วันรำลึก สืบ นาคะเสถียร

วันรำลึก สืบ นาคะเสถียร

ปลายเดือนสิงหาคม ผืนป่าห้วยขาแข้งเย็นฉ่ำไปด้วยสายฝนร่วงกราวจากฟ้า ห้วยทับเสลามีน้ำไหลเชี่ยวจากป่าไปสู่เมือง

จากป่าดิบและเต็งรังสีแสดในฤดูร้อน เปลี่ยนฉากเป็นภาพสีเขียวสด ด้วยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุโซนร้อนในทะเลจีนใต้

ความชุ่มชื้นที่เติมเต็มในฤดูนี้ เมื่อบวกกับลักษณะภูมิประเทศและที่ตั้งซึ่งอยู่บนรอยต่อสำคัญทางชีวภูมิศาสตร์โลก ห้วยขาแข้งจึงมีความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด และเป็นศูนย์รวมของสภาพป่าไม้นานาพรรณ

แต่ในความหมายที่มากกว่าการมองผ่านดวงตา – ป่าห้วยขาแข้งยังเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของผู้รักและหวงแหนธรรมชาติ โดยมี สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นผู้จุดเปลวเทียน ส่องนำทางขึ้นท่ามกลางความมืดมน

และในทุกๆ ปี ของวันที่ สืบ นาคะเสถียร ได้จากไป ผู้คนจากทั่วสารทิศจึงหลั่งไหลมารวมตัวกัน ระลึกถึงคุณงามความดี และจุดกำเนิดรากฐานงานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้

เพื่อร่วมงาน ‘วันรำลึก สืบ นาคะเสถียร’ อย่างมิเคยขาดหาย

ในความหลังของเช้าวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2534 ญาติสนิทมิตรสหายของผู้ล่วงลับของ สืบ นาคะเสถียร ต่างพากันมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีทำบุญครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิต มีพิธีสงฆ์ตรงระเบียงบ้านพักของสืบ (ก่อนย้ายมาทำพิธีที่อาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร ในปี พ.ศ. 2536)

รวมถึงยังมีพิธีวางศิลาฤกษ์ฐานรูปปั้นสืบนาคะเสถียร มีท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัน เป็นประธาน

อาจารย์รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเป็นบุคคลที่เดินทางไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึง สืบ นาคะเสถียร เป็นประจำทุกปี เล่าให้ฟังว่า

เดิมทีงานทำบุญในเช้าวันที่ 1 กันยายน เป็นเรื่องที่รู้กันของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยากทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้มิตรผู้จากไป ไม่ได้ตั้งใจจะจัดงานให้ใหญ่โต แต่ก็มีสาธารณชนที่รู้จักเรื่องราวของคุณสืบเดินทางไปร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกๆ ปี มีผู้คนเดินทางมาแสดงความเคารพคุณสืบอย่างไม่ขาดหาย โดยเฉพาะในปีแรกๆ

อาจารย์รตยา ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ประเด็นหนึ่งว่า ในช่วงสองสามปีแรกที่คุณสืบจากไป ถนนหนทางยังไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน ถนนสายลานสักที่ตัดผ่านหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังเป็นเพียงเส้นทางดินลูกรัง ส่วนทางเข้าป่าห้วยขาแข้งเรื่อยมาจนถึงบ้านคุณสืบนั้นยิ่งเต็มไปด้วยความทุลักทุเล ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนความลำบากก็ยิ่งมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว แต่กระนั้นสาธารณชนก็ยังเดินทางมุ่งหน้ามาเคารพดวงวิญญาณของคุณสืบโดยไม่หวั่นต่อความยากลำบากเบื้องหน้า

มีบางคนที่เดินทางมาจากต่างถิ่น ก็จะวางแผนเดินทางมาถึงในวันที่ 31 สิงหาคม แล้วพักค้างแรมกลางป่าห้วยขาแข้งเสียก่อนหนึ่งคืน พอถึงรุ่งเช้าก็ตื่นมาทำบุญและเดินทางกลับไปทำงานตามปกติเมื่อเสร็จพิธี

ครั้นเมื่อปีที่รูปปั้นสืบนาคะเสถียร สร้างเสร็จก็มีกิจกรรมวางพวงมาลาที่หน้ารูปปั้นเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งกิจกรรม

หากใครเคยไปร่วมงานในวันที่ 1 กันยายน ก็อาจสังเกตได้ว่าพวงมาลาส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าขาวม้า

ซึ่งเมื่อเสร็จงานผ้าขาวม้าเหล่านี้จะมอบต่อไปยังผู้พิทักษ์ป่า เหมือนเป็นของฝากเล็กๆ น้อยๆ จากพี่สืบ ถึงผู้สืบสานอุดมการณ์พิทักษ์พงไพร

จากจุดเริ่มต้นเพียงเพื่อทำบุญระลึกถึงผู้ที่จากไป ต่อมามีกิจกรรมต่อยอดขึ้นมากมาย เสมือนการจัดงานวันสำคัญประจำปี กลายเป็นวาระสำคัญที่ขาดไปเสียมิได้ เพราะมีสาธารณชนจำนวนมากเฝ้ารอและถามไถ่ถึงเสมอๆ

อาจารย์รตยาเล่าว่า เมื่อทำกิจกรรมซ้ำเข้าหลายๆ ปี งานรำลึกคุณสืบจึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีรูปแบบกิจกรรมมากขึ้นเพื่อรองรับประชาชนที่อยากเข้ามารำลึกถึงคุณสืบ

บางปีมีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก นับรายชื่อที่จุดลงทะเบียนได้เป็นหลักพัน บางปีก็มีไม่มาก ขึ้นอยู่กับว่ามีกิจกรรมอะไร และวันครบรอบตรงกับวันอะไร

หากตรงกับช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็จะมีผู้เข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โดยกิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียร เริ่มกันตั้งแต่ในช่วงเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม มีกิจกรรมเดินศึกษาธรรมชาติบนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าห้วยขาแข้ง มีการจัดแสดงนิทรรศการชีวประวัติของ สืบ นาคะเสถียร การจัดแสดงนิทรรศการงานอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า

บางปีมีหน่วยงานเครือข่ายนักอนุรักษ์หลายแห่งมาร่วมจัดนิทรรศการเพิ่มความหลากหลายของเนื้อหา

บางปีมีศิลปินและช่างภาพมาร่วมแสดงผลงานภาพวาด ภาพถ่าย ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า สัตว์ป่า ให้ผู้มาร่วมงานได้เห็น

บางครั้งก็มีการจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ เล่าเรื่องผืนป่า สัตว์ป่า ในห้วยขาแข้ง ด้วยฐานข้อมูลงานวิจัย ที่แม้จะฟังดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่กลับพบว่าผู้ที่เดินทางมาร่วมงานต่างก็อยู่ฟังอย่างตั้งใจ

อาจอนุมานเอาได้ว่า สาธารณชนก็คงอยากทราบว่าผืนป่าที่ สืบ นาคะเสถียร ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องนี้ยังคงอยู่ดี และการตายของสืบยังไม่ได้เสียเปล่าหรือถูกลืมเลือนไป

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างของวันที่ 31 สิงหาคม คือเวทีในช่วงเย็นย่ำทอดยาวไปถึงนาทีที่จันทร์กระจ่างฟ้า

ผู้มาร่วมงานจะรวมตัวกันที่ลานหินโค้งรูปครึ่งวงกลมอันมีเพดานเป็นหมู่ดาวของอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร ฟังเสวนา ดนตรี เรื่องเล่า จากนักอนุรักษ์ ศิลปินหวใจสีเขียวที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเล่าเรื่องราวงานอนุรักษ์และสร้างสีสันให้กับงาน

เมื่อเสร็จจากกิจกรรมส่วนนี้ ผู้เข้าร่วมงานก็จะเดินต่อแถวกันบนถนนกลีบดอกกุหลาบไปจุดเทียนรอบรูปปั้นสืบนาคะเสถียร

อาจารย์รตยา เล่าว่า กิจกรรมนี้เป็นห้วงเวลาของความสงบที่ต่างคนต่างมีความในใจที่จะพูดคุยกับคุณสืบ และต่างสัญญาว่าจะสืบสานเจตนาของคุณสืบ ดั่งแสงเทียนที่ไม่เคยดับ…

ซึ่งการจัดกิจกรรมในช่วงค่ำของวันที่ 31 สิงหาคมนี้ เริ่มเป็นรูปธรรมและดำเนินการต่อเนื่องมานับตั้งแต่วาระครบรอบ 20 ปีที่สืบจากไป

ส่วนการจุดเทียนหน้ารูปปั้นนั้นมีมานานนับตั้งแต่รูปปั้นสร้างเสร็จ

ในบางปีก่อนการจุดเทียนหน้ารูปปั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะจัดแสดงแสงสีเสียงบอกเล่าประวัติ การทำงาน และงานอนุรักษ์ที่ถูกต่อยอดจนเกิดเป็นแม่แบบการดูแลรักษาผืนป่าที่ได้ขยายต่อไปในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันตก

น่าเสียดายว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563-2564) กิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียร ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งต้องงดเว้นไป เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

แต่กระนั้นก็หาได้หมายความว่าเรื่องราว ‘วันรำลึก สืบ นาคะเสถียร’ จะถูกลืมเลือนหรือหมดสิ้นความหมายไป

ในความทรงจำที่ยังคงอยู่ วันรำลึกสืบ นาคะเสถียร ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

แต่เป็นปณิธานที่สืบต่อ ถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ให้คงอยู่สืบต่อไป

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม