์อื่นๆ เช่น ช้างป่าสายพันธุ์เอเชีย เสือดำหรือเสือดาว สมเสร็จ กระทิง วัวแดง นกยูง หรือกระทั่งควายป่า ซึ่งเหลือเป็นฝูงสุดท้ายของประเทศไทย และปัจจุบันได้มีการทดลองติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ เพื่อนำร่องหาแนวทางการสำรวจนับประชากรควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยการใช้กล้องดักถ่ายอัตโนมัติ และจากข้อมูลที่ได้จากกล้องดักถ่าย คาดว่าจำนวนควายป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีอยู่ประมาณ 45 ตัว

เหตุที่ห้วยขาแข้งยังคงเป็นบ้านพักที่ปลอดภัยให้กับสัตว์ป่าหลายชนิด ก็เกิดขึ้นภายใต้ฐานข้อมูลการวิจัย ที่มีตัวอย่างเรื่องงานวิจัยเสือโคร่งและนกเงือกให้ศึกษา การจัดการพื้นที่อย่างการปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์ให้อุดมสมบูรณ์สม่ำเสมอ รวมถึงงานลาดตระเวนที่โดดเด่น ซึ่งทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ล้วนเป็นพื้นที่นำร่องในการนำอุปกรณ์และเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการลาดตระเวน จัดเก็บข้อมูล และวางแผนการจัดการงานอนุรักษ์ในพื้นที่

ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้มีการพัฒนาระบบลาดตระเวนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จากระบบลาดตระเวนภายใต้โครงการติดตามตรวจสอบการลักลอบฆ่าช้าง (Monitoring Illegal Killing of Elephants; MIKE) จนกระทั่งปี 2551 – 2556 ได้พัฒนาเทคนิคและระบบฐานข้อมูลลาดตระเวนภายใต้ระบบลาดตระเวนแผนใหม่ (spatial Management Information System; MIST) และในปี 2557 ถึงปัจจุบันได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลลาดตระเวนจากพื้นที่และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนลาดตระเวนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งระบบฐานข้อมูลใหม่นั้น คือ SMART (Spatial Monitoring And Reporting Tool)

และตามที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าอาคารนิทรรศการมรดกโลกนี้ยังเปรียบเสมือนห้องรับแขก ซึ่งหากใครเดินทางไปห้วยขาแข้งเป็นครั้งแรก ภายในอาคารได้มีจุดแนะนำสถานที่ต่างๆ ภายในเขตยังมีแผนผังแนะนำสถานที่ต่างๆ ภายในเขตรักษาพันธุ์ที่สามารถไปเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้ยังจุดต่างๆ ต่อไป อาทิ บ้านพักสืบ นาคะเสถียร อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติต่างๆ (การเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผู้สนใจต้องติดต่อทางพื้นที่ล่วงหน้าก่อน เพื่อที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้ คอยให้คำแนะนำ และเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น)

ที่เล่ามานี้ คือรายละเอียดไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเรื่องราวภายในอาคารนิทรรศการมรดกโลก หากอยากรู้เรื่องราวที่มากกว่านี้ ก็ต้องไม่พลาดเข้าเยี่ยมชมอาคารนิทรรศการมรดกโลกเมื่อโอกาส

อาคารนิทรรศการมรดกโลก

อาคารนิทรรศการมรดกโลก ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.สผ. นับเนื่องมาถึงตอนนี้เท่ากับว่า อาคารหลังนี้ได้เปิดทำการและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้สาธารณชนได้รู้จักผืนป่าห้วยขาแข้ง และความสำคัญในระดับโลกมาแล้วกว่า 10 ปี

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

ในปี พ.ศ. 2534 ที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง’ เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ นับเป็นสถานที่ทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นมรดกโลก โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติตรงตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 7, 9 และ 10 ตามแผนปฏิบัติการมรดกโลก ปี 2548 ดังนี้

(VII) to contain superlative natural phenomena or areas of exceptional natural beauty and aesthetic importance.

เกณฑ์ข้อที่ 7 ประกอบด้วยปรากฎการณ์ ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่หรือพื้นที่ซึ่งมีความงามเป็นที่ยอมรับ และมีความสำคัญด้านความสวยความงาม

(IX) to be outstanding examples representing significant on-going ecological and biological processes in the evolution and development of terrestrial, fresh water, coastal and marine ecosystems and communities of plants and animals.

เกณฑ์ข้อที่ 9 มีความโดดเด่นด้านการเป็นตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่สำคัญในการดำเนินไปของขบวนการทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาในการวิวัฒนาการและการพัฒนาของระบบนิเวศบนบก ในแหล่งน้ำจืด ชายฝั่งและท้องทะเล และสังคมพืชและสัตว์

(X) to contain the most important and significant natural habitats for in-situ conservation of biological diversity, including those containing threatened species of outstanding universal value from the point of view of science or conservation.

เกณฑ์ข้อที่ 10 บรรจุไว้ซึ่งถิ่นที่อาศัยทางธรรมชาติที่มีความสำคัญและนัยสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อาศัย รวมถึงที่บรรจุไว้ซึ่งชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามอย่างหนักที่มีคุณค่าโดนเด่นเป็นสากลในแนวคิดทางวิชาการหรือการอนุรักษ์


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม