‘บันได 8 ขั้น’ ที่ทอดยาวระหว่างบ้านพักของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไปสู่ตัวรูปปั้นสืบนาคะเสถียร คือ องค์ประกอบหนึ่งของอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร นอกเหนือจากบ้านพัก รูปปั้น อาคารอนุสรณ์สถาน และทางเดินกลีบกุหลาบ
บนบันไดที่ไม่ได้ก้าวตามขั้นต่อขั้น แต่เป็นขั้นยาวๆ นี้ ถูกออกแบบให้เป็นบันไดบนกลีบกุหลาบ ที่มีความหมายว่างานอนุรักษ์หลังการสละชีวิตของหัวหน้าเขตจะง่ายเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะ สืบ นาคะเสถียร ได้กรุยทางอันยากลำบากไว้ให้แล้ว
แต่กระนั้น แม้จะเป็นกลีบกุหลาบ แต่ก็ยังต้องระมัดระวังในการก้าวเดิน เพราะเป็นกุหลาบหินที่ขรุขระ หากพลาดพลั้งก็อาจสะดุดล้ม จึงต้องเดิน (ทำงานอนุรักษ์) อย่างระมัดระวัง
และจำนวนขั้นบันไดที่ออกแบบให้มี 8 ชั้น ก็หมายถึงระยะเวลา 8 เดือน ที่ สืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั่นเอง
แม้ระยะเวลา 8 เดือน จะเป็นเพียงห้วงสั้นๆ เมื่อเทียบกับการทำหน้าที่ของหน้าเขตคนอื่นๆ แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า สืบ นาคะเสถียร ได้ทำงานอย่างหนัก ทำหน้าที่อย่างสุดกำลัง และทำโดยพร้อมเอาชีวิตเข้าแลกอยู่ตลอด
ในช่วง 8 เดือน ที่ว่า สืบ นาคะเสถียร ทำอะไร และต้องเผชิญกับสิ่งใด นี่คือ 8 เรื่องราวสำคัญของการทำหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ทำให้เรายังคงระลึกถึงสืบ แม้เวลาจะผ่านมานาน 3 ทศวรรษ แล้วก็ตาม
บันได 8 ขั้น กับ 8 เรื่องราว
1
สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2532 แทนที่จะรับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
สำหรับคนส่วนใหญ่คงจะเลือกการไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สืบกลับตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักเหมือนดั่งปัจจุบัน และยังมากด้วยปัญหาการล่าสัตว์ตัดไม้ นั่นอาจเป็นเพราะ สืบไม่อยากทรยศต่อความรู้สึกตัวเอง ดังที่เขาเคยพูดอยู่เสมอว่า หากมีโอกาสไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว เขาขอเลือกสองแห่งคือ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง
2
สืบ นาคะเสถียร เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ด้วยความมุ่งมั่นและใจเต็มร้อยที่จะรักษาผืนป่าที่นี่ให้ดีที่สุด เพียงวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง สืบก็ออกจับไม้เถื่อน ไปดูพื้นที่ในป่าประดู่ที่ถูกโค่นกว่า 200 ต้นเพื่อแปรรูปในป่า สืบไม่พูดอะไร เดินก้าวยาวๆ ออกมาดูท่อนไม้ตามทางในป่าโดยไม่สนใจว่าใครจะตามมาทันหรือไม่ ไม่กลัวหลงป่า ไม่กลัวถูกลอบทำร้าย แล้วเดินย้อนมาคุยกับลูกน้อง ให้วิทยุรายงานการเฝ้าไม้เป็นระยะ พรุ่งนี้ให้เอาเสบียงมาเพิ่ม จัดคนสับเปลี่ยนตลอดเวลา
วันที่สองของการทำงานในป่าลึกแห่งนี้ มีประชาชนมาเที่ยวชมธรรมชาติและพักแรมในเขตสามชุด ทำให้บ้านพักเต็มทุกหลัง แล้วชุดที่สี่ก็มาอีกโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า สืบขับรถเอง พาคนกลุ่มนี้ขึ้นไปพักแรมที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ แล้วค้นสไลด์สัตว์ป่า เอากลับลงมาถึงเขตฯ ถามนักท่องเที่ยวว่าอยากดูธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่าในห้วยขาแข้งจากสไลด์หรือไม่ เมื่อมีคนสนใจ สืบฉายและบรรยายด้วยตัวเอง แลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนเหล่านี้ถึงเที่ยงคืน ไม่เคยท้อถอยต่องานอันหนักหนาทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ว่าออกลาดตระเวนกับลูกน้องในป่า ประชุม สัมมนา อภิปราย ถ่ายภาพ และพูดคุยกับทุกคน เพื่อการอนุรักษ์ป่าผืนนี้ด้วยหัวใจ
3
ในช่วงเวลานั้น ผืนป่าห้วยขาแข้ง ได้รับงบประมาณเพียงปีละ 2 ล้านบาท เมื่อคำนวนกับพื้นที่กว่าหนึ่งล้านหกแสนไร่ เท่ากับว่ามีงบประมาณดูแลป่าไร่ละแปดสิบสตางค์ต่อปี อีกทั้งเงินเดือนของลูกน้องยังมีช่วงตกเบิกของปีงบประมาณ ทำให้สืบต้องขอหยิบยืมทางบ้านเดือนละ 20,000 บ้าน เพื่อไปจ่ายให้กับลูกน้องก่อน รวมถึงในการออกไปทำกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชน เยาวชนรอบผืนป่าห้วยขาแข้ง สืบก็ใช้เงินของตัวเองในการอัดภาพ ทำนิทรรศการสื่อความหมายถึงความสำคัญของผืนป่าและสัตว์ป่า
สืบพยายามวิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อเป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างในห้วยขาแข้ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับการทำงานของคนเหล่านี้ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายแทบทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากทางการเลย แกมีความคิดที่จะจัดตั้งประกันชีวิตให้ลูกน้องรวมถึงพยายามที่จะหาเงินส่วนตัวมาให้ลูกน้อง
4
สืบพบว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกวันในเวลานั้น และกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นทั้งในและนอกเครื่องแบบ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่นได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการกระทำผิด และแม้ผู้กระทำความผิดแม้จะถูกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจับได้คาหนังคาเขา แต่ผู้ต้องหาก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีอิทธิพลจนคดีหลุดเกือบทุกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องสร้างความอึดอัดใจในการปฏิบัติงานแก่สืบเป็นอย่างมาก
สืบเคยพูดด้วยความแค้นใจว่า “ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย พวกมันจะล่าสัตว์ได้สิบครั้งกว่าจะโดนจับครั้งหนึ่ง ถูกปรับแค่ 500 บาท คุกก็ไม่ติด กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดหลับอดนอน แบกข้าวสารไปกินในป่า มันหนีเรา แต่เราต้องตามจับ อย่างเมษายนปีก่อน ลูกน้องของผมเดินลาดตระเวนในป่า เจอนายพรานถูกยิงตายสองคน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่ เราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”
5
ในช่วงหนึ่งสืบเริ่มตระหนักว่า ปัญหาในป่าห้วยขาแข้งดูจะยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนมากกว่าที่เขาประเมินไว้แต่แรก หนึ่งในเรื่องยากๆ ที่สืบต้องเผชิญคือปัญหาความยากจนของชุมชนที่อาศัยอยู่รอบป่า ขณะเดียวกันลูกน้องหลายคนก็เป็นลูกหลานและญาติกับผู้กระทำความผิด บางกรณีจึงเป็นเรื่องที่สืบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อทราบว่าคนงานของหลายคนที่เป็นชาวบ้านยากจนเคยมีรายชื่ออยู่ในผู้ต้องสงสัย สืบเรียกมาตักเตือน ภาคทัณฑ์ ทำด้วยความรัก เพราะรู้ปัญหาของคนเหล่านี้ดี
สืบพยายามขอความร่วมมือจากหน่วยราชการนอกป่าห้วยขาแข้ง ในการช่วยกันป้องกันการทำลายป่าและการล่าสัตว์ โดยเฉพาะบริเวณป่าสงวนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้ง
ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา เช่น เช่น ป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และข้าราชการท้องถิ่นที่จะมีอำนาจในการจัดการดังกล่าว
แต่พยายามอย่างหนักในการประสานให้หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้ความร่วมมือเพื่อรักษาผืนป่าห้วยขาแข้ง กลับมีเพียงความนิ่งเงียบในระบบราชการไทยเป็นคำตอบ ทุกครั้งผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้ได้แต่พูดว่า “เอาเลยสืบ คุณทำโครงการมา” แล้วทุกอย่างก็หายเงียบ
6
เดือนพฤษภาคม 2533 รัฐมนตรีคนหนึ่งได้ไปตรวจพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ชื่อดังแห่งหนึ่งว่ามีการลักลอบตัดไม้ในห้วยขาแข้ง สืบรู้ดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งเขา สืบถูกรัฐมนตรีผู้นั้นเรียกพบที่กรุงเทพฯ เขาเตรียมข้อมูลอย่างดีเพื่อชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัดโดยมีผู้ใหญ่จากอำเภอลานสักหนุนหลัง สืบพยายามที่จะอธิบายถึงปัญหาอันยุ่งยากที่เขาและลูกน้องต้องประสบ แต่เขาไม่มีโอกาสชี้แจง และยังโดนผู้มีอำนาจโยนแฟ้มใส่หน้า พร้อมคำบอกสั้นๆ ว่า “คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมอีก”
สืบโกรธมากและตอบกลับไปว่า “ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย”
7
เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้… ทุกเย็นหลังกินอาหารเสร็จ สืบจะเริ่มเขียนรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับคุณค่าความสำคัญของป่าห้วยขาแข้งรวมถึงทุ่งใหญ่นเรศวร พอถึงสี่ทุ่มในเขตฯ จะปิดเครื่องปั่นไฟเพื่อประหยัดน้ำมัน หลังจากไฟดับแล้วบ้านพี่สืบยังมีแสงสว่างจากเทียนที่ถูกจุดขึ้นเพื่อเขียนหนังสือจนดึกดื่นค่อนคืน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำรายงานให้เขตป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก (จนสัมฤทธิ์ผลในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 หรือกว่าหนึ่งปี หลังจากสละชีวิตของสืบ)
8
หนึ่งอาทิตย์ก่อนวัยที่ 31 สิงหาคม ลูกน้องของสืบคนหนึ่งที่เขานางรำออกไปลาดตระเวนตามคำสั่งถูกลอบยิงที่ลำห้วยขาแข้ง เหตุการณ์นั้นทำสืบโมโหจนหน้าแดงและพูดออกมาเสียงดังว่า “ทำไมมึงไม่มายิงกู แน่จริงมายิงกูดีกว่า ลูกน้องกูต้องไม่ตาย ถ้ากูยังเป็นหัวหน้าห้วยขาแข้งอยู่ ถ้าต้องมีคนตาย จะต้องเป็นกู”
และในวันที่ 29 สิงหาคม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจับคนล่าสัตว์ครั้งนั้น จำได้เลยว่าเนื้อส้มค่างเหมือนเป็นปลาร้าใส่ถุงปุ๋ยและถุงพลาสติกประมาณแปดสิบกิโล อีกส่วนหนึ่งคืออวัยวะเพศของค่างร้อยเป็นพวงและย่างรมควันอีกสองพวงเป็นข้อมือของข้างร้อยเป็นสองพวงใหญ่ๆ จำนวนมากเหมือนกัน สืบเห็นก็นิ่งอึ้งเลยน้ำตาไหลอาบสองข้างแล้วพูดกับคนล่าสัตว์ด้วยความโมโหสุดขีด “ว่าไปล่ามันทำไม”
…
ที่กล่าวมา เป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่ง ที่ สืบ นาคะเสถียร เผชิญระหว่างทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในความเป็นไปแต่ละวันคงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่านั้น ที่อธิบายถึงความยากลำบาก แรงกดดันที่ต้องเผชิญ กับปัญหาสารพันที่ต้องแก้ไข
แต่อุปสรรคปัญหาที่ สืบ นาคะเสถียร เผชิญ ในระยะเวลา 8 เดือน จนกลายเป็นความหมายของ ‘บันได 8 ขั้น’ คือบทเรียนสำคัญ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหานับจากวันที่เสียงปืนดังขึ้นในบ้านพักของหัวหน้าเขต
อันเป็นภาพฝันที่สืบไม่มีวันได้เห็น
ฝันที่ว่าป่าห้วยขาแข้งจะได้รับการปกป้องจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จนมีความอุดมสมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้
และมีผู้เข้ามาสานต่อปณิธานนั้น สืบต่อไป…
อ้างอิง
The Last Hero ชีวิตและความตายของลูกผู้ชายชื่อ สืบ นาคะเสถียร โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม