ศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน และยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่าศาสนาพุทธนั้นแทรกซึมอยู่ในชุดความคิดและวิถีชีวิตของคนไทยไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
เมื่อศาสนาพุทธกลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความคิดของคนในสังคม ชาวพุทธในไทยจึงดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการใช้แนวคิดทางศาสนาพุทธมาเป็นส่วนประกอบ อย่างการอนุรักษ์ธรรมชาติเองก็มีหลายกิจกรรมที่นำศาสนาพุทธเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดึงผู้คนให้หันมาตระหนักต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในกิจกรรมที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการผสานความเชื่อทางศาสนาพุทธกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือ พิธีบวชป่า อันเป็นกิจกรรมที่เชื่อมคน ศาสนา และป่าไม้เข้าไว้ด้วยกัน
พิธีบวชป่า กุศโลบายทางศาสนาเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ
พิธีบวชป่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อเป็นกุศโลบายให้ประชาชนรู้จักคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้ ผ่านการสร้างความเชื่อที่ว่าผืนป่านั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาอยู่ จะเข้ามาบุกรุกทำลายไม่ได้
ขั้นตอนของพิธีบวชป่าจะเริ่มต้นด้วยการให้ชุมชนในพื้นที่สำรวจและกันแนวเขตพื้นที่ป่าสำหรับทำพิธีให้ชัดเจนว่าจะมีพื้นที่ทำพิธีจำนวนกี่ไร่ แล้วจึงค่อยสร้างกฎเกณฑ์และกติการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงทำการประสานกับทางศาสนาพิธีสงฆ์ รวมถึงจัดหาเครื่องอัฐบริขารเพื่อใช้สำหรับการบวช สุดท้ายในพิธีพระสงฆ์ก็จะสวดมนต์ให้ชาวบ้านและต้นไม้ พร้อมกับนำจีวรมาห่มต้นไม้
การนำจีวรมาห่มต้นไม้ถือเป็นการยกระดับสถานภาพของต้นไม้ให้สูงขึ้น เปรียบได้กับการบวชพระ เมื่อต้นไม้ในพื้นที่ถูกทำพิธีจนครบ พื้นที่ป่าในบริเวณดังกล่าวก็จะกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้คนไม่กล้าที่จะเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการปล่อยให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตกลายเป็นป่าต่อไป
บวชป่า ผสานคนและป่าไม้
ไม่เพียงแต่เหตุผลด้านการอนุรักษ์ที่ทำให้เกิดพิธีบวชป่าขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ต้นไม้ถูกผูกโยงกับพุทธศาสนามาโดยตลอด ย้อนเวลากลับไปในสมัยพุทธกาลเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน หรือแม้แต่การแสดงธรรมในหลายครั้งของพระพุทธเจ้าเองก็ล้วนเกิดขึ้นใต้ต้นไม้ กิจกรรมทางศาสนาพุทธล้วนมีความสัมพันธ์กับป่าและต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ นั่นจึงทำให้ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของศาสนาพุทธเลยก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนจึงให้ความสำคัญกับต้นไม้ในฐานะตัวแทนของศาสนา
พิธีบวชป่ายังเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ผ่านกระบวนการก่อนที่จะทำพิธีบวชป่า ที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันในชุมชน อย่าง การกำหนดกฎเกณฑ์และกติกาในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการจัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนชั้นดีของการกระชับความสัมพันธ์ของคนกับคนเข้าด้วยกัน ต่อเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ได้นำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างคนและป่าไม้ ที่มีภาพสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยและการอยู่ร่วมกันของคนและป่าไม้ เพราะฉะนั้นแล้ว มากกว่าแค่พิธีกรรมทางศาสนา พิธีบวชป่าจึงทำหน้าที่เป็นตัวผสานคนกับป่าไม้เข้าหากันด้วยนั่นเอง
เหนือสิ่งอื่นใดพิธีบวชป่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการตระหนักและปลูกจิตสำนึกต่อเรื่องการอนุรักษ์ให้แก่คนในชุมชนด้วย เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในแง่ของการส่งเสริมการอนุรักษ์นั้น พิธีบวชป่าถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก อาจเป็นเพราะป่าเองก็มีความสำคัญต่อชุมชนไม่น้อย ทั้งเป็นแหล่งอาหาร พื้นที่ทำกิน ฯลฯ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีคน… ป่าอยู่ได้ แต่ไม่มีป่า… คนอยู่ไม่ได้”
อ้างอิง
- The Buddhist monks blessing trees to prevent deforestation
- Ecology monks in Thailand seek to end environmental suffering
- ประเพณีมนต์ขลัง บวชป่า ต่อยอดป่าไม้ไทย
- บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ: การจัดการป่าและน้ำเชิงวัฒนธรรม
- ภาพประกอบ ธิดารัตน์ กาญจนโพชน์
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ