‘สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายตัวพำนักพักอาศัย มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นสัตว์ป่าที่ได้เคยถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง จนวันหนึ่งเลี้ยงไม่ไหว (หรือไม่ชอบแล้ว) ก็นำมามอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดูแลแทน บ้างก็อาจเป็นสัตว์ป่าของกลางที่ได้การจากการจับกุมขบวนการค้าสัตว์ป่า ซึ่งต้องเลี้ยงดูจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด และแม้คดีจะตัดสินแล้วก็ใช่ว่าจะปล่อยคืนสู่ป่าได้ เพราะสัตว์บางตัวได้สูญเสียสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าไปแล้ว
ในอดีต ‘ละมั่ง’ ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์มากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ แม้แต่ในป่าอนุรักษ์อย่างห้วยขาแข้งก็มีรายงานการพบละมั่งในธรรมชาติเพียง 3 ตัว เมื่อปี พ.ศ. 2539
หากแต่ปัจจุบัน เมื่อเราเดินทางเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ก็สามารถพบละมั่งได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณพื้นที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า บริเวณบ้านพัก และอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร หรืออาจเห็นพวกเขาเดินข้ามลำห้วยทับเสลา
เหตุที่พบเห็นได้ง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานอย่างแข็งขังของ ‘สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ ที่ร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงานฟื้นฟูและเลี้ยงดูละมั่งจนสามารถปล่อยคืนสู่ผืนป่าได้สำเร็จ
จากการปล่อยละมั่งของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจากรุ่นสู่รุ่น วันนี้ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าละมั่งหลายตัวสามารถปรับตัวให้เข้ากับป่าได้ ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนเองได้ และสามารถออกไปทำหน้าที่ในระบบนิเวศ จนป่าห้วยขาแข้งยังคงความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นที่เป็นอยู่
และก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่นำเอาความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยง การดูแลสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ มาต่อยอด ขยายงานจนสามารถเสริมส่วนที่ขาดหายได้อย่างพอดิบพอดี
และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ที่จัดตั้งเพื่อการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่า การฟื้นฟูพันธุ์สัตว์ป่า และการจัดการสุขภาพสัตว์ป่า
ในกรณีของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง งานใหญ่ๆ ก็คือการเลี้ยงดูละมั่งดังที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้น รวมถึง ‘เนื้อทราย’ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัตว์ป่าสงวนในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2509 และถูกถอดชื่อออกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เนื่องจากสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในปริมาณที่มากจำนวนหนึ่ง และสามารถพบเห็นได้บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้เช่นเดียวกับละมั่ง
แต่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ก็ยังมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าอีกหลายด้านที่ทำควบคู่กันไป เพื่อเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์และการจัดการเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ และเพิ่มพูนขึ้นในปัจจุบัน
หากมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ก็จะพบว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองของสัตว์ป่าหลายชนิด
ที่ต้องบอกว่าเป็นบ้านหลังที่สอง เพราะว่าสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่ถูกทำให้พลัดพรากจากบ้านหลังแรก ซึ่งก็คือป่าธรรมชาติ ทั้งโดยเจตนาอย่างการล่า หรืออาจเกิดจากเหตุสุดวิสัยตามธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย จนทำให้สัตว์ป่าเหล่านั้นไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตไว้ในผืนป่าธรรมชาติได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือบางครั้งอาจกลับไปไม่ได้อีกตลอดกาล
ยกตัวอย่างเช่น เสือโคร่งในกรงเลี้ยงชื่อ ‘คลองค้อ’ เดิมทีเป็นลูกเสือที่เกิดขึ้นกลางป่าห้วยขาแข้ง (เกิดในปี 2559) แต่เพราะ ‘ความไม่เที่ยงของธรรมชาติ’ อดีตลูกเสือตัวนี้จึงระหกระเหินย้ายมาอยู่ยังบ้านหลังใหม่ที่ชื่อว่าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแทน
‘คลองค้อ’ ถูกพบโดยทีมนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในสภาพที่กำลังอิดโรยจากการขาดน้ำ ผอมโซ ผิวหนังน่วมเหี่ยว ตามร่างกายมีแผลถูกหนอนไช เมื่อเห็นสภาพเช่นนั้นนักวิจัยจึงตัดสินใจนำกลับมาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เหตุที่ลูกเสือมีสภาพเช่นนั้น ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สันนิษฐานว่าผืนป่าแถบที่คลองค้อถือกำเนิด อาจจะมีเสือโคร่งอื่นรุกล้ำอาณาเขต เมื่อเสือโคร่งตัวที่แข็งแรงกว่าเข้ามา เจ้าของเดิมที่อ่อนแอกว่าต้องหลบหนีจากไป กอปรคลองค้อเป็นลูกครอกแรกของแม่เสือโคร่งสาว จึงยังขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกที่เพิ่งเกิด
เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเก็บเสือโคร่งตัวน้อยมาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงฯ หากปล่อยไว้ก็มีแนวโน้มว่าคงไม่รอดแน่ๆ
คลองค้อจึงได้รับการดูแลจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และมีชีวิตรอดอยู่มาถึงปัจจุบัน แต่ก็น่าเสียดายว่า คลองค้อไม่มีโอกาสกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติได้อีกแล้ว เพราะถูกเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กจนสูญเสียสันชาตญาณการเอาชีวิตรอดแบบสัตว์ป่าไปจนสิ้น
และถึงแม้จะดูเป็นเรื่องผิดธรรมชาติไปสักหน่อย แต่การมีอยู่ของคลองค้อในสถานีเพาะเลี้ยงฯ ได้สร้างความอุ่นใจเล็กๆ ว่าอย่างเรามีเสือโคร่งอินโดจีนสายพันธุ์แท้ตัวหนึ่งเก็บไว้อย่างปลอดภัย และหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ขึ้นในอนาคตที่ทำให้จำเป็นต้องหาพ่อพันธุ์เสือโคร่งอินโดจีนสายพันธุ์แท้ๆ เพื่องานอนุรักษ์ ก็ยังมีคลองค้ออยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และถือเป็นอีกบทบาทสำคัญนอกเหนือการเก็บพันธุกรรมไว้ในผืนป่าธรรมชาติ
ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายตัวพำนักพักอาศัย มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นสัตว์ป่าที่ได้เคยถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง จนวันหนึ่งเลี้ยงไม่ไหว (หรือไม่ชอบแล้ว) ก็นำมามอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดูแลแทน บ้างก็อาจเป็นสัตว์ป่าของกลางที่ได้การจากการจับกุมขบวนการค้าสัตว์ป่า ซึ่งต้องเลี้ยงดูจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด และแม้คดีจะตัดสินแล้วก็ใช่ว่าจะปล่อยคืนสู่ป่าได้ เพราะสัตว์บางตัวได้สูญเสียสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าไปแล้ว หากปล่อยไปก็คงไม่รอด หรือสัตว์บางชนิดก็อาจไม่ใช่สายพันธุ์เฉพาะถิ่นที่พบในผืนป่าของไทย จึงไม่สมควรปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะจะเป็นการทำลายพันธุกรรมดั้งเดิมในธรรมชาติ ตรงนี้จึงเป็นงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่ต้องดูแลกันไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
และนอกจากเรื่องที่ว่ามา สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ยังมีภารกิจอื่นๆ อีก เช่น แก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ผ่านการคัดกรองหรือตรวจสุขภาพหรือกักกันโรคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และแสดงพันธุ์สัตว์ป่าต่อสาธารณชนทั่วไป ดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน องค์กรภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หรือเพื่อเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนงานศึกษาวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในด้านการจัดการเพาะเลี้ยง อาหาร และโภชนาการ พันธุ์ และระบบการสืบพันธุ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า
ข้อมูลทั่วไป สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ด้วยกรมป่าไม้(เดิม)เล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีคุณค่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดต่างๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกถิ่นกำเนิดสำหรับเพาะพันธุ์และปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ จึงได้จัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542
โดยมีพื้นที่ดำเนินการเริ่มแรก 300 ไร่ ภายหลังมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 จึงได้รับโอนมาสังกัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ต่อมาได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ให้ใช้พื้นที่ ป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย เพิ่มเติมเป็น 1,999 ไร่ ตามนัยหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส 1602.3/2941 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง ขออนุมัติโครงการศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ห้วยขาแข้ง
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในประเทศไทย
นอกจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งแล้ว ประเทศไทยยังมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอีก 22 แห่ง กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคประกอบด้วย
(1) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว (2) สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี (3) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางพระ จังหวัดชลบุรี (4) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี (5) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี (6) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จังหวัดราชบุรี (7) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี (8)สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จังหวัดพังงา
(9) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง จังหวัดสงขลา (10) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง จังหวัดพัทลุง (11) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ จังหวัดนราธิวาส (12) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ (13) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด (14) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (15) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จังหวัดศรีสะเกษ (16) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
(17) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง จังหวัดเชียงราย (18) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่ลาว จังหวัดเชียงราย (19) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่จัน จังหวัดเชียงราย (20) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (21) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยยางปาน จังหวัดเชียงใหม่ (22) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องอย่าง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) และและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากที่ทำหน้าที่ในการดูแลสัตว์ป่า
ปัจจุบัน ทั้ง 27 แห่ง ได้เปิดขอบริจาคเงินช่วยเหลือสัตว์ป่า ตาม ‘โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า’ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคุ้มครองทรัพยากรสัตว์ป่าของชาติให้คงอยู่
โดยเงินที่ได้รับจากการบริจาคจะนำมาเป็นค่าอาหาร ค่าปรับปรุงซ่อมแซมกรงเลี้ยงหรือปรับภูมิทัศน์กรงเลี้ยง ซึ่งการรับบริจาคดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.)
ผู้สนใจ สามารถบริจาคผ่านทางบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เลขที่บัญชี 980-216-5379 ชื่อบัญชีโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า E-mail : [email protected] หรือสอบถามเพิ่มเติมที่โทร 02-579-9630 ติดต่อกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
หมายเหตุ ‘โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า’ เปิดรับบริจาคถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
อ้างอิง
- ฐานข้อมูลสัตว์ป่าเมืองไทย ละอง ละมั่ง
- สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
- ขอเชิญชวน ร่วมโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่า ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม